รีเซต

ฮือฮา! นักพฤกษศาสตร์ค้นพบ "โสกเหลืองแม่เมย" พืชชนิดใหม่ของโลก

ฮือฮา! นักพฤกษศาสตร์ค้นพบ "โสกเหลืองแม่เมย" พืชชนิดใหม่ของโลก
TNN ช่อง16
2 กันยายน 2564 ( 15:56 )
203

วันนี้( 2 ก.ย.64) นักวิจัย ขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ค้นพบพืชหายากชนิดแรกของโลก ในป่าทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยพืชชนิดนี้มีชื่อว่า 

"โสกเหลือง" หรือ "โสกเหลืองแม่เมย" เป็นพืชสกุลโสกน้ำ วงศ์ถั่ว การค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกครั้งนี้ เริ่มต้นโดยนายวิทยา ปองอมรกุล นักพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน (Ethnobotanist) ขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะได้ศึกษาวิจัยภูมิปัญญาพื้นบ้าน และสำรวจการใช้ประโยชน์จากพืชของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา 

ขณะที่ทำการศึกษาวิจัยในท้องที่อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้พบกับชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยง กำลังนำฝักอ่อนของพืชวงศ์ถั่ว (Fabaceae) ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับฝักของพืชสกุลโสกน้ำ โสกเหลือง หรือศรียะลา (Saraca) แต่ในขณะนั้นไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นชนิดใดมาย่างไฟ เพื่อรับประทานเมล็ดภายในฝัก คณะนักวิจัยฯจึงได้สอบถามและทราบชื่อท้องถิ่นของพืชชนิดนี้ว่า ตะนา (ภาษากะเหรี่ยง) 

นอกจากการนำฝักมาย่างไฟแล้ว  ยังามารถนำเมล็ดมาต้มและนำไปตำเป็นส่วนประกอบของน้ำพริกรับประทานได้ และเปลือกต้นของพืชชนิดนี้ยังใช้เป็นสีย้อมผ้า ซึ่งจะให้สีแดง 

ต่อมานายวิทยา ปองอมรกุล , ดร.ประทีป ปัญญาดี , นายนัทธี  เมืองเย็น  นักพฤกษศาสตร์จากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อังคณา อินตา จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันศึกษาและตรวจสอบลักษณะของพืชชนิดนี้อย่างละเอียด กระทั่งพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก จึงได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชชนิดนี้ว่า Saraca thailandica Pongamornkul, Panyadee & Inta มีความหมายว่า พืชแห่งประเทศไทย  เรียกชื่อไทยว่า โสกเหลือง หรือ โสกเหลืองแม่เมย และได้มีการตีพิมพ์การค้นพบนี้ในวารสารพฤกษศาสตร์ไทย (Thai Journal of Botany) ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 หน้า 29–36 

สำหรับโสกเหลือง พบกระจายตามธรรมชาติบริเวณริมน้ำ ตามป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา ที่ความสูง 1,000–1,400 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ปัจจุบันพบเฉพาะในประเทศไทย ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ แต่อาจมีการกระจายพันธุ์ในบริเวณชายแดนฝั่งประเทศเมียนมาร์  ซึ่งเป็นพืชที่เหมาะแก่การปลูกสำหรับฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณต้นน้ำในพื้นที่สูงอีกชนิดหนึ่ง นอกจากจะได้ประโยชน์ในเรื่องของพื้นที่ป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์แล้ว เมล็ดยังสามารถนำมาเป็นอาหารได้อีกด้วย

การค้นพบครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก เป็นการค้นพบที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาต่อยอดในการอนุรักษ์ ศึกษาวิจัย เพื่อการขยายผลสู่การนำไปใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในอนาคตอย่างมีคุณค่าและยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง