รีเซต

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : โลกกับวัคซีนโควิด เมื่อจริยธรรมล้มเหลว!

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : โลกกับวัคซีนโควิด เมื่อจริยธรรมล้มเหลว!
มติชน
2 กุมภาพันธ์ 2564 ( 01:14 )
38
คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : โลกกับวัคซีนโควิด เมื่อจริยธรรมล้มเหลว!

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก ทะลุผ่านหลัก 100 ล้านคนไปเมื่อไม่นานมานี้ ไปกว่านั้น เชื้อกลายพันธุ์อีกอย่างน้อย 3 สายพันธุ์ ที่ไม่เพียงแพร่ระบาดเร็วกว่าเดิม ยังเป็นไปได้ว่าอาจถึงตายได้มากกว่าเดิม ปรากฏให้เห็นทั้งในบราซิล แอฟริกาใต้ และอังกฤษ

แนวโน้มของวิกฤตโควิดในยามนี้ยังคงเป็นไปในทิศทางที่ย่ำแย่และเลวร้ายมากกว่าวิกฤตด้านสาธารณสุขครั้งไหนๆ ที่โลกเคยพานพบมา

 

ในท่ามกลางการแพร่ระบาด การเสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ทบทวีมากขึ้นทุกวัน ความหวังเพียงหนึ่งเดียวของคนทั้งโลกอย่าง “วัคซีน” ก็เกิดขาดแคลน กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่อันตรายอย่างยิ่งแทรกซ้อนตามมา

ชาติตะวันตกที่มั่งคั่ง กำลังเปิดศึกแย่งชิงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งกันและกันอย่างน่าเกลียด ไม่แม้แต่จะชายตาเหลือบดูความเป็นจริงที่ว่าชาติกำลังพัฒนาอีกหลายชาตินัก ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว

 

ผลการศึกษาสถานการณ์วัคซีนของโลกจากหลายแหล่งวิชาการ พบตรงกันว่าชาติกำลังพัฒนาเหล่านั้นอาจได้รับวัคซีนล่าช้าออกไป ไม่ใช่เพียงเดือนสองเดือน หากแต่เป็นปีและหลายปี

หากทุกอย่างเป็นไปตามคาดการณ์ตามผลการศึกษาเหล่านี้ อะไรจะเกิดขึ้นตามมา?

 

คำตอบง่ายๆ ก็คือว่าถึงที่สุดแล้ว ทุกคนในทุกชาติ จะเผชิญกับความเจ็บปวดจากโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีกครั้งในอีกไม่ช้าไม่นาน

ความเจ็บปวดทั้งในรูปของการแพร่ระบาดที่ถูกยืดให้เนิ่นช้าออกไปอีก เศรษฐกิจโลกจะถดถอยต่อเนื่องนานออกไป ซึ่งในที่สุดจะก่อให้เกิดความไม่สงบ และความรุนแรงที่จะแพร่ระบาดออกไปอย่างรวดเร็ว ไม่ต่างจากไวรัสร้าย

 

ตราบใดที่เหล่าบรรดาชาติเศรษฐี มหาเศรษฐีทั้งหลายยังไม่เหลือบมองไปยังซอกมุมที่ยากจนของโลก ตราบนั้นวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ ก็จะยังดำรงอยู่ต่อไป

 

ถึงตอนนั้นคิดเสียใจก็อาจสายเกินไป!

สหรัฐอเมริกาอาศัยความได้เปรียบในฐานะชาติเจ้าของเทคโนโลยีและเงินทุนในการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างวัคซีนของ ไฟเซอร์-ไบออนเทค และ โมเดอร์นา ส่งผลให้สามารถกักตุนวัคซีนวัคซีนโควิดเอาไว้ได้เป็นจำนวนมาก

กระนั้น การขาดแคลนก็ยังปรากฏให้เห็น ส่วนหนึ่งอาจเกิดขึ้นจากปัญหาในการเตรียมการและการวางแผนกระจายวัคซีน ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์บางรัฐไม่ได้รับวัคซีน ในขณะที่อีกบางรัฐมีวัคซีนเหลือเฟือ จนทำให้เกิดภาพต้องไล่หาคนที่เต็มใจจะฉีด มาไล่ฉีดให้ได้ในช่วงท้ายๆ ของวัน เพื่อป้องกันไม่ให้วัคซีนที่เบิกออกมาแล้วหมดอายุ เสื่อมสภาพไปโดยเปล่าประโยชน์

 

แต่ในอีกทางหนึ่ง ปัญหาของสหรัฐอเมริกา ก็สะท้อนให้เห็นว่า ผู้พัฒนาและผลิตวัคซีนเพียง 1-2 ราย ไม่มีขีดความสามารถเพียงพอต่อการผลิตออกมาเป็นจำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อรองรับความต้องการมหาศาลได้ แม้แต่ในประเทศเพียงประเทศเดียวก็ตาม

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีใหม่หมาดถึงกับต้องประกาศดำเนินความพยายามเยี่ยงเดียวกับในยามสงคราม เพื่อให้ได้วัคซีนจากทั้งสองผู้ผลิตเพิ่มขึ้นอีกบริษัทละ 100 ล้านโดส

 

แต่แม้จะได้วัคซีนเพิ่มตามที่ต้องการ โครงการวัคซีนอเมริกันก็ต้องล่าช้าออกไป เช่นเดียวกับความคาดหวังว่าจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ ก็ต้องรอนานออกไปอีกหลายเดือน จนถึงปลายปีนี้

ปัญหาในภาคพื้นยุโรปแตกต่างออกไป อัตราการฉีดวัคซีนให้กับประชากรที่นั่นต่ำกว่าในสหรัฐอเมริกาอยู่มาก สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเมื่อ แอสตร้าเซนเนก้า ประกาศว่าจะลดการจัดส่งวัคซีนของตนตามสัญญากับสหภาพยุโรป (อียู) ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ลงจากที่เคยตกลงกันไว้แต่เดิม 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะเกิดปัญหาในแหล่งผลิตของบริษัท

 

ความกราดเกรี้ยวของอียูก็ระเบิดตูมตามออกมา ตีความเอาว่า บริษัทจงใจเบี้ยวสัญญา ลดการจัดส่งให้อียูลง เพื่อให้สามารถนำวัคซีนส่วนนั้นไป “เมกมันนี่” ในที่อื่น

แม้ไม่ได้ระบุชื่อประเทศออกมาโดยตรง แต่ก็เข้าใจกันได้ในทีว่า ตัวแทนของอียูหมายถึงประเทศอังกฤษ ซึ่ง ณ เวลานั้น กลายเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนของประชากรได้รับวัคซีนสูงที่สุดในภาคพื้นยุโรป

 

ในขณะที่ชาติสมาชิกอียูหลายชาติ ยังไม่สามารถเริ่มการฉีดวัคซีนได้เลยด้วยซ้ำไป

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า วัคซีนโควิดสามารถกลายเป็นเงื่อนปมทางการเมือง เป็นความสำเร็จหรือล้มเหลวในทางการเมืองอย่างเฉียบพลันได้อย่างไร

 

วัคซีนอาจกลายเป็นความผิดหวังสุดอันตรายได้ในชั่วพริบตา

แต่ปัญหาในชาติตะวันตกยังถือเป็นเรื่องกระจ้อยร่อย เมื่อเทียบกับสถานการณ์ในประเทศกำลังพัฒนา รายงานประเมินสถานการณ์ของ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิท (อีไอยู) ชี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาติมั่งคั่งเหล่านี้ ก่อให้เกิดการล่าช้ากว่าที่คาดไว้เดิมในโครงการวัคซีนเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น

อีไอยู ประเมินว่า สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, อิสราเอล และสหภาพยุโรป จะสามารถบรรลุถึงการฉีดวัคซีนให้กับประชากรของตนเองในระดับ “กว้างขวาง” ได้ภายในสิ้นปี 2021 นี้

 

ในทางตรงกันข้าม ชาติกำลังพัฒนาไม่ได้มีโชคแบบเดียวกันนี้ ในรายงานชิ้นนี้ ระบุว่า ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ 84 ชาติยากจนที่สุดของโลก ไม่มีทางได้รับวัคซีนในจำนวนที่เพียงพอต่อการสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” หรือ “เฮิร์ดอิมมูนิตี” ได้จนกว่าจะถึงปี 2024 โน่น

ไซริล รามาโฟซา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ เรียกสถานการณ์ในเวลานี้ว่า เกิดจากความแตกตื่นตกใจในการให้การคุ้มครองประชาชนของตนเอง จนทำให้ชาติร่ำรวยทั้งหลายหันมา “กักตุน” วัคซีนกันชนิดไม่คิดหน้าคิดหลังใดๆ

 

ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า นี่คือ “ความล้มเหลวทางจริยธรรมในระดับหายนะ”

นั่นเนื่องเพราะ โดยข้อเท็จจริงแล้ว บรรดาประเทศเหล่านี้ ทำสัญญาจัดซื้อวัคซีนกับผู้ผลิตต่างๆ เอาไว้มากเกินพอแล้วด้วยซ้ำไป

 

อียูทำสัญญาจัดซื้อวัคซีนโควิดเอาไว้มากมายชนิดที่สามารถฉีดให้กับประชากรทุกคนในอียูได้ถึง 2 รอบ

สหรัฐอเมริกาจัดการ “ล็อก” ผลผลิตของบริษัทต่างๆ เอาไว้คิดเป็นปริมาณสูงกว่าที่จำเป็นต้องใช้ถึง 4 เท่าตัว

แคนาดาคือชาติที่กักตุนวัคซีนในนัยนี้เอาไว้มากที่สุดในโลก ปริมาณที่ทำสัญญาไว้ สามารถนำไปฉีดให้กับประชากรทุกคนได้มากถึง 5-6 รอบด้วยกัน

 

โคแวกซ์ โครงการวัคซีนโควิดของโลกที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างอนามัยโลกกับองค์กรไม่แสวงกำไรจำนวนมาก เพื่อให้เกิดการกระจายวัคซีนในราคาที่เป็นธรรมให้ได้เร็วที่สุด กลับไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ

จนถึงเดือนธันวาคม 2020 โคแวกซ์ยังขาดเงินทุนตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ถึง 4,300 ล้านดอลลาร์

 

เป้าหมายของโคแวกซ์ในการจัดซื้อวัคซีน 2,000 ล้านโดส เพื่อให้เพียงพอต่อการฉีดให้กับ “กลุ่มเสี่ยงสูงสุด” ที่อยู่ในสัดส่วนราว 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในแต่ละประเทศ ให้ได้รวม 180 ประเทศที่เป็นสมาชิก ภายในสิ้นปี 2021 นี้ อาจต้องล่าช้าออกไปไม่มากก็น้อย

 

นี่คือความล้มเหลวทางจริยธรรมในระดับโลกอย่างแท้จริง

ความล้มเหลวครั้งนี้ ไม่เพียงก่อให้เกิดผลลบเชิงจริยธรรมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังส่งผลในทางปฏิบัติ ซึ่งในที่สุดผลเสียหายร้ายแรงก็จะหวนกลับมาเกิดกับชาติมั่งคั่งทั้งหลายตามไปด้วย

แรกสุด การกักตุนวัคซีนซึ่งส่งผลให้หลายๆ ประเทศยากจนไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ จะทำให้การแพร่ระบาดยืดเยื้อออกไปอีก

เชื้อโคโรนาไวรัส ยิ่งแพร่อยู่ในหมู่มนุษย์ยาวนานเท่าใด โดยเฉพาะเป็นการแพร่ชนิดที่ไม่มีใครใส่ใจใดๆ ยิ่งเปิดโอกาสให้เชื้อร้ายสามารถวิวัฒนาการ กลายพันธุ์ออกไปได้มากขึ้นเท่านั้น

 

และยิ่งกลายพันธุ์มากขึ้น สายพันธุ์ย่อยที่วิวัฒนาการขึ้นมาใหม่ ยิ่งอันตรายมากยิ่งขึ้น และเสี่ยงสูงมากขึ้นต่อการทำให้วัคซีนที่พัฒนามาใช้กันในเวลานี้ ไร้ประโยชน์ โดยสิ้นเชิง

เวลคัม ทรัสต์ มูลนิธิด้านสุขภาพในอังกฤษ เตือนทั้งโลกเอาไว้ว่า “เราไม่สามารถปล่อยทิ้งให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของโลกไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ เพราะโรคจากพื้นที่นั้นในที่สุดก็จะวนกลับมาหาเราอีกครั้ง”

 

ประการที่สอง สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (เอ็นบีอีอาร์) ของสหรัฐอเมริกา เตือนเอาไว้ว่า การกระจายวัคซีนไม่สม่ำเสมอ และเกิดการเหลื่อมล้ำขึ้นทั่วโลก จะส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งโลกสูญเสียประโยชน์คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์

ส่วนใหญ่เกิดจากความต้องการของผู้บริโภคถูกกดต่ำไว้ และปัญหาที่เกิดขึ้นกับห่วงโซ่การผลิตหรือซัพพลายเชน ที่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติเพราะการแพร่ระบาดที่จะยังคงอยู่ เพราะความเหลื่อมล้ำในการกระจายวัคซีน

 

และอย่าคิดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นแต่เฉพาะประเทศที่ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนและยังมีการระบาดอยู่เท่านั้น เพราะเอ็นบีอีอาร์ชี้ชัดไว้ว่า ครึ่งหนึ่งของจำนวน 9 ล้านล้านดอลลาร์นั้น เป็นการสูญเสียที่เกิดขึ้นในประเทศมั่งคั่งทั้งหลาย แม้ว่าจะสามารถฉีดวัคซีนให้กับคนของตนได้ทั่วถึงแล้วก็ตาม

ทาริค กานี หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ของอินเตอร์เนชันแนล ไครซิส กรุ๊ป เตือนเอาไว้อีกอย่างเป็นประการที่ 3 ว่า การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อออกไป อาจกลายเป็นเครื่องบั่นทอนความมั่นคงปลอดภัยของทั้งโลก เนื่องจากสถานการณ์ไม่สงบ ไร้เสถียรภาพในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น เบอร์กินา ฟาโซ, ไนจีเรีย หรือซูดาน จะทะลักล้นข้ามพรมแดนมายังชาติมั่งคั่งที่พัฒนาแล้วทั้งหลายในที่สุด

 

ด้วยเหตุนี้ ในทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่ง คำถามสำคัญที่ต้องถามกันในเวลานี้ ไม่ใช่คำถามที่ว่า ชาติที่มั่งคั่งทั้งหลายควรให้ความช่วยเหลือชาติกำลังพัฒนาและชาติยากจนทั้งหลายให้ได้รับวัคซีนหรือไม่ แต่เป็นคำถามที่ว่าจะช่วยพวกเขาเหล่านั้นอย่างไร ต่างหาก

ความเห็น แตกออกเป็นหลายทาง ตั้งแต่เรื่องการยกหนี้สินให้กับประเทศเหล่านั้น ไปจนถึงการให้การสนับสนุนโคแวกซ์

 

แต่นักเศรษฐศาสตร์อย่าง อาร์นัภ อัจฉริยะ และ สัญชัย จี. เรดดี้ นำเสนอแนวทางที่น่าจะได้ผลที่สุดโดยเร็วที่สุด ทั้งยังจะเอื้อประโยชน์ให้กับชาติมั่งคั่งทั้งหลายอีกด้วย

นั่นคือ การยกเลิกสิทธิบัตรวัคซีนทั้งหลายที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลและปลอดภัย เพื่อปลดล็อกให้ชาติกำลังพัฒนานำเอาสูตรวัคซีนเหล่านั้นมาผลิตใช้เอง หรือจำหน่ายในราคาถูก ในปริมาณมาก เพื่อให้เกิดการเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงทั้งโลก

 

โดยที่ชาติเศรษฐีที่มั่งคั่งทั้งหลาย เป็นผู้จ่ายเงินชดเชยต้นทุนในการพัฒนาและชดเชยมูลค่าที่แต่ละบริษัทสูญเสียไปภายใต้กระบวนการนี้

เป็นเงินไม่ใช่น้อยๆ แน่นอน แต่หากคิดว่าจะเอาชนะสงครามกับโควิดให้ได้โดยเร็วและเบ็ดเสร็จก็ต้องทำครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง