วัสดุนาโนเรืองแสงเพิ่มความชัดลายนิ้วมือตัวช่วยสำคัญวงการนิติวิทยาศาสตร์
นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ (University of Leicester) ในสหราชอาณาจักร พัฒนา “วัสดุนาโนเรืองแสง” ที่สามารถทำให้ลายนิ้วมือที่เกาะอยู่ตามพื้นผิวต่าง ๆ มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งถ้าหากพัฒนาจนแล้วเสร็จ ผลงานนี้อาจจะเป็นประโยชน์ให้กับกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่น นำไปใช้ทำให้การตรวจสอบลายนิ้วมือตามสถานที่เกิดเหตุ ทำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
โดยทีมวิจัยระบุว่า หนึ่งในปัญหาของการเก็บรอยลายนิ้วมือในปัจจุบันนี้ คือปกติแล้วอาชญากรมักจะเช็ดรอยลายนิ้วมือที่มองเห็นได้ ออกไปจากจุดเกิดเหตุ รวมถึงรอยลายนิ้วมือส่วนใหญ่ ก็จะประกอบไปด้วยน้ำ เหงื่อ และน้ำมัน ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถระเหยหายไปได้ ทำให้บางครั้งแทบจะไม่เหลือหลักฐาน และทำให้การแกะรอยต่าง ๆ ทำได้ยากขึ้น
ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาวัสดุใหม่ ที่จะช่วยเผยให้เห็นลายนิ้วมือที่ซ่อนอยู่บนพื้นผิว และอาจจะมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ด้วยการพัฒนาวัสดุนาโนเรืองแสง เพื่อนำไปปัดบนพื้นผิวต่าง ๆ แทนการใช้ผงปัดลายนิ้วมือแบบเดิม โดยเคลมว่า ช่วยจับรายละเอียดของลายนิ้วมือได้มากขึ้น ซึ่งอาจช่วยระบุตัวตนเจ้าของลายนิ้วมือได้ แม้ผ่านไปหลายปีแล้วก็ตาม
สำหรับวัสดุที่พัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ จะประกอบไปด้วยอนุภาคนาโนซิลิกา สีย้อมเรืองแสง และ ไคโตซาน (chitosan) ซึ่งเป็นสารพอลิเมอร์ธรรมชาติที่สกัดได้จากไคติน ที่พบในเปลือกกุ้ง ปู หรือเปลือกล็อบสเตอร์ ซึ่งการเพิ่มสารเรืองแสง จะช่วยเพิ่มความคมชัดในการมองเห็นความต่างระหว่างลายนิ้วมือและพื้นผิวที่พบ และช่วยให้รวบรวมหลักฐานได้เร็วขึ้น ทำได้ตั้งแต่ในที่เกิดเหตุ แทนที่จะต้องพึ่งกระบวนการในห้องทดลอง
ปัจจุบันทีมวิจัยยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบและพัฒนาวัสดุใหม่บนพื้นผิวที่หลากหลาย โดยจะมีการเทียบประสิทธิภาพการใช้งาน กับมาตรฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ของสหราชอาณาจักร โดยหวังว่าในอนาคตสิ่งที่พัฒนาขึ้นนี้จะสามารถช่วยให้นักนิติวิทยาศาสตร์ เปิดเผยตัวตนของลายนิ้วมือที่ไม่เคยเห็นมาก่อน รวมถึงลายนิ้วมือจาก Cold Case หรือคดีที่ปิดไม่ลงได้มากขึ้น
ข้อมูลจาก reutersconnect, reutersconnect