รีเซต

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ลิ่มเลือด-ภาวะซีวีเอสที กับวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ลิ่มเลือด-ภาวะซีวีเอสที กับวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า
มติชน
23 มีนาคม 2564 ( 10:45 )
29

หลายชาติในยุโรป รวมทั้งประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดอย่างเยอรมนี, อิตาลี และฝรั่งเศส ประกาศระงับการใช้วัคซีนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ ร่วมกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จากสวีเดนเป็นการชั่วคราวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ก่อนที่จะประกาศให้มีการเริ่มต้นโครงการฉีดวัคซีนตัวนี้ให้ประชากรของตนใหม่อีกครั้งเมื่อ 19 มีนาคมที่ผ่านมานี้นี่เอง

 

สาเหตุของการระงับการใช้วัคซีนตัวนี้ไว้ชั่วคราวดังกล่าว เพราะเกิดกรณีที่ผู้รับวัคซีนจำนวนหนึ่ง เกิดภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ (Disseminated intravascular coagulation-DIC) ขึ้น นำไปสู่การเกิดลิ่มเลือด ซึ่งทำให้เกิดภาวะอุดตัน ขัดขวางการไหลเวียนของเลือดในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายขึ้น

อาการที่ทำให้เกิดความกังวลกัน มีตั้งแต่กรณีเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด, ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก แต่ที่น่าวิตกเป็นพิเศษก็คือ การเกิดภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน (Cerebral venous sinus thrombosis-CVST) ซึ่งเป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิต

 

ข้อมูลเชิงสถิติที่น่าสนใจของการเกิดซีวีเอสที หลังจากได้รับวัคซีนตัวนี้ไปแล้วก็คือ ผู้ที่เกิดอาการในจำนวนกว่า 30 ราย ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิงและมีอายุไม่เกิน 55 ปี

บริษัทผู้พัฒนาอย่าง แอสตร้าเซนเนก้า, หน่วยงานอย่าง องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) หรือแม้กระทั่ง องค์การยาแห่งยุโรป (อีเอ็มเอ) ต่างออกมายืนยันตรงกัน เพื่อคลายความวิตกและหวาดระแวงต่อวัคซีนตัวนี้ว่าเท่าที่ผ่านมายังไม่มีหลักฐานที่เป็นข้อบ่งชี้ว่าภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติดังกล่าวนั้น เกิดจากการได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าถึงกับกลับไปทบทวนผลลัพธ์จากการฉีดวัคซีน

 

ตัวเดียวกันนี้ในประเทศอังกฤษและภาคพื้นยุโรปกว่า 10 ล้านคนใหม่

อีกครั้ง ผลที่ได้ก็คือ ภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นในอัตราต่ำ ใกล้เคียงกับอัตราที่เกิดขึ้นในกรณีทั่วๆ ไป ในคนที่ไม่ได้รับวัคซีน

 

พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นไปได้อาการดังกล่าว “บังเอิญ” เกิดขึ้นกับคนที่เพิ่งได้รับวัคซีนไปแบบประจวบเหมาะเท่านั้นเอง ตัววัคซีนไม่ได้ทำให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด

ทั้งองค์การอนามัยโลกและอีเอ็มเอบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ทุกคนควรยอมรับการฉีดวัคซีนตัวนี้ต่อไป ด้วยเหตุผลที่ว่าความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดและการอุดตันขึ้นนั้น ต่ำกว่าความเสี่ยงและอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการได้รับเชื้อก่อโรคโควิด-19 มากมายนัก

 

ในถ้อยแถลงครั้งล่าสุดเมื่อ 18 มีนาคมที่ผ่านมา อีเอ็มเอก็ใช้เหตุผลเดียวกันนี้ในการยืนยันว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า “ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ” และควรยกเลิกการระงับใช้ นำกลับมาฉีดให้กับประชาชนอีกครั้ง

แต่ในถ้อยแถลงเดียวกันนั้น ยอมรับว่ายังไม่สามารถฟันธงลงไปได้เลยว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะ “ไม่” ก่อให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นในตัวผู้รับวัคซีน

 

แต่เสนอให้ฉีดต่อไปเพราะประโยชน์จากการฉีดมีมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ บางประเทศ รวมทั้งเยอรมนี, ฝรั่งเศส และอิตาลี ประกาศยกเลิกคำสั่งระงับ และให้กลับมาเริ่มฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้กับประชากรของตนอีกครั้ง

 

เพิ่มคำเตือนเข้าไปด้วยว่า วัคซีนตัวนี้อาจ “เชื่อมโยงกับอาการเกิดลิ่มเลือด” ขึ้นได้ ในขณะที่หน่วยงานดูแลสุขภาพของฝรั่งเศส เสนอให้ฉีดวัคซีนตัวนี้ให้เฉพาะกับผู้ที่มีอายุเกิน 55 ปีขึ้นไปเท่านั้น

อีกบางประเทศ โดยเฉพาะนอร์เวย์, สวีเดน และเดนมาร์ก ยังคงคำสั่งระงับไว้เหมือนเดิม เหตุผลก็คือ ต้องการเวลาในการวิจัยสิ่งที่เกิดขึ้นให้แน่ชัดเสียก่อน ก่อนที่จะกลับมาใช้ใหม่

 

ในนอร์เวย์นั้น ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้กับประชาชนไปแล้วราว 120,000 คน ในจำนวนนี้เกิดกรณีซีวีเอสทีขึ้น 3 ราย หนึ่งในจำนวนที่เกิดอาการหลอดเลือดดำในสมองอุดตันที่ว่านั้น เสียชีวิต

ดังนั้น ไม่ว่าดับเบิลยูเอชโอจะแนะนำอย่างไร อีเอ็มเอจะออกมายืนยันซ้ำอีกครั้งอย่างไร ผู้ที่เป็นกังวล ซึ่งก็คือบุคคลทั่วไปที่ต้องเข้ารับวัคซีน ก็ยังคงไม่ได้คำตอบอยู่ดีว่า

 

จริงๆ แล้ว วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทำให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นในร่างกายผู้รับวัคซีนหรือไม่?

คนที่ให้คำตอบของคำถามนี้ได้ชัดเจนที่สุดจนถึงขณะนี้ มีอยู่ 2 คน เป็นหัวหน้าทีมวิจัยทางการแพทย์ของ 2 ประเทศ ที่ศึกษาวิจัยเรื่องนี้อยู่คนละทิศคนละทาง แต่ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาสอดคล้องกัน

คนแรกคือ พัล แอนเดร โฮล์ม ศาสตราจารย์ด้านโลหิตวิทยา และเป็นหัวหน้าคณะแพทย์ประจำ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมวิจัยเพื่อสอบสวนกรณีเกิดซีวีเอสทีขึ้นหลังได้รับวัคซีนในนอร์เวย์ทั้ง 3 เคส

ทีมวิจัยของศาสตราจารย์โฮล์มตรวจสอบจนพบว่าสารภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดี ตัวหนึ่งในจำนวนหลายๆ ตัวที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากระตุ้นให้ร่างกายสร้างขึ้น คือตัวการที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในทางลบขึ้นในร่างกายผู้ได้รับวัคซีน

 

“ไม่มีอย่างอื่นที่อธิบายว่าทำไม ร่างกายของคนเราถึงได้มีภูมิคุ้มกันตัวนี้ขึ้นมา นอกจากวัคซีนตัวนี้เท่านั้น” ศาสตราจารย์โฮล์มสรุป

อาจารย์แพทย์อีกรายซึ่งเป็นหัวหน้าทีมศึกษาวิจัยกรณีการเกิดภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติขึ้นในหมู่ผู้ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า คือ ศาสตราจารย์แอนเดรียส เกรนาเคอร์ ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์บริการโลหิต (transfusion medicine) ประจำคลินิกแพทย์มหาวิทยาลัยกรีฟส์วาลด์ ซึ่งเป็นวิทยาลัยแพทย์และโรงพยาบาลในเมืองกรีฟส์วาลด์ ตอนกลางของประเทศเยอรมนี

 

เกรนาเคอร์เป็นหัวหน้าทีมศึกษาวิจัยกรณีที่เกิดขึ้นในเยอรมนี ภายใต้ความร่วมมือใกล้ชิดกับทีมวิจัยในออสเตรีย ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากลิ่มเลือดเมื่อได้รับวัคซีนไปแล้ว 1 รายเช่นกันและทีมวิจัยในไอร์แลนด์กับอังกฤษอีกด้วย

ในเยอรมนี ที่มีผู้ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้วราว 1.6 ล้านคนเกิดผลข้างเคียงอย่าง ซีวีเอสทีขึ้น 13 ราย ที่น่าสนใจก็คือ 12 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง และมีผู้เสียชีวิตถึง 3 ราย

 

สิ่งที่ทีมวิจัยของเกรนาเคอร์ค้นพบ ไม่เพียงสมมุติฐานของโรคเท่านั้น หากแต่ยังพบด้วยว่า สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร

ศาสตราจารย์เกรนาเคอร์ระบุเอาไว้ในแถลงการณ์ของทีมวิจัยว่า สิ่งที่ต้องเน้นเป็นพิเศษก็คือ ใครก็ตามที่ได้รับวัคซีนตัวนี้ไปแล้ว 4 วัน มีอาการข้างเคียงอย่าง ปวดหัว, วิงเวียน หรือการมองเห็นผิดปกติไป

 

จากเดิม จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเลือดวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด

“มีคนน้อยมากๆ ที่อาจเกิดอาการแทรกซ้อนในทำนองนี้ขึ้นมา แต่ถึงจะเกิดขึ้น ตอนนี้เราก็รู้แล้วว่าจะรักษาอาการของผู้ป่วยเหล่านี้ได้อย่างไร” ศาสตราจารย์เกรนาเคอร์ระบุ

 

หากได้รับการวินิจฉัยโดยเร็ว ไม่ว่าโรงพยาบาลขนาดกลางที่ไหน ก็สามารถรักษาอาการนี้ได้

นายแพทย์โรเบิร์ต คลัมร็อธ รองประธานสมาคมเพื่อการวิจัยการเกิดลิ่มเลือดและการห้ามเลือด ในเยอรมนี ซึ่งนำเอางานวิจัยของศาสตราจารย์เกรนาเคอร์ มาทบทวนวิเคราะห์ แล้วจัดทำเป็น

ข้อเสนอแนะ สำหรับแนวทางการรักษาอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า พร้อมกับตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจเอาไว้หลายประการด้วยกัน

 

แรกสุดก็คือ เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเกิดลิ่มเลือดในผู้ได้รับวัคซีนของประเทศอังกฤษและเยอรมนีแล้ว ในประเทศหลังมีอัตราการเกิดสูงกว่ามาก

อังกฤษซึ่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้วมากกว่า 11 ล้านคน พบว่าเกิดเหตุนี้ขึ้นน้อยอย่างยิ่ง แต่กลับพบมากถึง 13 รายในเยอรมนีที่ฉีดวัคซีนไปเพียง 1.6 ล้านคนเท่านั้น

 

คลัมร็อธอธิบายว่า ในอังกฤษใช้วัคซีนตัวนี้กับผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ตรงกันข้ามกับเยอรมนีที่ใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 64 ปีลงมาตั้งแต่เริ่มแรก

“เราเชื่อว่าสมมุติฐานที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือ วัคซีนตัวนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันอัตโนมัติที่เกิดได้ยากอย่างยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดสารภูมิคุ้มกัน (แอนติบอดี) ที่เข้าไปทำปฏิกิริยากับเกล็ดเลือด ก่อให้เกิดการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เป็นลิ่มเลือดขึ้น” นายแพทย์คลัมร็อธระบุก่อนเสริมว่า สิ่งที่ทุกคนยังไม่รู้ก็คือ “ทำไม” สิ่งนี้ถึงได้เกิดขึ้น

 

เมื่อวินิจฉัยว่า ผู้ได้รับวัคซีนรายใดเกิดลิ่มเลือดขึ้นในร่างกาย นายแพทย์คลัมร็อธและทีมผู้เชี่ยวชาญของสมาคมฯ แนะนำว่า ผู้นั้นควรได้รับการรักษาด้วยการให้ยาเจือจางเลือด และให้การบำบัดด้วย “อิมมูโนโกลบูลิน” ซึ่งเป็นการบำบัดที่พุ่งเป้าไปจัดการกับแอนติบอดีที่ก่อให้เกิดปัญหาโดยตรง

 

ซึ่งในทางการแพทย์แล้วไม่ใช่เรื่องใหญ่โตแต่อย่างใด

ดังนั้น ปัญหาใหญ่ที่หลงเหลืออยู่ในเวลานี้ ไม่ใช่เรื่องของลิ่มเลือด หรือวีซีเอสทีอีกแล้ว

หากแต่เป็นเรื่องที่ว่า ทำอย่างไรถึงจะเรียกคืนศรัทธาและความเชื่อถือในวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากลับคืนมาต่างหาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง