รีเซต

หมอทวีทรัพย์ เปิดสูตรคำนวณผล "ซิโนแวค" ป้องกันสายพันธุ์ "อัลฟา" ได้ 90%

หมอทวีทรัพย์ เปิดสูตรคำนวณผล "ซิโนแวค" ป้องกันสายพันธุ์ "อัลฟา" ได้ 90%
ข่าวสด
22 กรกฎาคม 2564 ( 18:15 )
132

ข่าววันนี้ จากกรณีมีการตั้งคำถามถึงสูตรคำนวณประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวคจากการใช้จริงของประเทศไทยในพื้นที่ภูเก็ตที่ป้องกันติดเชื้อ 90.7% สมุทรสาคร 90.5% เชียงรายป้องกันติดเชื้อ 88.8% ป้องกันปอดอักเสบ 84.9%

 

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2564 นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชี้แจงถึงวิธีคิดการศึกษาประสิทธิผลวัคซีนโควิด 19 ที่ใช้จริงในประเทศไทย ว่า เป็นการศึกษาในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในภูเก็ต สมุทรสาคร และเชียงราย ช่วง เม.ย. - มิ.ย. 2564 ใช้สถิติเฉพาะทางระบาดวิทยามาคำนวณ เปรียบเทียบอัตราส่วนของการเป็นโรคกับไม่เป็นโรคในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนกับไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือ Odds Ratio : OR พบผลการศึกษาดังนี้

 

จ.ภูเก็ต ติดตามกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงจำนวน 1,541 ราย พบติดเชื้อ 124 ราย แบ่งเป็นรับวัคซีน 2 เข็ม 1 ราย, ไม่ได้ฉีด 111 ราย และรับ 1 เข็ม 12 ราย และกลุ่มไม่ติดเชื้อ 1,417 ราย รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 99 ราย, ไม่ได้รับวัคซีน 1,027 ราย และฉีด 1 เข็ม 291 ราย คิดเป็นอัตรา Odd ratio คือ (1/111) / (99/1,027) = 0.0935 คำนวณประสิทธิผลวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ (1-0.0935) x 100 = 90.65%

 

 

 

จ.สมุทรสาคร กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง 490 ราย พบติดเชื้อ 106 ราย แบ่งเป็นรับวัคซีนครบ 2 เข็ม 1 ราย, ไม่ได้รับวัคซีน 105 ราย และกลุ่มไม่ติดเชื้อ 384 ราย แบ่งเป็นรับวัคซีนครบ 2 เข็ม 35 ราย, ไม่ได้รับวัคซีน 349 ราย คิดเป็นอัตรา Odd ratio คือ (1/105) / (35/349) = 0.095 คำนวณประสิทธิผลวัคซีน (1-0.095) x 100 = 90.5%

 

 

จ.เชียงราย ศึกษาในบุคลากรสาธารณสุขจำนวน 413 คน พบติดเชื้อ 40 คน แบ่งเป็นรับซิโนแวค 2 เข็ม 24 ราย, รับแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม 5 ราย, ไม่ได้รับวัคซีนเลย 11 ราย และกลุ่มไม่พบเชื้อ 373 คน แบ่งเป็นได้รับซิโนแวค 2 เข็ม 312 ราย, รับแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม 45 ราย และไม่ได้รับวัคซีน 16 ราย คิดอัตรา Odd ratio ของซิโนแวค คือ (24/11) / (312/16) = 0.1118 คำนวณประสิทธิผลซิโนแวคป้องกันติดเชื้อ (1-0.1118) x 100 = 88.8% ส่วนแอสตร้าเซเนก้า 1 เข็ม คิดอัตรา Odd Ratio คือ (5/11) / (45/16) = 0.1616 ค่าประสิทธิผล คือ (1-0.1616) x 100 = 83.8%

 

ส่วนกรณีปอดอักเสบ พบว่าบุคลากรที่ติดเชื้อ 40 คน มีปอดอักเสบ 6 คน แบ่งเป็นรับซิโนแวคครบ 2 เข็ม 4 คน, ไม่ได้รับวัคซีน 2 คน และกลุ่มไม่พบปอดอักเสบ 407 คน แบ่งเป็นรับซิโนแวค 332 คน, แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม 50 คน และไม่ได้รับวัคซีน 25 คน อัตรา Odds Ratio คือ (4/2) / (332/25) = 0.1506 คำนวณประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวคป้องกันปอดอักเสบ คือ (1-0.1506) x 100 = 84.9%

 

 

“โดยสรุปการฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม สามารถป้องกันติดเชื้อจากสายพันธุ์อัลฟาได้ประมาณ 90% ป้องกันปอดอักเสบ 85% สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ป้องกันติดเชื้ออัลฟาได้ 84% ทั้งนี้ หากพบอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้าน” นพ.ทวีทรัพย์กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง