รู้จัก "โรคลีเจียนแนร์" หรือปอดบวมปริศนา คืออะไร? หลังพบการระบาดล่าสุด
รู้จัก "โรคลีเจียนแนร์" หรือปอดบวมปริศนา คืออะไร?
นางคาร์ลา วิชชอตตี รัฐมนตรีสาธารณสุขอาร์เจนตินาเผยกับสื่อเมื่อวันเสาร์ว่า โรคลีเจียนแนร์ คือสาเหตุที่คร่าชีวิตผู้ป่วยทั้ง 4 คน ซึ่งมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยเนื้อตัว และหายใจลำบาก ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยคลินิกเดียวกันในเมืองซานมิเกลเดตูกูมัน ทางเหนือของกรุงบัวโนสไอเรส เป็นการเสียชีวิตตั้งแต่วันจันทร์จนถึงวันเสาร์ ด้านเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแจ้งว่า พบผู้ป่วยอีก 7 คน ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยคลินิกเดียวกัน และเกือบทุกคนใกล้ชิดกับบุคลากรของคลินิก ผู้ป่วย 4 คนยังอยู่ในโรงพยาบาล ในจำนวนนี้ 3 คนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ผู้ป่วยอีก 3 คนรักษาตัวที่บ้าน
ทั้งนี้นับตั้งแต่พบผู้ป่วยอักเสบหลายคนในเมืองซานมิเกลเดตูกูมัน แพทย์ได้ตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และเชื้อไวรัสฮันตาที่พบในกลุ่มสัตว์ฟันแทะ แต่ไม่ใช่ //จึงได้ส่งตัวอย่างไปตรวจที่สถาบันในกรุงบัวโนไอเนส และพบว่า เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เป็น โรคลีเจียนแนร์ แบบปอดอักเสบ ( Legionella) ไม่ใช่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด ขณะนี้กำลังค้นหาแหล่งต้นตอของเชื้อ
ทั้งนี้ โรคลีเจียนแนร์ ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในการประชุมทหารผ่านศึกอเมริกันที่เมืองฟิลาเดลเฟียของสหรัฐในปี 2519 ถูกโยงว่าน่าจะเกิดจากน้ำปนเปื้อนหรือระบบเครื่องปรับอากาศไม่สะอาด ครั้งนั้นมีผู้ป่วย 182 คน เสียชีวิต 29 คน
ด้านองค์การสุขภาพแห่งภาคพื้นอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยงานในภูมิภาคขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่ากำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่นในการตรวจหาต้นตอของโรคนี้
คลัสเตอร์ปอดบวมในอาร์เจนตินา เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
ขณะที่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า คลัสเตอร์ปอดบวมในอาร์เจนตินา ไม่ใช่ไวรัสปริศนา เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จากข้อมูล CDC พบว่า แบคทีเรียเมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไข้ ปวดศีรษะ หายใจไม่สะดวก
แพทย์วินิจฉัยจากการเอกซเรย์ปอด ตรวจหาเชื้อแบคทีเรียได้จากตัวอย่างเสมหะ หรือ ปัสสาวะ การติดเชื้อปกติสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนประมาณ 1 ใน 10 อาจเสียชีวิต
และคนปกติที่สุขภาพดีส่วนใหญ่จะไม่ป่วยจากแบคทีเรียชนิดนี้ ความเสี่ยงจะพบได้ในผู้สูงอายุที่สูบบุหรี่ หรือเคยสูบ หรืออาการปอดอักเสบเรื้อรัง หรือกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ใช้ยากดภูมิ ผู้ป่วยมะเร็ง เบาหวาน หรือไตวาย // แบคทีเรียชนิดนี้ไม่แพร่จากคนสู่คน ปกติจะพบเจือปนอยู่ในน้ำที่ไม่สะอาด ช่องทางต่างๆ ที่ร่างกายจะได้รับเชื้อ คือ ทางละอองฝอยน้ำที่มีแบคทีเรียเจือปน เช่น ระบบปรับอากาศที่พ่นไอน้ำ ฝักบัว อบไอน้ำในซาวนา หรือละอองฝอยจากน้ำพุที่ใช้ตกแต่งในสถานที่ต่างๆ
ภาพ TNN Online / ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา