รีเซต

ปล่อยกู้เอสเอ็มอีท่องเที่ยวรายละ 5 ล้าน ไม่ต้องผ่อนต้นนาน 2 ปี ถึง 31 มี.ค.นี้

ปล่อยกู้เอสเอ็มอีท่องเที่ยวรายละ 5 ล้าน ไม่ต้องผ่อนต้นนาน 2 ปี ถึง 31 มี.ค.นี้
มติชน
2 มีนาคม 2565 ( 08:48 )
34
ปล่อยกู้เอสเอ็มอีท่องเที่ยวรายละ 5 ล้าน ไม่ต้องผ่อนต้นนาน 2 ปี ถึง 31 มี.ค.นี้

SME D Bank หนุนเอสเอ็มอีท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่ง พร้อมกลับมาเดินหน้าธุรกิจได้เต็มศักยภาพ รับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีทิศทางฟื้นตัว ผ่านมาตรการด้าน “การเงิน” เปิดตัว “สินเชื่อ SMEs Re-Start” วงเงินรวม 2,000 ลบ. กู้สูงสุด 5 ลบ.ต่อราย ผ่อนนาน 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดถึง 24 เดือน ช่วยเสริมสภาพคล่อง ควบคู่มาตรการด้าน “การพัฒนา” มอบ “3 เติม” ช่วยยกระดับเติบโตยั่งยืน

 

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า ในปี 2565 ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ภาคการท่องเที่ยวในประเทศมีแนวโน้มเริ่มกลับมาฟื้นตัว โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 5.5 ล้านคน และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 4.7 แสนล้านบาท ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดการณ์ ปีนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศจะมีรายได้ จากตลาดนักท่องเที่ยวในและต่างประเทศ รวมกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ดังนั้น SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย จึงออกมาตรการสนับสนุนทั้งด้าน “การเงิน” และ “การพัฒนา” ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่อง (Supply Chain) รับโอกาสจากสถานการณ์ท่องเที่ยวที่คาดจะฟื้นตัวได้เต็มศักยภาพ และกลับมาเดินหน้าธุรกิจได้ดีอีกครั้งในเร็ววัน

 

สำหรับมาตรการด้าน “การเงิน” เปิดตัวสินเชื่อใหม่ โครงการ “สินเชื่อ SMEs Re-Start” วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่อง (Supply Chain) เช่น โรงแรม ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว ร้านขายของที่ระลึก ฯลฯ รวมถึง เอสเอ็มอีทุกประเภทที่เป็นคู่ค้ากับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน นำไปเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ หรือสำรองเป็นค่าใช้จ่าย คุณสมบัติเปิดกว้าง กู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.5% ต่อปี หรือ MLR -1.25% สำหรับวงเงินกู้ ได้แก่ กลุ่มบุคคลธรรมดา สูงสุด 1 ล้านบาท และกลุ่มบุคคลธรรมดาจด VAT หรือนิติบุคคล สูงสุด 5 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 10 ปี พร้อมปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) สูงสุดไม่เกิน 24 เดือน โดยเปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 หรือจนกว่าจะหมดวงเงินโครงการ แล้วแต่อย่างหนึ่งอย่างใดจะถึงก่อน

ส่วนมาตรการด้าน “การพัฒนา” ช่วยเพิ่มศักยภาพ ยกระดับเอสเอ็มอีธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง สามารถปรับตัวสู่การท่องเที่ยววิถีใหม่ ช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการ “3 เติม” ได้แก่ “เติมความรู้” โดยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดสัมมนาทิศทางและแนวโน้มการท่องเที่ยวหลังโควิด-19, สร้างมาตรฐานด้านการท่องเที่ยว รวมถึง การขออนุญาตด้านโรงแรมและที่พัก เป็นต้น เพื่อให้ข้อมูลความรู้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่อง

 

“เติมช่องทางการตลาด” ผ่านกิจกรรมร่วมกับ “มิส ทัวริซึม เวิลด์ ไทยแลนด์ 2021” มอบหมาย “77 ทูตการท่องเที่ยวและทูตการกีฬา” ประจำแต่ละจังหวัด ทำหน้าที่ตัวแทนช่วยโปรโมทสินค้าหรือบริการให้เอสเอ็มอีไทยทั่วประเทศ ผ่านช่องทางออนไลน์ บนแฟนเพจเฟซบุ๊กที่มียอดผู้ติดตามรวมกว่า 1.5 ล้านราย และ “เติมเทคโนโลยี” ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และ Digital Provider สนับสนุนลูกค้าธนาคารกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ผ่านทุนคูปองดิจิทัล (Voucher) เพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ช่วยบริหารจัดธุรกิจด้วยเครื่องมือ Digital Platform และซอฟต์แวร์เทคโนโลยี ด้านการท่องเที่ยวและการบริการต่าง ๆ

 

“จากแนวโน้มการกลับมาฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวในปีนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่องจะเดินหน้าธุรกิจอีกครั้ง โดย SME D Bank พร้อมสนับสนุนด้านการเงินควบคู่การพัฒนา รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะด้านการเงิน จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ประมาณ 1,000 ราย รักษาการจ้างงาน 5,000 ราย และก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 9,160 ล้านบาท ขณะที่ด้านการพัฒนา จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพสูงขึ้น สามารถปรับตัว เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน” นางสาวนารถนารี กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง