รีเซต

กระบะดัดแปลง MRAPs พันธุ์แกร่งจากแคนาดา ต่อต้านระเบิดแสวงเครื่อง-การซุ่มโจมตี

กระบะดัดแปลง MRAPs พันธุ์แกร่งจากแคนาดา ต่อต้านระเบิดแสวงเครื่อง-การซุ่มโจมตี
TNN ช่อง16
6 มิถุนายน 2566 ( 12:49 )
75

ในพื้นที่ความขัดแย้งทั่วโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องมีการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ แต่สิ่งที่เกิดควบคู่กันไป คือความพยายามลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ และเพื่อตอบโจทย์ความพยายามนี้ โรเชล (Roshel) บริษัทผู้ผลิตยานพาหนะทางทหารจากแคนาดา ได้เปิดตัวยานพาหนะทางทหารหุ้มเกราะต้านทานทุ่นระเบิดและซุ่มโจมตี ซีเนเตอร์ (MRAP-Senator Mine Resistant Ambush Protected) โฉมใหม่ 


รถยานพาหนะทางทหารหุ้มเกราะต้านทานทุ่นระเบิดและซุ่มโจมตีซีเนเตอร์ ถูกต่อยอดการสร้างจากรถกระบะ ฟอร์ด เอฟ-550 (Ford F-550) ซึ่งถูกดัดแปลงแบบพิเศษโดยการเสริมเกราะให้ห้องโดยสารทนต่อแรงระเบิดและกระสุนขนาดต่าง ๆ ส่วนสเปกของรถคันนี้ ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล V8 ขนาด 6.7 ลิตร ให้กำลัง 330 แรงม้า ติดตั้งกระจกกันกระสุนหลายชั้น ทั้งยังมีประตูหุ้มเกราะและบานพับติดตั้งสลักเสริมแรง ส่วนตัวถังที่นั่งเป็นแบบป้องกันทุ่นระเบิดพร้อมเข็มขัดนิรภัยแบบสี่จุด รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 10 คน 



รอบตัวรถยังมีช่องปืน และกล้องที่ช่วยให้ผู้ขับขี่มองเห็นได้ 360 องศา รอบทิศทาง ส่วนด้านบนหลังคาเป็นป้อมปืน เรนเมทอลล์ ฟิลด์เรนเจอร์ (Rheinmetall Fieldranger) ควบคุมด้วยรีโมต ซึ่งสามารถติดตั้งปืนกล, เครื่องยิงลูกระเบิดอัตโนมัติ หรือจรวดนำวิถีต่อต้านรถถังได้ และรถซีเนเตอร์ยังผ่านการทดสอบด้วยทุ่นระเบิดต่อต้านรถถังขนาด 6 กิโลกรัม รวมถึงทดสอบรับแรงระเบิดจากกระสุนปืนใหญ่อัตราจรขนาด 155 มิลลิเมตร แบบทำลายล้าง (High Explosive) ในระยะ 50 เมตรจากศูนย์กลางระเบิด พบว่าตัวถังบรรทุกผู้โดยสารยังปลอดภัย 


สำหรับความเป็นมาของรถหุ้มเกราะนั้น มีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนรถรุ่นที่ผลิตขึ้นพร้อมเกราะด้านล่างเพื่อป้องกันทุ่นระเบิดบนถนน หรือยานพาหนะทางทหารหุ้มเกราะต้านทานทุ่นระเบิดและซุ่มโจมตี มีจุดกำเนิดจากโรดีเซียและแอฟริกาใต้ในช่วงปี 1970 ขณะที่รถ MRAP ของยุคปัจจุบันคันแรกถูกสร้างขึ้นในปี 2007 โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หลังจากกองกำลังทหารสหรัฐฯ เผชิญการโจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่อง (Improvised Explosive Devices-IEDs) ในอิรักและอัฟกานิสถานอย่างหนักหน่วง 



อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของ MRAPs ก็คือ มักจะมีราคาค่อนข้างแพง ในกรณีของโรเชล จึงมีการเลือกใช้โครงรถของฟอร์ด เอฟ-550 (Ford F-550) ซึ่งได้รับการยอมรับในสมรรถภาพการใช้งานในพื้นที่ทุรกันดารมาทดแทน จึงช่วยลดราคาลงไปได้อีกระดับ 


ที่มาของข้อมูล Newatlas

ที่มาของรูปภาพ Roshel 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง