รีเซต

ไอเอ็มเอฟชี้โลกก่อหนี้ท่วมหัว สูงถึง 226 ล้านล้านดอลลาร์

ไอเอ็มเอฟชี้โลกก่อหนี้ท่วมหัว สูงถึง 226 ล้านล้านดอลลาร์
มติชน
16 ธันวาคม 2564 ( 16:38 )
48

ข่าววันนี้ เอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยแพร่รายงานผ่านเว็บไซต์ระบุว่า เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมาปริมาณหนี้สินทั่วโลกรวมกันเพิ่มสูงขึ้นเป็น 226 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับการเพิ่มต่อปีที่สูงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 256 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของโลก

 

สัดส่วนของหนี้สินที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดก็คือหนี้ภาครัฐ ซึ่งพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับจีดีพี คืออยู่ที่ 99 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีแล้ว โดยหนี้ในส่วนนี้คิดเป็นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณหนี้ทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ทำสถิติเป็นสัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อปริมาณหนี้รวมทั้งหมดของโลกนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1960 อีกด้วย

 

อย่างไรก็ตามไอเอ็มเอฟระบุว่า ส่วนที่เป็นหนี้ครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกันไอเอ็มเอฟระบุปัจจัยหลักในการก่อหนี้ภาครัฐของรัฐบาลต่างๆว่า เป็นไปตามนโยบายตอบสนองต่อวิกฤตทั้งวิกฤตโควิดในปี 2020 และวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2008 ในปีที่ผ่านมารัฐบาลจำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อนำมารักษาตำแหน่งงานและหลีกเลี่ยงกระแสการล้มละลาย โดยหากรัฐบาลไม่ดำเนินการ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิดจะร้ายแรงกว่าที่เป็นอยู่หลายเท่า

 

อย่างไรก็ตาม ภาวะหนี้สูงก็จะก่อให้เกิดความเปราะบางเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อสภาวะทางการเงินเข้มงวดมากขึ้น จำกัดความสามารถของรัฐบาลในการกำหนดนโยบายสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และจำกัดศักยภาพในการลงทุนของภาคเอกชนในระยะปานกลาง

 

ข้อมูลของไอเอ็มเอฟระบุว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของหนี้ที่เพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว เป็นหนี้ของชาติที่มั่งคั่ง ทั้งที่เป็นหนี้ภาครัฐและหนี้ภาคเอกชน ในขณะที่ชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่และชาติกำลังพัฒนารายได้ต่ำก่อหนี้เฉลี่ยแล้วไม่ถึงชาติละ 1 ล้านล้านดอลลาร์

 

ทางด้านนายเจอโรม เพาเวลล์ ประธานกองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา ประกาศแนวนโยบายใหม่ เร่งยกเลิกมาตรการกระตุ้นรองรับวิกฤตให้เร็วขึ้น เพื่อให้สิ้นสุดในเดือนมีนาคมปีหน้า และจะเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตั้งแต่พฤษภาคมเป็นต้นไป โดยคาดว่าอย่างน้อยจะปรับขึ้น 3 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่ถีบตัวสูงขึ้นและกระทบต่อราคาของสินค้าทุกอย่างตั้งแต่รถยนต์, เคหสถาน, อาหารและอื่นๆ

 

เฟด มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่ง อันเป็นผลมาจากความรุดหน้าในการฉีดวัคซีนทำให้สามารถเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ในขณะที่อุปสงค์โดยรวมยังแข็งแกร่งแม้จะมีข่าวการแพร่ระบาดของโอไมครอนก็ตาม

 

ความเคลื่อนไหวของเฟด ได้รับการตอบรับด้วยดีจากตลาดหลักทรัพย์ ส่งผลให้ดัชนีทุกตัวปรับตัวสูงขึ้น ส่งอิทธิพลต่อเนื่องมายังตลาดเอเชียโดยรวมในเวลาต่อมาอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง