ฟอสซิลในจีนเผยความสัมพันธ์ 'นกกินใบไม้-วิวัฒนาการของพืช'
ปักกิ่ง, 2 ส.ค. (ซินหัว) -- คณะนักบรรพชีวินวิทยาของจีนเปิดเผยการค้นพบครั้งสำคัญจากการระบุซากอาหารประเภทผักในกระเพาะของฟอสซิลนกโบราณอายุ 120 ล้านปี ซึ่งขุดพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศผลวิจัยจากวารสารเนเจอร์ คอมมิวนิเคชันส์ (Nature Communications) เมื่อไม่นานนี้ ถือเป็นหลักฐานด้านอาหารโดยตรงที่ชี้ว่า "เจฮอลอร์นิส" (Jeholornis) นกรุ่นแรกสุดของโลก กินใบพืชที่ออกดอกและผลิตเมล็ดในผลคณะผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่านกมีบทบาทสำคัญในต้นกำเนิดของแองจิโอสเปิร์ม (angiosperm) หรือพืชดอก ซึ่งเป็นกลุ่มพืชขนาดใหญ่และหลากหลายที่สุด คิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ของพืชสีเขียวปัจจุบันที่รู้จักทั้งหมดในระบบนิเวศบนบกสมัยใหม่ของโลกนกยุคปัจจุบันและพืชผลิตเมล็ดเหล่านั้นมีปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในด้านการผสมเกสรและการแพร่กระจายเมล็ดพืช ทว่าหลักฐานด้านอาหารยังคงหาพบได้ยากในวิวัฒนาการช่วงแรกเริ่มทีมนักวิจัยจากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและบรรพมานุษยวิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ทำการสกัดอนุภาคฟอสซิล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นซิลิกอนไดออกไซด์ จากทางเดินอาหารในฟอสซิลกระดูกนกสภาพเกือบสมบูรณ์เป็นครั้งแรกอนึ่ง ตัวอย่างนกโบราณช่วงโตเต็มวัยนี้ถูกขุดพบใกล้กับเมืองเฉาหยาง มณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยทีมวิจัยกล่าวว่าอนุภาคเหล่านี้มีแนวโน้มมาจากใบแมกโนเลียมากที่สุด ด้านอู๋เหยียน ผู้เขียนวิจัยชื่อแรกและนักวิจัยจากสถาบันบรรพชีวินวิทยาฯ กล่าวว่าผลวิจัยยังเผยว่านกเริ่มบินขึ้นบนกิ่งไม้เพื่อสำรวจบทบาทหน้าที่ทางนิเวศวิทยาแบบใหม่อย่างไรผลการศึกษาพบว่าขากรรไกรล่างของเจฮอลอร์นิสรองรับรูปร่างเหมือนกับนกกินพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งรวมถึงนกกินพืชยุคปัจจุบันอย่างนกโฮตซิน (hoatzin)"การค้นพบของเราช่วยเสริมสร้างความรู้ด้านความเชื่อมโยงทางนิเวศวิทยายุคแรกเริ่มในหมู่นกและพืชดอกจากการบริโภคผลหรือเมล็ด และการแพร่กระจายเมล็ดที่เป็นไปได้สู่การใช้ประโยชน์ชิ้นส่วนพืชที่อุดมสมบูรณ์และพบได้บ่อยที่สุด เช่น ใบเพื่อเป็นอาหาร" อู๋กล่าว
(ภาพจากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและบรรพมานุษยวิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน : ภาพวาด ภาพถ่าย และภาพสแกนแบบเลเยอร์คอมพิวเตอร์ของตัวอย่างนกเจฮอลอร์นิส)