รีเซต

กนอ. เดินหน้านิคมฯ แห่งใหม่ที่ 61 มูลค่า 4.1 พันล้าน คาดสร้างมูลค่าลงทุนอุตฯ เป้าหมาย 6 หมื่นล้าน

กนอ. เดินหน้านิคมฯ แห่งใหม่ที่ 61 มูลค่า 4.1 พันล้าน คาดสร้างมูลค่าลงทุนอุตฯ เป้าหมาย 6 หมื่นล้าน
ข่าวสด
7 มกราคม 2564 ( 17:24 )
76

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ บนพื้นที่กว่า 1,900 ไร่ เงินลงทุน 4,129 ล้านบาท รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอส เคิร์ฟ) และอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (นิว เอส เคริฟ) เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิตเป็นหลัก ภายใต้มาตรการส่งเสริมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามนโยบายของรัฐบาล

 

ทั้งนี้ ระหว่างนี้บริษัทเตรียมจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพื่อขอความเห็นขอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ก่อน จึงเข้าสู่กระบวนการจัดสรรที่ดินและขออนุมัติแผนแม่บทต่อไป กำหนดระยะเวลาพัฒนาโครงการ 3 ปี หลังได้รับการประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรมแล้ว คาดจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2567 ซึ่งหลังจากมีการลงทุนเต็มพื้นที่ คาดจะก่อให้เกิดการลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท

 

“โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างโรงงาน คาดทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 15,014 อัตรา ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการเกษตร อุตสาหกรรมเบาและอุปกรณ์ทางการแพทย์และเครื่องประดับ อุตสาหกรรมบริการ เช่น คลังสินค้า โลจิสติกส์ การวิจัยและพัฒนา และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมในอีอีซี”

 

โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ อยู่ใน อ.หนองใหญ่ และ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี พื้นที่ 1,987.61 ไร่ แบ่งการจัดสรรพื้นที่ออกเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 1,501 ไร่ และพื้นที่สาธารณูปโภคและแนวกันชนประมาณ 486 ไร่ เป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 61 และเป็นนิคมอุตสาหกรรมล่าสุดที่จะเปิดให้บริการในพื้นที่อีอีซี

 

นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซี มีเครือข่ายเส้นทางคมนาคมที่สะดวก อยู่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดไม่ถึง 100 กิโลเมตร( ก.ม.) และห่างจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 137 ก.ม. ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสามารถเชื่อมโยงนิคมฯ ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

 

นอกจากนี้ โครงการยังออกแบบภายใต้แนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แนวกันชนเชิงนิเวศรอบพื้นที่โครงการ และนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วมาปรับปรุงคุณภาพและนำไปใช้ประโยชน์ภายในโครงการ เพื่อลดอัตราการระบายน้ำทิ้งออกนอกพื้นที่ รวมทั้งได้นำแนวคิดออกแบบอาคารส่วนกลางแบบอารยสถาปัตย์ และออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อลดการใช้พลังงานและการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก และใช้พลังงานทดแทน เป็นทางเลือกเสริมพลังงานหลัก ช่วยลดปัญหามลพิษส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยรอบสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง