BBL เอาไงต่อ? เผชิญแรงกดดัน! NPL รีเทิร์น-ค่าเงินอินโดฯ ผันผวน

#ทันหุ้น - บล.เคจีไอ ส่องหุ้น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL การดำเนินงานจะเผชิญความท้าทายจาก NPL ที่กลับมาใหม่จากสินเชื่อปรับโครงสร้างไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามแผน และทำให้กลับมาเป็น NPL นอกจากนี้ ความผันผวนของค่าเงินอินโดนีเซียจะเพิ่มแรงกดดันต่อผลขาดทุน จากการแปลงสกุลเงินของธนาคารในอินโดนีเซียเป็นเงินบาท ซึ่งเป็นรายการทางบัญชีที่จะบันทึกใน Q1/68F และจะกระทบกับมูลค่าทางบัญชี และ Tier I ด้วย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความเสี่ยงระยะสั้นแล้ว ฝ่ายวิจัยจึงปรับลดประมาณการมูลค่าทางบัญชีของ BBL และ de-rate PBV เหลือ 0.55x (จาก 0.6x) ทำให้ได้ราคาเป้าหมายปี 2568F ใหม่ที่ 170 บาท และ ปรับลดคำแนะนำ จากซื้อเป็นถือ
NPL แกว่งขึ้น มีสัญญาณว่า NPL ที่ลดลงใน Q4/67 จะไม่ลงต่อใน Q1/68F โดยใน Q4/67 BBL บริหารจัดการให้ NPL ลดลงไปได้มากเกือบ 2 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 17% QoQ จากโครงการปรับโครงสร้างหนี้ และมีปรับชั้นลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวเป็นหนี้กลุ่ม stage 2 อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีลูกหนี้จำนวนหนึ่งไม่สามารถชำระหนี้ตามเกณฑ์ใหม่สามเดือนติดต่อกัน ทำให้มีสินเชื่อไหลกลับไปเป็น NPL อีกครั้งใน Q1/68
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยคาดว่ากลุ่มหนี้ที่ไหลกลับลงมาเป็น NPL จะอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาทใน Q1/68F (+14% QoQ) ดังนั้น NPL coverage จึงจะลดลงจาก 334% ใน Q4/67 เหลือ 298-300% ใน Q1/68F ซึ่งสถานการณ์นี้ถือเป็นความท้าทายต่อแผนการลดคชจ.สำรองฯ (credit cost) ที่แบงก์ตั้งเป้าไว้ที่ 90-100bps ในปี 2568F (จาก 128bps ในปี 2567) ทั้งนี้เราใช้สมมติฐานคชจ.สำรองฯที่ 110bps
ความผันผวนของค่าเงินอินโดนีเซียเป็นแรงกดดันเชิงลบต่อ BBL ความผันผวนของค่าเงินอินโดนีเซียในช่วงนี้ และภาวะเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่สั่นคลอนอาจจะส่งผลกระทบกับ BBL ได้ เพราะการอ่อนค่าของสกุลเงินอินโดนีเซียอาจจะทำให้ BBL ต้องบันทึกผลขาดทุนจากการแปลงค่าเงินของธนาคารที่อินโดนีเซียมาที่ BBL ในรูปเงินบาท ซึ่งจะกระทบกับมูลค่าทางบัญชีใน Q1/68
ทั้งนี้ เนื่องจากผลขาดทุนจากการแปลงสกุลเงินเป็นส่วนหนึ่งของสัดส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier I ratio) ดังนั้น ผลขาดทุนทางบัญชีรายการนี้จึงสร้างแรงกดดันต่อ Tier I ทั้งนี้ BBL บันทึกผลขาดทุนจากการแปลงสกุลเงินจำนวนมากในปี 2567 แต่ยังมีกำไรจากการลงทุนในตราสารหนี้ และตราสารทุนมาช่วยชดเชย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตลาดหุ้นปรับตัวลง ฝ่ายวิจัยกังวลว่ากำไรจากตราสารหนี้อาจจะไม่มากพอที่จะชดเชยผลขาดทุนจากการแปลงสกุลเงิน และ ผลขาดทุน FVTPL จากการลงทุนในหุ้นใน Q1/68F
ปรับลดราคาเป้าหมายปี 2568F เหลือ 170 บาท จากการ de-rate PBV และปรับลดคำแนะนำเป็นถือ ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการกำไรเอาไว้เท่าเดิม แต่ปรับสมมติฐานภายใน โดยปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลง 3% ซึ่งจะไปชดเชยกำไร FVTPL ที่ลดลงในจำนวนเท่า ๆ กัน นอกจากนี้ ยังปรับลดมูลค่าทางบัญชีลงเหลือ 310 บาท (จาก 313 บาท) เพื่อสะท้อนถึงผลขาดทุนจากการแปลงสกุลเงินที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้น ฝ่ายวิจัยจึงยังคงสมมติฐานอัตราการขยายตัวของสินเชื่อปี 2568F/2569F ไว้ที่ +2%/+5%, NIM ที่ 2.8%/2.9% และ credit cost ที่ 110bps/104bps ตามลำดับ ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย de-rate PBV เหลือ 0.55x (จาก 0.6x) ทำให้ได้ราคาเป้าหมายปี 2568F ใหม่ที่ 170 บาท ดังนั้น จึงปรับลดคำแนะนำเป็นถือ
Risks NPLs และ credit cost เพิ่มขึ้น, ผลขาดทุน FVTPL.