รีเซต

มหากาพย์การผจญภัยจากใต้สู่เหนือของช้างพเนจรในจีน

มหากาพย์การผจญภัยจากใต้สู่เหนือของช้างพเนจรในจีน
ข่าวสด
18 สิงหาคม 2564 ( 21:27 )
63
มหากาพย์การผจญภัยจากใต้สู่เหนือของช้างพเนจรในจีน

 

ในช่วง 17 เดือนที่ผ่านมา โขลงช้างพเนจรในจีนได้ออกผจญภัยครั้งใหญ่

 

 

หลังจากที่เดินทางไกลหลายร้อยกิโลเมตรจากเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ ถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมัน เจ้าหน้าที่ทางการจีนประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ช้างเหล่านี้กำลังเดินทางกลับบ้านแล้ว

 

 

ในระหว่างการเดินทาง พวกมันได้บุกเข้าไปในบ้านของชาวบ้าน นอกจากนี้ช้างตัวเมียยังตกลูกระหว่างทางด้วย อาจจะเรียกได้ว่าเป็นมหากาพย์การเดินทางของช้างโขลงนี้

 

 

นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางไปและกลับของช้างเหล่านี้

 

 

ออกจากบ้าน

ช้างโขลงนี้อาศัยอยู่ที่บริเวณใต้สุดของมณฑลยูนนานของจีน เขตอนุรักษ์ธรรมชาติสิบสองปันนาอันกว้างใหญ่ตั้งอยู่ติดกับพรมแดนที่ติดกับเมียนมาและลาว

ป่าเขตร้อนเขียวขจีแห่งนี้มีพื้นที่ราว 1.5 ล้านไร่ หรือประมาณหนึ่งเท่าครึ่งของกรุงลอนดอน ป่าแห่งนี้เป็นถิ่นอาศัยหลักของช้างเอเชียที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในมณฑลยูนนาน

ในช่วงเดือน มี.ค. 2020 โขลงช้าง 14 ตัว ได้ออกเดินทางจากสวรรค์ของสัตว์ป่าแห่งนี้ มุ่งหน้าขึ้นเหนือ

 

G

ตอนแรกไม่มีใครรู้สึกประหลาดใจเพาระเป็นที่ทราบกันดีว่าช้างป่ามักจะเร่ร่อนไปทั่วในภูมิภาคนี้ อย่างในเมืองผูเออร์ ถึงกับมีการจัด "งานเลี้ยงช้าง" เพื่อต้อนรับช้างที่เดินทางมาถึงเมือง

 

 

ช้างส่วนใหญ่ไม่ได้เร่ร่อนไปไกลนัก และปกติก็จะเดินทางกลับบ้านหลังเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไปหลายเดือนหลังจากช้างโขลงนี้ออกเดินทาง เจ้าหน้าที่ทางการก็เริ่มรู้ว่า นี่ไม่ใช่การเดินทางปกติทั่วไป

 

 

พวกมันกลายเป็นข่าวใหญ่ในปีนี้ มีรายงานว่าช้างได้บุกเข้าทำลายบ้านเรือนประชาชน กินน้ำและธัญพืชที่พวกเขาปลูกไว้

ภาพจากกล้องวงจรปิดที่เผยให้เห็นฝูงช้างเร่ร่อนไปตามท้องถนนในเมืองต่าง ๆ กลายเป็นไวรัลเช่นกัน

 

แม้กระทั่งถึงตอนนี้ ผู้เชี่ยวชาญก็ยังงุนงงกับพฤติกรรมของพวกมัน

 

 

แต่ในเอกสารที่จะมีการเผยแพร่ในวารสารคอนเซิร์ฟเวชัน เลตเตอร์ส (Conservation Letters) เร็ว ๆ นี้ คณะผู้เชี่ยวชาญในจีนนำโดยศาสตราจารย์อาฮิมซา คัมโพส-อาร์เซซ เสนอทฤษฎีว่า ช้างเหล่านี้ออกเดินทางหาอาหารมากขึ้นด้วยเหตุผลหลายอย่าง

 

 

เหตุผลหนึ่งคือประชากรช้างที่เพิ่มมากขึ้น และมีการแข่งกันหาอาหาร ความพยายามในการอนุรักษ์ช้างของทางการจีนทำให้มณฑลยูนนานมีประชากรช้างเพิ่มเป็นเกือบสองเท่าตัวในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 300 ตัว

 

 

"ตอนนี้ เราจำเป็นต้องรับมือกับผลที่ตามมาของความสำเร็จนี้ ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะมีพื้นที่น้อยลงที่ช้างจะสามารถเคลื่อนย้ายหาอาหารได้โดยไม่ต้องพบเจอผู้คน ผ่านพื้นที่เกษตร หรือโครงสร้างพื้นฐาน" ศาสตราจารย์คัมโพส-อาร์เซซ ประธานเจ้าหน้าที่สอบสวนที่สวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนา กล่าวกับบีบีซี

 

 

ความแห้งแล้งรุนแรง ซึ่งกินเวลานานหนึ่งปีจนถึงช่วงที่ช้างออกเดินทาง ทำให้อาหารหายากมากขึ้น

 

 

หลายคนชี้ว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การตัดไม้ทำลายป่าและพื้นที่การเกษตรที่รุกล้ำเข้ามา ทำให้ที่อยู่อาศัยของช้างในจีนที่อยู่นอกพื้นที่คุ้มครองลดน้อยลง

 

 

ศาสตราจารย์คัมโพส-อาร์เซซกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทางการได้พยายามที่จะเพิ่มการคุ้มครองป่าไม้ แต่การทำเช่นนี้ก็ส่งผลให้อาหารสำหรับช้างภายในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติลดน้อยลงด้วย เพราะป่าที่ปกคลุมหนาทึบมากขึ้นจะปิดกั้นแสงแดด ส่งผลต่อการเติบโตของพืชที่กินเป็นอาหารได้

 

 

งานช้าง

ขณะที่ฝูงช้างมุ่งหน้าขึ้นเหนือผ่านเขาและป่าไม้หลายแห่งของมณฑลยูนนาน เจ้าหน้าที่ทางการจีนก็เริ่มเข้ามาจัดการ

มีการตั้งคณะทำงานฉุกเฉินขึ้น เพื่อควบคุมสั่งการเจ้าหน้าที่หลายพันคนในการนำช้างให้เดินทางออกห่างจากหมู่บ้านและเมืองต่าง ๆ

 

เป็นที่ทราบกันว่าช้างกินจุ และจนถึงปัจจุบัน พวกมันก็กินข้าวโพด กล้วย สับปะรด และอาหารอื่น ๆ ที่ถูกจัดหาให้รวมแล้ว 180 ตัน แม้แต่กระจกด้านข้างรถคันหนึ่งก็ถูกช้างตัวหนึ่งทำพังขณะเข้าไปสำรวจรถด้วยความสงสัย

ฝูงโดรนหลายลำที่ติดตามการเดินทางของช้าง ได้จับภาพที่น่าประทับใจไว้ได้หลายภาพ อย่าง การแช่โคลน...

...การสู้กันระหว่างช้างน้อย 2 ตัว...

...ลูกช้างลื่นตกท้องร่อง

 

 

ในเดือน เม.ย. ช้าง 2 ตัว ได้ออกจากฝูงและตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน ส่วนช้างอีกตัวหนึ่งได้ออกเร่ร่อนไปตัวเดียวในช่วงเดือน มิ.ย. ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการได้ใช้ยาทำให้มันสงบและเคลื่อนย้ายมันกลับไปยังที่อยู่อาศัยเดิม เพราะพวกเขากังวลว่า มันอาจจะเอาตัวไม่รอดจากการเร่ร่อนเพียงลำพัง ช้างทั้ง 3 ตัวนี้เป็นเพศผู้ ซึ่งปกติจะเดินทางเพียงลำพัง

 

 

แต่ช้างโขลงนี้ก็มีสมาชิกใหม่เพิ่มเข้ามา ศาสตราจารย์คัมโพส-อาร์เซซระบุว่า ช้างอย่างน้อย 2 ตัว ได้ให้กำเนิดลูกช้าง

 

 

ประชาชนในจีนติดตามข่าวนี้มาโดยตลอด ช้างเอเชียในยูนนานกลายเป็นชื่อที่ทุกบ้านคุ้นหูเพราะมีการรายงานข่าวการเดินทางของพวกมันไปทั่วประเทศ ชาวบ้านที่อยู่ในเส้นทางต่างหวังว่าจะได้เห็นช้างเหล่านี้

 

ทุกช่วงของการเดินทางได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิด ไม่เพียงแต่การใช้โดรนเท่านั้น แต่ยังมีนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาถึงเส้นทางเดินและมูลช้างด้วย และยังมีบรรดาคนที่เผยแพร่ภาพตัวเองขณะกินสับปะรดที่ช้างเหล่านี้กินเหลือด้วย

 

 

ระหว่างทางยังมีข่าวลือเกี่ยวกับช้างโขลงนี้ด้วยว่า พวกมัน "เมา" หลังจากกินเหล้าข้าวโพดหลายตัน แต่ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาหักล้างข่าวลือนี้อย่างรวดเร็ว

 

 

มุ่งหน้ากลับบ้าน

ช่วงต้นเดือน มิ.ย. โขลงช้างได้เดินทางไปถึงนครคุนหมิง เมืองหลวงของมณฑลยูนนาน ซึ่งอยู่ห่างจากถิ่นที่อยู่ของพวกมันกว่า 500 กิโลเมตร และเป็นระยะทางที่ไกลที่สุดที่โขลงช้างป่าใด ๆ ในมณฑลยูนนานเคยเดินทางไปถึง

หลายคนเริ่มกังวลถึงการอยู่รอดของพวกมัน เพราะพวกมันเดินทางมุ่งหน้าไปยังถิ่นที่มีอากาศเย็นลง และมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์เป็นเวลานาน

 

 

 

บรรดาผู้เชี่ยวชาญบอกกับบีบีซีว่า สิ่งที่หลายคนเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่น่ารักอย่างการเดินเกาะกลุ่มกันในเมือง และการล้มตัวลงนอนพัก จริง ๆ แล้วเป็นสัญญาณของความเครียดและการอ่อนล้า

 

 

เจ้าหน้าที่ทางการเริ่มรู้สึกโล่งใจ เมื่อช้างโขลงนี้เริ่มเปลี่ยนทิศทางมุ่งหน้าลงทางใต้ในช่วง 2-3 สัปดาห์ต่อมา และไม่นานพวกมันก็เข้าใกล้แม่น้ำหยวนเจียง

 

 

เจ้าหน้าที่ทางการกล่าวว่า ภายในรัศมีไม่ไกลจากโขลงช้าง มีสะพานเพียงแห่งเดียวที่เหมาะจะให้ช้างเดินข้ามได้

 

 

คณะทำงานได้ส่งทหารและเจ้าหน้าที่หลายพันคนไปวางอาหารล่อ ติดตั้งแนวรั้วไฟฟ้า สร้างเส้นทางเทียม และแม้แต่การพรมน้ำลงบนทางเพื่อมั่นใจว่า พื้นจะเย็นพอสำหรับให้ช้างเดินย่ำไป

 

 

รายงานหลายแห่งระบุว่า ช้างเหล่านี้ไม่เต็มใจที่จะเดินตามทางนั้น แทนที่จะเดินไปตามทางตรง ๆ ระยะทาง 30 กิโลเมตร พวกมันก็เร่ร่อนออกนอกเส้นทาง ระยะทางจึงเพิ่มเป็น 143 กิโลเมตร

สุดท้าย ในวันที่ 8 ส.ค. ช้างโขลงนี้ก็ได้เดินข้ามสะพานข้ามแม่น้ำหยวนเจียง แม้ว่ายังอยู่ห่างจากเขตอนุรักษ์ธรรมชาติสิบสองปันนาอีก 200 กิโลเมตร สื่อท้องถิ่นก็ได้เริ่มรายงานแล้วว่า นี่คือการเดินทางช่วงสุดท้ายของพวกมัน

 

 

ไม่มีใครรับประกันได้ว่า พวกมันจะเดินทางกลับบ้าน หรือหากกลับไปแล้วจะอยู่ที่นั่นนานแค่ไหน เสิ่น ชิ่งจ้ง วิศวกรอาวุโสที่ทำงานกับเขตอนุรักษ์ธรรมชาติสิบสองปันนา กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "เกือบจะแน่นอนว่า ท้ายที่สุดแล้วช้างโขลงนี้จะเริ่มออกเดินทางขึ้นเหนืออีกครั้ง"

 

 

หลังจากใช้เงินไปหลายล้านหยวนในการนำทางช้างกลับบ้าน เจ้าหน้าที่ทางการรับปากว่าจะติดตั้ง "ระบบการจัดการการคุ้มครองที่เป็นหน่วยเดียวกัน" และเพิ่มการคุ้มครองและฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยของช้าง โดยได้มีการเร่งแผนการในการสร้างอุทยานแห่งชาติเพื่อช้างเอเชียแล้ว

 

 

แต่ถึงแม้การเดินทางกลับบ้านของพวกมันจะล่าช้าออกไป ช้างเหล่านี้ก็ทำในสิ่งที่น่าเหลือเชื่อได้สำเร็จแล้ว การออกเดินทางไกลของพวกมันได้ทำให้คนทั่วโลกตระหนักถึงชะตากรรมของช้างที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง