รีเซต

ตรัง หมอนยางพารากระทบหนักจากสถานการณ์โควิด

ตรัง หมอนยางพารากระทบหนักจากสถานการณ์โควิด
77ข่าวเด็ด
17 เมษายน 2563 ( 00:50 )
78
ตรัง หมอนยางพารากระทบหนักจากสถานการณ์โควิด

สหกรณ์กองทุนสวนยางผู้ผลิตหมอนยางพารา ในสังกัดการยางแห่งประเทศไทย กระทบหนักจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยตลาดหลักคือ ประเทศจีนยกเลิกออร์เดอร์การสั่งซื้อ ส่วนลูกค้าภายในประเทศก็ยกเลิกออร์เดอร์เช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ผลิตหมอนยางพาราที่มีในประเทศประมาณ 40 แห่ง ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน มีสินค้าค้างอยู่ในสต๊อกไม่ต่ำกว่า 100,000 ใบ วอนภาครัฐเร่งช่วยเหลือ เช่น พักหนี้เงินกู้ หรือช่วยหาตลาดเพื่อระบายสินค้า พร้อมขายในราคาถูก เพื่อเอาทุนคืนจะได้มีเงินทุนมาหมุนเวียนในสหกรณ์ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

 

วันที่ 1ุ6 เมษายน 2563 ที่สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก สังกัดการยางแห่งประเทศไทย อ.รัษฎา จ.ตรัง ซึ่งเป็นสหกรณ์รายเดียวในจังหวัดตรังที่แปรรูปน้ำยางพาราเป็นหมอนยางพารา เพื่อจำหน่ายภายในประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศ นายมนัส หมวดเมือง ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก นำผู้สื่อข่าวไปดูโกดังจัดเก็บหมอนยางพาราที่ถูกลูกค้า ทั้งคนไทย และลูกค้าในประเทศจีนสั่งยกเลิกออร์เดอร์ที่สั่งซื้อ ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังเกิดสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 โดยเฉพาะลูกค้าประเทศจีน เพราะตลาดส่งออกหลักคือ ประเทศจีน ทั้งนี้ พบว่าหมอนยางพารามีค้างอยู่ในสต๊อกขณะนี้รวมประมาณ 3,700 ใบ มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท


โดยนายมนัส กล่าวว่า เดิมสหกรณ์ผลิตหมอนยางพาราไม่พอส่งขาย โดยเฉพาะยอดสั่งซื้อจากประเทศจีนเดือนละ 4,000 ใบ แต่นับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ถูกยกเลิกใบสั่งซื้อทั้งหมด นับเป็นวิกฤติที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ตั้งโรงงานมา ทั้งจากเชื้อโควิด และเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำมาก แปรรูปอะไรมาก็ส่งจำหน่ายไม่ได้ คนงานที่มี 6 คน ขณะนี้ ไม่มีงานทำ อาจจะหมุนเวียนกันมาทำเฉพาะที่คนสั่งซื้อที่นอนยางพาราเข้ามาเท่านั้น แต่น้อยมาก เพราะประสบปัญหาเดียวกัน ลูกค้ายกเลิกออร์เดอร์ ทำให้ต้องสลับกันมาทำงาน

 

ทั้งนี้ โรงงานผลิตหมอนยางพาราทั่วประเทศ ทั้งของคนไทย และของชาวต่างชาติมีรวมกันกว่า 40 แห่ง สินค้าค้างอยู่ในสต๊อกรวมแล้วมากกว่า 100,000 ใบ ประสบปัญหาเช่นเดียวกันทุกแห่ง แต่ที่กระทบหนักสุดจะเป็นธุรกิจประเทศ SME หรือธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก เพราะถ้าเป็นลูกค้ารายใหญ่ก็จะสั่งจากโรงงานใหญ่ ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า แม้ในวันข้างหน้าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ปัญหาของผู้ประกอบการหมอนยางพาราก็ยังคงมีอยู่ต่อ เพราะลูกค้าเดิมที่ซื้อไป ก็ต้องจำหน่ายของเดิม หรือบางรายก็ขาดทุนไปแล้ว ไม่มีเงินมาซื้อใหม่ ทางออกคือ จะต้องหาตลาด หาลูกค้าใหม่ แต่ก็ไม่ทราบว่าจะทำได้รวดเร็วแค่ไหน เพราะทุกคนก็ประสบปัญหาเดียวกัน โดยเฉพาะตลาดส่งออกจีน ก็ประสบปัญหาหนักเช่นกัน นอกจากนั้นก็ต้องหาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ทำสินค้าตัวใหม่ออกขาย


 

นายมนัส กล่าวอีกว่า จากปัญหาดังกล่าวนี้ สหกรณ์ผู้ผลิตหมอนยาง ในสังกัด กยท.ได้พยายามเสนอเรื่องไปยัง กยท.เพื่อขอความช่วยเหลือ โดย กยท.ก็รับปากว่าอาจจะช่วยเหลือโดยใช้วิธีรับจำนำหมอนยางพาราไว้ในราคาใบละ 200 บาท ซึ่งหากเรามีลูกค้าสามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าก็นำไปขายได้ แต่ขณะนี้ทาง กยท.จังหวัดตรัง และกยท.ส่วนกลาง ก็ยังเงียบ ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้แต่อย่างใด นอกจากนั้น ส่วนตัวก็ได้ทำหนังสือไปยังจังหวัดตรัง ทั้งผ่านสหกรณ์จังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง แล้ว ขอให้ช่วยเหลือด้วยการจัดหาพื้นที่จำหน่าย

 

 

ซึ่งตนเองก็พร้อมจะขายสินค้าที่มีอยู่ในสต๊อกทั้งหมด และยอมขาดทุน ในราคาต้นทุน คือ ใบละ 350 บาท จากราคาขายเดิม 550 บาท หรือหากเป็นราคาส่งจะขายในราคาใบละ 280 บาท เพื่อนำเงินมาหมุนเวียน แต่ทั้งนี้ ได้รับคำตอบว่ามีการประชุมในระดับจังหวัดโดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน แต่เรื่องก็เงียบอีกเช่นกัน จึงอยากเรียกร้องให้ กยท.แห่งประเทศไทย รวมทั้งจังหวัดตรัง หันมามองบ้าง ทั้งเรื่องการพักชำระหนี้ หรือให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย รวมทั้งให้จัดหาตลาดจำหน่ายสินค้าในราคาถูก ทางสหกรณ์ก็พร้อมจะทำ เพื่อจะได้ทำเงินมาหมุนเวียน หรือเป็นทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ต่อไป อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ทางสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก ได้รับเงินทุนช่วยเหลือมาจากการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง จำนวน 100,000 บาท เพื่อนำมาแปรรูปผลิตภัณฑ์ตัวใหม่คือ ทำหน้ากากอนามัย แต่ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่วนอื่นๆยังไม่มีช่องทางช่วยเหลือ


 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง