สังหารหมู่คนดำ 300 ศพ 'บาป' ที่อเมริกาพยายามปกปิด
TNN World
3 มิถุนายน 2564 ( 08:20 )
158
ข่าววันนี้ สังหารหมู่คนดำ 300 ศพ ‘บาป’ ที่อเมริกาพยายามปกปิด
คนดำ คือผู้ผิดเสมอในสายตาคนผิวขาว (เวลานั้น)
จุดเริ่มต้นสังหารหมู่ทางเชื้อชาติ ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ คือ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 1921 วัยรุ่นผิวดำ ‘ดิค โรว์แลนด์’ (Dick Rowland) ได้เข้าไปในลิฟต์ที่อาคาร Drexel ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานบนถนน เซาธ์ เมนสตรีท แต่อยู่ ๆ ซาราห์ เพจ (Sarah Page) แล้วสาวผิวขาว พนักงานประจำลิฟต์ ก็ส่งเสียงกรีดร้อง เอะอะโวยวายออกมา โรว์แลนด์รีบเผ่นหนีออกจากที่เกิดเหตุ ตำรวจถูกเรียกตัว แล้วเช้าวันรุ่งขึ้นก็สามารถจับกุมตัวโรว์แลนด์ไว้ได้
ข่าวลือว่าเกิดอะไรขึ้นบนลิฟต์อาคารนั้นแพร่สะพัดไปทั่วชุมชนคนผิวขาวของเมือง เรื่องราวบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ Tulsa Tribune ที่ออกตอนบ่ายวันนั้นรายงานว่า ตำรวจได้จับกุมโรว์แลนด์ ด้วยข้อหาล่วงละเมิดทางเพศนางสาวเพจ
ความจริงยังไม่ทันได้ถูกสอบสวน แต่ดูเหมือนคนผิวขาวก็ปักใจเชื่อ จนนำไปสู่จุดจบด้วยการ “สังหารหมู่คนผิวดำประมาณ 300 คน” กลายเป็นเรื่องที่อัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
ม็อบคนผิวขาว...เข่นฆ่าคนผิวดำ
ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 1921 หลังจากโรว์แลนด์ ชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา (African American) ถูกกล่าวหาว่า ล่วงละเมิดทางเพศสาวเพจ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่เคยมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง กลุ่มผู้ก่อจลาจล หรือม็อบคนผิวขาว ก็แสดงความป่าเถื่อนด้วยการออกอาละวาด เข่นฆ่าชาวผิวดำ ปล้นบ้าน และจุดไฟเผาอาคารธุรกิจหลังแล้วหลังเล่า
มีอาคารมากกว่า 1,000 หลังถูกเผาทำลายเหลือแต่ซาก ย่านกรีนวูด ที่ก่อนหน้านั้นเคยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของคนผิวดำที่รู้จักกันในนาม ‘วอลล์สตรีทดำ’ หรือ Black Wall Street ต้องพินาศย่อยยับกลายเป็นกองซากกรุ่นควันในชั่วไม่กี่ชั่วโมง
ห้องใต้ดินของโบสถ์เวอร์นอน เอเอ็มอี (Vernon AME Church) เป็นสิ่งปลูกสร้างเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่เหลืออยู่จากความเกรี้ยวกราดครั้งนั้น
300 ชีวิตที่ต้องสังเวยกับ ‘อคติสุดโต่ง’
โศกนาฏกรรมครั้งนี้ มีคนผิวดำถูกสังหารเสียชีวิตไปประมาณ 300 คน หลายพันคนไร้ที่อยู่อาศัยสิ้นเนื้อประดาตัว และชุมชนทั้งหมดที่เคยถูกมองอย่างภาคภูมิใจว่าเป็นสัญลักษณ์ความสำเร็จที่คนอเมริกันผิวดำเคยทำได้ ก็ถูกทำลายล้างแทบไม่เหลือซาก มีเสียงเรียกร้องหาความยุติธรรมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่เสียงแผ่ว ๆ ก็ปลิดปลิวไปตามสายลม
ขณะนี้ นักนิติมานุษยวิทยา ออกหน้าในการค้นหาเหยื่อฆ่าหมู่ทางเชื้อชาติในเมืองทัลซา รัฐโอกลาโฮมา สหรัฐอเมริกาในปี 1921 แล้ว เพิ่งเริ่มขยับหลังผ่านไป 100 ปี ม็อบคนขาวป่าเถื่อน ก่อเหตุจลาจลอย่างบ้าคลั่งในย่านคนผิวดำที่มั่งคั่งร่ำรวย การค้นหาศพกลายเป็นภารกิจส่วนตัวอย่างลึกซึ้งสำหรับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง
‘การสังหารหมู่ทางชาติพันธุ์ที่ทัลซา’
“งานของฉัน คือการทำให้กระดูกพูดได้” ดร.ฟีบี สทับเบิลฟิลด์ กล่าว
มันเป็นภารกิจระดับมืออาชีพและเป็นส่วนตัวสำหรับนักวิทยาศาสตร์การวิจัยที่มหาวิทยาลัยฟลอริดาผู้นี้
เมื่อ ‘การสังหารหมู่ทางชาติพันธุ์ที่ทัลซา’ (Tulsa Race Massacre) ในเมืองทัลซามาถึงวันครบรอบ 100 ปี ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2021 มันยังเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงทางเชื้อชาติครั้งเดียวที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
ท่ามกลางฉากหลังของการแบ่งแยกทางเชื้อชาติรุนแรง กลุ่มนิยมผิวขาวสุดโต่ง “คลู คลักซ์ แคลน” (Ku Klux Klan หรือ KKK) เข้ามาผสมโรง ร่วมชุมนุมและก่อเหตุรุมประชาทัณฑ์คนดำอย่างไม่ยำเกรงกฎหมาย และการกระทำย่ำยีผู้คนต่างผิวต่างเชื้อชาติแบบอื่นด้วยความรุนแรง
หลายสิบคน หรือไม่ก็หลายร้อยคน ถูกสังหาร และมีผู้บาดเจ็บอีกหลายพันคน บ้านเรือน ห้างร้านธุรกิจถูกปล้นและเผาทำลาย ภายในระยะเวลา 16 ชั่วโมง สิ่งที่เหลืออยู่ตรงหน้า คือกลุ่มควันและเศษซาก จากย่านคนดำที่มีฐานะร่ำรวย กลับตาลปัตร จากหน้ามือเป็นหลังมือ คนผิวดำจำนวนมากไร้บ้าน หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ความยากจนข้นแค้นเข้ามาแทนที่
ชำระประวัติศาสตร์ ‘เสื่อม’
ดร.ฟีบี สทับเบิลฟิลด์ ที่รับภาระหนักอึ้งในการสืบสวนหาข้อเท็จจริง กำลังทำงานร่วมกับนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี เพื่อพยายามที่จะค้นหาศพของเหยื่อตั้งแต่ปี 1998 มันเป็นกระบวนการที่ล่าช้า ระมัดระวังและน่าท้อแท้ผิดหวังบ่อยครั้ง การค้นหาล้มเหลว แต่ในที่สุด เมื่อสองปีก่อน พวกเขาได้พบพื้นที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสุสานโอ๊คลอว์น (Oaklawn Cemetery) ทางทิศเหนือของเมืองทัลซา ใกล้เขตกรีนวูด สถานที่เกิดเหตุสังหารหมู่
เรดาร์เจาะทะลุพื้นดินถูกนำมาใช้เพื่อสำรวจสุสานต้องสงสัยแห่งนี้ และในเดือนตุลาคม 2020 พวกเขาก็พบทั้งไม้โลงและกระดูกปะปนกันอยู่
“เพียงแค่พยายามขุด เราก็ไปกระแทกเข้ากับโลงศพ เราพบชิ้นส่วนกะโหลก และฉันเห็นสิ่งนั้นและฉันพูดว่า”
“เราได้พบที่ฝังศพของชายคนหนึ่งแล้ว ฉันคิดว่า เราพบพวกเขาแล้ว”
คนดำถูกฝังลืมมานับศตวรรษ
คณะสอบสวนพบโลงศพไม้ 12 โลง วางเรียงกัน มีซากศพมนุษย์ด้วย แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ คิดว่า อาจมีศพอีกจำนวนหนึ่งซุกซ่อนอยู่ที่นี่ นี่มันไม่ใช่แค่หลุมฝังศพเท่านั้น แต่มันคือหลุมศพขนาดใหญ่
เวลาล่วงเลยมา 100 ปี มีความคืบหน้าในการค้นหาความจริง ไปนิดเดียว....
ดร.สทับเบิลฟิลด์ หวังว่าจะตรวจสอบซากศพมนุษย์ในโลงที่พบในสุสานแห่งนี้ แต่พวกมันเปราะบาง และการตัดสินใจวิเคราะห์จำเป็นต้องดำเนินการในที่ร่ม ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่มีการควบคุมสภาพอากาศ
ขณะนี้ ศพเหล่านี้จะถูกขุดขึ้นมาในเดือนมิถุนายนนี้ เมื่อเธออาสาเข้ามาศึกษาศพเหล่านี้ ดร.สทับเบิลฟิลสด์ กล่าวว่า เธอจะหาหลักฐานบาดแผลการถูกยิง หรือร่องรอยของกระสุน หรือตะกั่วที่กระจายอยู่ภายในโครงกระดูก เพื่อช่วยการตัดสินใจว่า ศพเหล่านี้เป็นผลมาจากการฆ่าหมู่หรือไม่
เธอกล่าวว่า เมื่อย้อนกลับไปในปี 1921 เหยื่อจำนวนมากเสียชีวิตจากบาดแผลการถูกยิง และเพราะไม่มีการตรวจชันสูตรพลิกศพ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่กระสุนจะยังคงฝังอยู่ในภายในโครงกระดูก เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า
ความเลวร้ายที่คนในชาติหลงลืม
สำหรับเธอแล้ว “ความสำเร็จสูงสุด จะเป็นอนุสรณ์ที่มีชื่อติดอยู่กับแต่ละคน โดยมีการบันทึกอย่างละเอียดว่า ช่วงเวลาสุดท้ายของพวกเขาเป็นอย่างไร สิ่งที่แย่ที่สุด ก็คือสิ่งที่ดีที่สุดของเธอ แต่เธอก็กลัวว่า การพิสูจน์อัตลักษณ์โดยตรงของเหยื่อ อาจเป็นไปได้ยาก แม้ว่าอาจพบตัวลูกหลานของเหยื่อจากการวิเคราะห์ตัวอย่าง DNA ที่สกัดจากฟันก็ตาม
ดร.สทับเบิลฟิลด์ พร้อมที่จะใช้พยายาม “งานของฉันคือเรื่องคนรักของใครบางคน” เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ที่เรื่องราวของการสังหารหมู่ ส่วนใหญ่ถูกลบออกจากหน้าประวัติศาสตร์สหรัฐฯ บันทึกอย่างเป็นทางการสูญหาย หรือถูกทำลาย หนังสือพิมพ์ในเมืองไม่พูดถึง โรงเรียนไม่มีการสอน แม้ว่าหลายคนที่เติบโตมาในเมืองทัลซา ก็ไม่ได้รู้เรื่องความโหดร้ายที่เกิดขึ้น มีผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าหมู่เพียง 3 คนเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ อายุระหว่าง 101 ปี และ 107 ปีแล้ว
พ่อแม่ของดร.สทับเบิลฟิลด์ เกิดในเมืองทัลซา แต่ก็ไม่เคยพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้ว่าป้าทวดของเธอสูญเสียบ้านจากการโจมตีก็ตาม “การสังหารหมู่ทางเชื้อชาติ ไม่มีการพูดถึงกันเลย สิ่งเลวร้ายมากมายไม่เคยมีการพูดถึง”
“การเผชิญหน้ากับอดีตนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โอกลาโฮมาพยายามหนักมากที่จะปกปิดเหตุการณ์นี้ เราจะมาย้อนความหลังกันอย่างเต็มที่ด้วยการระลึกถึงคนเหล่านี้อย่างถูกต้อง” เธอกล่าว
ไบเดนจะเปลี่ยนอเมริกาได้แค่ไหน
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อยู่ในตำแหน่งคนแรกที่เข้าร่วมพิธีรำลึก 100 ปี ฆ่าหมู่คนดำประมาณ 300 คนในเมืองทัลซา หนึ่งในเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดของความรุนแรงทางเชื้อชาติในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ในวันอังคารที่ 1 มิถุนายน
ไบเดน ระบุว่า นานเกินไปแล้วที่ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นที่นี่ถูกบอกเล่ากันอย่างเงียบ ๆ ถูกปกปิดไว้ในความมืดมิด เขากล่าวต่อว่า พี่น้องชาวอเมริกัน นี้ไม่ใช่เหตุจลาจล นี้เป็นการฆ่าหมู่ และเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของเรา
เหตุการณ์สังหารหมู่คนผิวดำในเมืองทัลซ่า รัฐโอกลาโฮมา คือประวัติศาสตร์ด้านมืดของสหรัฐฯ ที่พยายามจะลบเลือนออกจากประวัติศาสตร์ไม่ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ จะบอกว่า เป็นความชั่วช้าที่สหรัฐฯพยายามปกปิดมาตลอดก็ไม่ผิด แต่ช้างตายทั้งตัว คงเอาใบบัวปิดไม่มิด
เรื่อง : สันติ สร้างนอก
ภาพ : The University of Tulsa