รีเซต

สบน.ออกพันธบัตรส่งเสริมยั่งยืนครั้งแรก ยอดจองซื้อพุ่ง 2.76 เท่า

สบน.ออกพันธบัตรส่งเสริมยั่งยืนครั้งแรก ยอดจองซื้อพุ่ง 2.76 เท่า
ทันหุ้น
27 พฤศจิกายน 2567 ( 11:44 )
6

สบน.โชว์ยอดออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืนครั้งแรก นักลงทุนเสนอซื้อเกินเป้าหมายกว่า 2.76 เท่า หรือ 5.5 หมื่นล้าน จากวงเงินที่เสนอขาย 3 หมื่นล้านบาท

 

#ทันหุ้น นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า การระดมทุนพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond: SLB) ครั้งแรกในประเทศไทย ได้รับความสนใจจากนักลงทุนในประเทศ และต่างประเทศอย่างล้นหลาม โดยนักลงทุนมีการเสนอวงเงินซื้อพันธบัตรรวมทั้งสิ้น 55,285 ล้านบาท จากกรอบวงเงินที่สบน.วางไว้ 30,000 ล้านบาท ถือว่า ความต้องการสูงกว่าวงเงินที่วางไว้ถึง 2.76 เท่า

 

เดิมเราประมาณการณ์ว่าจะออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน วงเงิน 20,000-30,000 ล้านบาท เมื่อพบว่านักลงทุนแสดงความสนใจอย่างล้นหลาม จึงเปิดจำหน่ายเต็มกรอบวงเงิน 30,000 ล้านบาท ทั้งนี้ส่งผลให้สบน. ได้การระดมทุนที่ต้นทุนดอกเบี้ยต่ำ อยู่ที่ 2.70% จากต้นทุนดอกเบี้ยในตลาดอยู่ที่2.73%”

 

ทั้งนี้ ในการระดมทุนพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน มีนักลงทุนสถาบันในไทยกว่า 90% และยังมีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาด้วย ซึ่งเป็นผลจากการสำรวจความต้องการลงทุน (Book Build) ในพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ต่างชาติมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจพื้นฐานไทย ตามนโยบายของรัฐบาล ประกอบกับฟิตซ์ เรตติ้ง ได้คงอันดับสถานะไทย BBB+ จึงเป็นอีกส่วนที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่น

 

นายพชร กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะกองทุนใหญ่ๆ ยังแสดงความสนใจการออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Bond : FCY) อย่างไรก็ตาม สบน. จะต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยของไทย และต่างประเทศยังห่างกันถึงเท่าตัว ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนในการระดมทุนของรัฐบาล

 

อย่างไรก็ดี หากในอนาคตการระดมทุนในประเทศมีข้อจำกัด สบน. ก็จะมีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวแต่ตามกฎหมายของสบน. การออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศ จะต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ไม่สามารถระบุในแผนกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้ ฉะนั้น จะต้องพิจารณารายละเอียดส่วนนี้ด้วย

 

สำหรับพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน มีอายุ 15 ปี ระดมทุนเพื่อการกู้ชดเชยขาดดุล ในปีงบประมาณ2568 โดยวางเงื่อนไขไว้ว่า

 

1.รถอีวีจดทะเบียน ในปี 2030 จำนวน 4.4 แสนคัน หากสามารถทำได้ตามเป้าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรลง 0.025% หากทำได้ตามเป้าจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.025%

2. การปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เกิน 388.5 ล้านตันคาร์บอน ในปี 2030 หากสามารถทำได้ตามเป้าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรลง 0.025% หากทำได้ตามเป้าจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.025%

 

ทั้งนี้ สบน. จะดำเนินการทางด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนของรัฐบาลไทย โดยในช่วงปลายปี .. 2567 นี้ สบน. มีแผนที่จะดำเนินการออกSustainability Loan เพื่อระดมทุนในการสนับสนุนโครงการขนส่งพลังงานสะอาด และจะดำเนินหน้าที่ในการสนับสนุนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนของไทยให้เติบโตยิ่งขึ้นไป

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง