รีเซต

คาดหลัง มิ.ย.คนไทยเครียดหนักกว่าเดิม กรมสุขภาพจิตจัด "การแพทย์วิถีใหม่" รับมือ

คาดหลัง มิ.ย.คนไทยเครียดหนักกว่าเดิม กรมสุขภาพจิตจัด "การแพทย์วิถีใหม่" รับมือ
มติชน
8 มิถุนายน 2563 ( 14:55 )
448
 

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจจำนวนผู้เข้ารับบริการทางด้านจิตเวชทั้งในระบบผู้ป่วยใน-นอกของสถานบริการสังกัดกรมสุขภาพจิต จำนวน 20 แห่ง ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 พบว่าผู้ป่วยที่มารับบริการแบบผู้ป่วยนอกของสถาบันและโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวช ในช่วงเดือนเมษายน จำนวน 61,235 ราย มีจำนวนลดลงจากเดือนมกราคม จำนวน 88,923 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 31 และจำนวนผู้ป่วยในของสถาบันและ รพ.จิตเวช ช่วงเดือนเมษายน จำนวน 10,319 ราย มีจำนวนลดลงจากเดือนมกราคม จำนวน 19,685 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 47.6

 

“อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า หลังจากในเดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป อาจจะมีคนใช้บริการรายใหม่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมได้จากหลายปัจจัย จากความเครียดทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าเดิม จำนวนผู้ป่วยใช้บริการมากขึ้นจนอาจทำให้กระทบต่อคุณภาพและความปลอดภัยของผู้รับบริการ และจำนวนผู้ป่วยนอนรักษาใน รพ.อาจมากขึ้น จากการรักษาไม่ต่อเนื่องและขาดยา” นพ.จุมภฏ กล่าว

 

ด้าน นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กล่าวว่า ล่าสุด กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาระบบเพื่อรองรับบริการสุขภาพจิตและจิตเวชสำหรับโรงพยาบาลในวิถีชีวิตรูปแบบใหม่นี้ โดยพัฒนาระบบต่างๆ บนพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ด้านบริการสุขภาพจิตอย่างสูงสุด เช่น การจัดระบบจองคิว/นัดหมายออนไลน์ คลินิกสังเกตอาการระบบทางเดินหายใจ การนัดหมายคนไข้ในลักษณะที่มีการเหลื่อมเวลา การรับบริการส่งยาทางไปรษณีย์หรือร้านขายยา รวมไปถึงการรับยาผ่านระบบไดร์ฟ ทรู (Drive thru) เพื่อรักษาระยะห่างอีกด้วย

 

“นอกจากนั้น จะมีการเพิ่มเติมระบบติดตามดูแลต่อเนื่องด้านสุขภาพจิตและจิตเวชรูปแบบใหม่เพิ่มเติมอีก ได้แก่ การจัดทำระบบนัดติดตาม/แอพพลิชั่น การติดตามโดยตรงทางโทรศัพท์/วิดีโอทางไกล (โปรแกรมโทรถามตามเยี่ยม) ระบบการรายงานตัวเอง (Self-report) การเยี่ยมบ้านในรายกรณีที่จำเป็น/มีปัญหาซับซ้อนหรือเยี่ยมบ้านผ่านระบบวิดีโอคอล (VDO call visiting) การติดตามผ่าน รพ.เครือข่ายโดยระบบ Teleconference ให้ความรู้ในการป้องกัน ดูแลตนเอง สำหรับผู้ป่วยและญาติ บูรณาการไปกับกิจกรรมบริการต่างๆ การประเมินสุขภาพจิตผ่านแอพพ์ฯ โดยหากพบมีอาการผิดปกติหรือเกิดปัญหา สามารถติดต่อขอคำปรึกษากับโรงพยาบาลใกล้บ้าน และหากเกินขีดความสามารถของ รพ.ใกล้บ้าน ให้ขอคำปรึกษาผ่านโทรศัพท์วิดีโอคอล หรือเทเลคอนเฟอร์เร้นซ์ (Teleconference) รวมถึงส่งต่อไปยัง รพ.จิตเวช ต่อไป” นพ.บุรินทร์ กล่าวและว่า หากรู้สึกหมดพลัง เครียดมากขึ้น สามารถใช้บริการสายด่วน 1323 ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง