ดาวโจนส์ ร่วงแรง 633.87 จุด ผิดหวังประชุมเฟด
วันนี้ (28 ม.ค. 64) ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 600 จุดเมื่อคืนนี้ (27 ม.ค.) ทำสถิติดิ่งลงในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 3 เดือน เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้ประกาศมาตรการใหม่ๆในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้เฟดมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นโบอิ้ง ซึ่งเป็น 1 ใน 30 หลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนีดาวโจนส์
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,303.17 จุด ร่วงลง 633.87 จุด หรือ -2.05% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 3,750.77 จุด ลดลง 98.85 จุด หรือ -2.57% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,270.60 จุด ร่วงลง 355.47 จุด หรือ -2.61%
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ พร้อมระบุว่าจะยังคงซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงินรวม 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน โดยเฟดจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 8 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน
นักลงทุนผิดหวังที่เฟดไม่ได้ประกาศมาตรการใหม่ๆในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงวงเงินในโครงการเข้าซื้อพันธบัตร แม้ว่าเฟดได้แสดงความกังวลว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วสหรัฐและทั่วโลก อีกทั้งทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงานชะลอตัวลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฟดยังระบุด้วยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และพัฒนาการของวัคซีนต้านโควิด-19
หุ้นทั้ง 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบทั้งหมด โดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและการสื่อสารดิ่งลงหนักสุดถึง 3.82% โดยหุ้นเน็ตฟลิกซ์ ร่วงลง 6.88% หุ้นอัลฟาเบท ดิ่งลง 4.67% หุ้นเฟซบุ๊ก ร่วงลง 3.51% หุ้นทวิตเตอร์ ร่วงลง 2.98% หุ้นแอมะซอนดอทคอม ร่วงลง 2.81%
หุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มพลังงานร่วงลงอย่างหนักเช่นกัน โดยหุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ร่วงลง 3.59% หุ้นโกลด์แมน แซคส์ ร่วงลง 2.99% หุ้นเจพีมอร์แกน ดิ่งลง 2.83% หุ้นเอ็กซอน โมบิล ลบ 1.13% หุ้นเชฟรอน ลดลง 1.3% หุ้นโคโนโคฟิลลิปส์ ดิ่งลง 2.47%
หุ้นโบอิ้ง ร่วงลง 3.97% ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดตลาดหุ้นนิวยอร์กดิ่งลงเมื่อคืนนี้ หลังจากบริษัทเปิดเผยตัวเลขขาดทุนติดต่อกัน 5 ไตรมาส จากผลกระทบของการชะลอการผลิตเครื่องบิน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการที่เครื่องบินรุ่น 737 MAX ถูกสั่งห้ามบิน หลังจากที่เครื่องบิน 2 ลำของรุ่นดังกล่าวได้ประสบอุบัติเหตุในปี 2561 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 346 คน
ทั้งนี้ โบอิ้งเปิดเผยตัวเลขขาดทุน 15.25 ดอลลาร์/หุ้นในไตรมาส 4/2563 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.80 ดอลลาร์/หุ้น ขณะเดียวกัน บริษัทเปิดเผยตัวเลขขาดทุนสุทธิ 1.19 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2563 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
หุ้นไมโครซอฟท์ บวก 0.25% หลังบริษัทเปิดเผยผลประกอบการในไตรมาส 2/2564 ตามปีงบการเงินของบริษัทโดยระบุว่า กำไรต่อหุ้นในไตรมาสดังกล่าวอยู่ที่ 2.03 ดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 1.64 ดอลลาร์ โดยผลประกอบการของไมโครซอฟท์ได้รับปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของ Azure ซึ่งเป็นธุรกิจให้บริการด้านคลาวด์ คอมพิวติ้ง
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนธ.ค. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันในเดือนธ.ค.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2563 (ประมาณการเบื้องต้น), ยอดขายบ้านใหม่เดือนธ.ค.,ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนธ.ค., ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนธ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline