รีเซต

ธปท.เตรียมทดสอบใช้เงินดิจิทัล เพิ่มทางเลือกการชำระเงิน

ธปท.เตรียมทดสอบใช้เงินดิจิทัล เพิ่มทางเลือกการชำระเงิน
TNN Wealth
30 กันยายน 2564 ( 17:34 )
129

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ศึกษาและเตรียมการใช้เงินสกุลดิจิทัล (Central Bank Digital Currency หรือ CBDC) ซึ่งจะออกโดย ธปท. คาดว่าจะเริ่มทดสอบในไตรมาส 2 ปี 2565 เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับประชาชนในการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ นอกเหนือไปจากการใช้ธนบัตร และเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

 

นายกษิดิศ ตันสงวน รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่า ประโยชน์ของ “เงินดิจิทัล” ที่จะต่างจาก “เงินอิเล็กทรอนิกส์” ที่ใช้ในปัจจุบันคือ ไม่มีความเสี่ยง, ลดต้นทุนการชำระเงิน เพราะเป็นแบบไม่มีตัวกลาง, ง่ายและสะดวกต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน และเป็นประโยชน์ในการเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้บริการทางการเงิน

 

 

สำหรับสกุลเงินดิจิทัล จะมีรูปแบบที่สำคัญ คือ

1) รูปแบบคล้ายเงินสด และไม่จ่ายดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้กระทบกับการทำหน้าที่ของตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน และกระทบต่อเสถียรภาพการเงิน

 

2) การกระจาย CBDC โดยผ่านตัวกลาง เพื่อคงบทบาทของตัวกลาง ในการเปิด CBDC Wallet และการทำ KYC เป็นต้น

 

3) เปิดการเชื่อมต่อ CBDC ให้บริการที่หลากหลาย เพื่อสร้าง ecosystem ใหม่ โดยมีผู้เล่นที่หลากหลายและเกิดการสร้างบริการต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น

 

4) รูปแบบการใช้งานที่ครอบคลุม เช่น ใช้ได้ทั้งระบบ online, offline, ผ่านโทรศัพท์มือถือ และการใช้การ์ด เป็นต้น

 

5) การบริหารความเป็นส่วนตัว เพื่อให้การใช้งานที่เป็นส่วนตัว โดยจะขึ้นกับระดับการใช้งานของ CBDC

 

6) การพัฒนาที่เปิดกว้างต่อนวัตกรรม เพื่อให้ CBDC สามารถพัฒนารูปแบบการสร้างเงื่อนไข สัญญา และการเชื่อมต่อกับดิจิทัลด้านอื่นๆ

 

ก่อนหน้านี้ทางแบงก์ชาติได้เคยนำเสนอประโยชน์ของ CBDC ในภาพรวมของประเทศว่า จะเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงิน เพื่อต่อยอดพัฒนานวัตกรรมอย่างทั่วถึง, เป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพกว่าการใช้เงินสด ลดต้นทุนการใช้เงินสดต่อระบบเศรษฐกิจ ช่วยเปิดโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินดิจิทัลมากขึ้น ผ่านผู้ให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย, ป้องกันการผูกขาดระบบการชำระเงินของธุรกิจการเงินภาคเอกชนรายใดรายหนึ่ง ทั้งในส่วนของค่าธรรมเนียม คุณภาพบริการการเงิน การใช้ข้อมูลส่วนบุคคล และท้ายสุด จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลนโยบายเศรษฐกิจ ทำให้ภาครัฐดำเนินนโยบายได้ตรงจุดขึ้น ลดการรั่วไหล และวัดประสิทธิผลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง