รีเซต

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : วัคซีนกับภูมิคุ้มกันหมู่ ชี้อนาคตของโควิด-19

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : วัคซีนกับภูมิคุ้มกันหมู่ ชี้อนาคตของโควิด-19
มติชน
16 กุมภาพันธ์ 2564 ( 01:42 )
47
คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : วัคซีนกับภูมิคุ้มกันหมู่ ชี้อนาคตของโควิด-19

หลายประเทศเริ่มระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนของตนเองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่สหรัฐอเมริกา อิสราเอล เรื่อยไปจนถึงประเทศอังกฤษ และอีกหลายชาติในเอเชีย

 

เป้าหมายก็เพื่อสร้าง “เฮิร์ด อิมมูนิตี” หรือภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้น

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ในกรณีที่เราสามารถบรรลุถึงเป้าหมายของการให้วัคซีนป้องกันกับประชากรโลกได้มากพอ ภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นได้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ถึงจุดจบ ผู้คนบนโลกสามารถกลับคืนสู่การใช้ชีวิตตามปกติก่อนหน้านี้ได้อีกครั้ง

 

คำถามสำคัญก็คือ ถ้าหากโลกไม่สามารถบรรลุถึงสภาวะที่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้ อะไรจะเกิดขึ้นตามมา?

 

เจนนี ลาวีน นักชีววิทยาของมหาวิทยาลัยเอมอรี ในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา อุปมาการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อสู้กับโรคระบาดว่า ก็เหมือนกับการใช้ฟืนเปียกเพื่อจุดกองไฟในการตั้งแคมป์ ถ้าฟืนมีความชื้นมากพอถึงระดับหนึ่ง ก่อกองไฟอย่างไรก็ไม่ติดลุกโชน

 

ภูมิคุ้มกันหมู่ ก็คือความเปียกชื้น ถ้ามีมากพอ การระบาดเริ่มต้นไม่ได้ ก็นำไปสู่จุดจบนั่นเอง

จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้ ต้องทำให้อัตราเฉลี่ยในการแพร่เชื้อของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ 1 รายแพร่เชื้อต่อออกไปต่ำกว่า 1 ให้ได้

 

ในกรณีนี้ ผู้ติดเชื้อรายแรกอาจสามารถแพร่เชื้อให้กับบุคคลที่ 2 ได้ แต่บุคคลที่ 2 ที่ติดเชื้อไม่สามารถแพร่ให้กับบุคคลที่ 3 ได้

นั่นคือหลักการที่เราใช้ในการจัดการกับโรคติดต่อทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัด โปลิโอ หรืออีกหลายๆ โรคที่ผ่านมา

 

สำหรับโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ภูมิคุ้มกันหมู่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อประชากรราว 60 เปอร์เซ็นต์ จนถึง 90 เปอร์เซ็นต์ มีภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเกิดจากการที่เคยได้รับเชื้อมาก่อนแล้วหายดีแล้ว หรือเกิดจากการได้รับวัคซีนก็ตาม

ปัญหาก็คือ จนถึงตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาหลายคนเริ่มเป็นกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วว่า ซาร์ส-โควี-ทู ไวรัสก่อโรคโควิด-19 อาจไม่สามารถควบคุมหรือกำจัดได้ด้วยภูมิคุ้มกันหมู่

 

มีสัญญาณมากขึ้นเรื่อยๆ ที่แสดงแนวโน้มไปในทิศทางนั้น ตั้งแต่ปัญหาการกักตุนวัคซีน ในขณะที่โควิด-19 ซึ่งยังแพร่วนเวียนไปเรื่อยๆ เริ่มวิวัฒนาการกลายพันธุ์ ที่ทำให้ไม่เพียงสามารถแพร่เชื้อต่อไปได้เท่านั้น

 

แต่ยังสามารถแพร่ซ้ำให้แม้แต่คนที่เคยติดเชื้อแล้วอีกด้วย

วัคซีนสำหรับต้านโควิด-19 ที่พัฒนาขึ้นมาด้วยระดับความเร็วสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ของการพัฒนาวัคซีนนั้น มีประสิทธิภาพสูงมาก สูงเกินกว่าที่หลายคนคาดคิดกันไว้

 

ประสิทธิภาพของวัคซีนนั้น นักวิชาการด้านภูมิคุ้มกันวิทยาจัดเรียงไว้ 4 ระดับ จากง่ายที่สุดในสู่ระดับยากที่สุด ประกอบด้วย ประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการป่วยหนัก, ป้องกันไม่ให้เกิดอาการป่วยใดๆ เลย, ป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อต่อ และสุดท้ายที่ยากที่สุดคือ ประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อ

 

ปัญหาก็คือประสิทธิภาพของวัคซีนระดับ “ท็อป” ที่เรามีอยู่ในเวลานี้นั้น เป็นเพียงประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อป่วยหนัก ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และเสียชีวิตเท่านั้น

 

แต่มีประสิทธิภาพต่ำกว่า ในแง่ของการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ผู้ที่ได้รับวัคซีนสามารถมีภูมิคุ้มกันที่ “จัดการ” กับเชื้อได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ในร่างกายมีเชื้อในปริมาณที่น้อยลง แต่ยังสามารถแพร่ต่อไปได้ แม้จะมีโอกาสแพร่น้อยลงก็ตาม

 

เพียงแต่ยังไม่มีใคร แม้แต่ผู้พัฒนาวัคซีนเองตอบได้ว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่เชื้อที่ต่ำกว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดอาการป่วยหนักนั้น ต่ำกว่าเท่าใดกันแน่?

 

ข่าวร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ องค์ความรู้ในอดีตจากบรรดาวัคซีนป้องกันสารพัดโรคติดต่อที่เราผลิตกันขึ้นมานั้น ประสิทธิภาพที่เสื่อมลงเร็วที่สุด เสื่อมก่อนประสิทธิภาพอื่นๆ ก็คือ ประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่เชื้อนั่นเอง

 

ประสิทธิภาพของวัคซีนที่คงอยู่นานที่สุดก็คือ ประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยหนักนั่นเอง

 

ข้อสรุปง่ายๆ ของผู้เชี่ยวชาญก็คือ วัคซีนที่เรามีอยู่นั้นดีต่อผู้ที่ได้รับวัคซีนแน่ แต่ไม่ดีพอสำหรับการสร้างเฮิร์ด อิมมูนิตี!

ประเด็นสำคัญถัดมาที่ทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญเป็นกังวลมากยิ่งขึ้นก็คือ มีแนวโน้มว่า โควิด-19 กลายพันธุ์หลายตัว ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนเท่าที่มีอยู่ลดต่ำลงไปอีก คุกคามต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อย่างชวนวิตก

 

ไมเคิล ออสเตอร์โฮล์ม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคติดเชื้อและนโยบาย ของมหาวิทยาลัยมินเนโซตา บอกว่า คำถามระดับล้านล้านดอลลาร์ที่ว่า เราจะเดินหน้ากันต่อไปจากวิกฤตโควิดคราวนี้ยังไงนั้น คำตอบก็ขึ้นอยู่กับ “การกลายพันธุ์” ที่ว่านี้นี่เอง

 

ข้อน่าสังเกตก็คือ การกลายพันธุ์ที่มีนัยสำคัญต่อการระบาดนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดมาได้ราว 1 ปี ระยะเวลาดังกล่าวนี้ทำให้แวเรียนท์หรือสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ๆ สามารถสั่งสมการกลายพันธุ์ได้มากตำแหน่งขึ้น และเกิดขึ้นในตำแหน่งสำคัญมากขึ้น

 

แอฟริกาใต้แวเรียนท์ และบราซิล แวเรียนท์ คือเชื้อกลายพันธุ์ที่น่าวิตกที่สุดในแง่ของการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เชื้อกลายพันธุ์ทั้งสองมีการกลายพันธุ์ร่วม หรือการกลายพันธุ์ในตำแหน่งพันธุกรรมเดียวกันอยู่หลายตำแหน่ง รวมทั้งตำแหน่งสำคัญอย่างการกลายพันธุ์ “อี484เค”

 

“อี484เค” ทำให้รูปร่างของหนามโปรตีนของไวรัสเปลี่ยนไป ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตรวจจับได้ยากขึ้น

ผลก็คือ เชื้อแอฟริกาใต้แวเรียนท์สามารถทำให้เกิด “การติดเชื้อซ้ำ” หรือ “รีอินเฟคชัน” ขึ้นได้

 

เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลแอฟริกาใต้ถึงกับระงับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไว้ชั่วคราว หลังผลการศึกษาชี้ชัดว่า วัคซีนตัวนี้ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคระดับเบาบางและระดับปานกลางซึ่งเกิดจากการติดเชื้อกลายพันธุ์ใหม่นี้ได้

 

เชื้อกลายพันธุ์แอฟริกาใต้ ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนที่พัฒนาโดย จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จากระดับ 72 เปอร์เซ็นต์ เมื่อใช้กับเชื้อโควิดดั้งเดิม หลงเหลือเพียงแค่ 57 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เช่นเดียวกัน วัคซีนโนวาแวกซ์ ที่มีประสิทธิภาพ 89 เปอร์เซ็นต์ ก็เหลือประสิทธิภาพเพียง 49 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเมื่อใช้กับผู้ติดเชื้อแอฟริกาใต้แวเรียนท์

 

ในบราซิล ที่เมืองมาเนาส์และอาณาบริเวณโดยรอบซึ่งเคยเกิดการแพร่ระบาดขนานใหญ่มาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อให้เกิดระดับภูมิคุ้มกันในหมู่ชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวสูงมาก แต่กำลังเกิดการแพร่ระบาดรอบสองใหญ่โตอีกเหมือนกัน

นักวิชาการเชื่อว่า พี1 สายพันธุ์กลายพันธุ์ของบราซิล เป็นที่มาของการติดเชื้อซ้ำครั้งใหญ่ที่ว่านี้

ข่าวร้ายสำหรับคนในอังกฤษและอีกหลายประเทศที่กำลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์บี.1.1.7 ก็คือ นักวิทยาศาสตร์เริ่มพบว่ามีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง “อี484เค” ในแวเรียนท์ของอังกฤษขึ้นด้วยแล้วเช่นกัน

 

เบนเฮอร์ ลี นักไวรัสวิทยาจากสำนักการแพทย์ไอคาห์น เตือนว่า การกลายพันธุ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์เราให้โอกาสไวรัสได้แพร่ระบาดวนเวียนอยู่นานมากพอ หากเราไม่ให้โอกาส การกลายพันธุ์ก็อาจเกิดขึ้นแต่ต้องใช้เวลายาวนานมากขึ้น

การป้องกันการกลายพันธุ์ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการป้องกันการติดเชื้อให้มากที่สุด ในทุกที่และด้วยทุกวิธีการเท่าที่เราสามารถจะทำได้

 

ปัญหาใหญ่ก็คือ การป้องกันการแพร่ระบาดที่ว่านั้นจำเป็นต้องเกิดขึ้นทั่วทั้งโลก หากยังปล่อยให้มีพื้นที่ระบาด “อย่างเสรี” เกิดขึ้น โอกาสกลายพันธุ์ก็ยังคงมีสูงยิ่งต่อไปด้วยธรรมชาติของไวรัส ซึ่งในที่สุดก็จะกลับไประบาดใหญ่แม้แต่ในประเทศที่ผ่านการฉีดวัคซีนประชากรส่วนใหญ่ไปแล้วก็ตาม

 

บรรดาชาติมั่งคั่งทั้งหลายที่กักตุนวัคซีนเอาไว้ราวๆ 70 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิตทั้งหมดในเวลานี้ โดยไม่ใส่ใจที่จะช่วยเหลือประเทศอื่นๆ จึงกำลังทำร้ายตัวเองอยู่ด้วยเหตุนี้

 

ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้จะส่งผลอย่างไรต่อ โควิด-19 ในอนาคต?

มาร์ค ลิปซิทช์ นักวิชาการด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับแถวหน้าของประเทศ เชื่อว่าในความเป็นจริง โลกหรือแม้แต่ประเทศใดประเทศหนึ่งที่เคยเกิดการแพร่ระบาดอย่างหนัก อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา คงยากที่จะบรรลุความสำเร็จในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

 

แต่เป้าหมายของการฉีดวัคซีนจะปรับเปลี่ยนไป เป็นการดึงเอาผู้คนออกจากเส้นทางที่เป็นอันตรายให้มากที่สุดและเร็วที่สุด

โควิด-19 จะยังคงแพร่ระบาดอยู่ต่อไป แต่ผู้ที่อาการหนักถึงขั้นต้องรักษาตัวในไอซียูของโรงพยาบาลจะลดน้อยลง และผู้ที่เสียชีวิตก็จะยิ่งลดลงไปอีก

 

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของ เจสซี บลูม นักไวรัสวิทยาจากศูนย์วิจัยมะเร็งเฟรด ฮัทชินสัน ในสหรัฐอเมริกา ที่แสดงความคาดหวังในทางที่ดีไว้ว่า ในอนาคตการติดเชื้อจะยังคงเกิดขึ้น แต่ความถี่ของการระบาดจะชะลอลงกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้

“คนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ จะแสดงอาการคล้ายๆ กับคนเป็นหวัดทั่วๆ ไป มากกว่าจะเกิดอาการที่เสี่ยงต่อชีวิตเหมือนเช่นในเวลานี้”

เจนนี ลาวีน นักชีววิทยาของมหาวิทยาลัยเอมอรี เคยร่วมทีมศึกษาวิจัยโดยการใช้แบบจำลองเพื่อคาดการณ์ถึงอนาคตของโควิด-19 ได้ข้อสรุปว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่ไวรัสก่อโรคระบาดร้ายแรงนี้ จะกลายเป็นเหมือนโคโรนาไวรัสก่อโรคหวัด หวัดใหญ่ อีก 4 สายพันธุ์ที่คงอยู่ร่วมกับมนุษย์มาเป็นเวลาช้านานจนถึงปัจจุบันนี้

 

ไวรัสเหล่านี้จะแพร่อยู่ทั่วไป จนมีโอกาสสูงมากที่คนส่วนใหญ่จะติดเชื้อ และร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และเมื่อเกิดการติดเชื้อซ้ำในเวลาต่อมา อาการจะไม่รุนแรง ในขณะที่ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุจะมีภูมิคุ้มกันจากวัคซีน การติดเชื้อซ้ำๆ จะกลายเป็นการ “อัพเดต” ให้กับระบบภูมิคุ้มกันไปโดยปริยาย

ซาร์ส-โควี-ทู และวัคซีนป้องกันจะกลายเป็นเชื้อที่คุ้นเคยกับมนุษย์ เหมือนกับไวรัสและวัคซีนอินฟลูเอนซา ที่ก่อให้เกิดไข้หวัดใหญ่ยังไงยังงั้น

 

เราไม่สามารถทำให้กองฟืนเปียกชื้นได้มากพอที่จะดับไฟลงได้โดยสิ้นเชิง แต่น้ำที่เรามีอยู่ก็มากพอที่จะป้องกันไม่ให้ไฟที่จุดติดขึ้นนั้น คุโชนกลายเป็นไฟกองใหญ่ได้ น้ำทุกหยดก็เปรียบเสมือนมาตรการป้องกันทุกรูปแบบตั้งแต่วัคซีนเรื่อยไปจนถึงหน้ากากอนามัยและอื่นๆ

ล้วนมีความหมายต่อชีวิตของเราในอนาคตทั้งสิ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง