โอนพรุ่งนี้เราชนะ 1,000 บาท เงินเยียวยาโควิดระลอกใหม่ นิคมอุตสาหกรรม 3 จว.นำร่องฉีดวัคซีน
โอนพรุ่งนี้เราชนะ 1,000 บาท เงินเยียวยาโควิดระลอกใหม่ นิคมอุตสาหกรรม 3 จว.นำร่องฉีดวัคซีน ‘บิ๊กตู่’ สั่งยกเลิก ทัวริสต์บับเบิล ชี้สถานการณ์ยังไม่ดี
- กกร.ถก 4 ทีมวัคซีน-ปรับจีดีพี
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม กรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกล่าสุดที่ยังมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง การฉีดวัคซีนเป็นความหวังที่จะลดการแพร่ระบาด ในส่วนของภาคเอกชนได้เข้ามาร่วมมือกับรัฐบาลในครั้งนี้ ล่าสุดนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที 18 พฤษภาคมว่า วันที่ 19 พฤษภาคมนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย จะมีการประชุมประจำเดือนพฤษภาคม เพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจและเสนอความคิดเห็นต่อรัฐบาล โดยการประชุมครั้งนี้เบื้องต้นจะหารือใน 2 วาระสำคัญ คือ ความคืบหน้าการตั้ง 4 ทีมเพื่อสนับสนุนภาครัฐในการบริหารวัคซีนให้คนไทย ประกอบด้วย 1.ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน 2.ทีมการสื่อสารเพื่อให้ประชาชนเข้าใจและมาฉีดวัคซีน 3.ทีมเทคโนโลยีและระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทุกขั้นตอนการฉีด และ 4.ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมร่วมกับโรงพยาบาลเอกชน ปัจจุบันการทำงานมีความคืบหน้าไปมาก อย่าง ส.อ.ท.ก็เดินหน้าความร่วมมือกับผู้ว่าราชจังหวัด อาทิ จ.สมุทรสาคร กระทรวงอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อผลักดันการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยในเดียวกันช่วงเย็น กกร.จะร่วมประชุมออนไลน์กับ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานความคืบหน้าดังกล่าว
นายสุพันธุ์กล่าวว่า นอกจากนี้ กกร.จะหารือถึงตัวเลขเศรษฐกิจไทย ซึ่งล่าสุดสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับลดประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ปี 2564 อยู่ที่ 1.5-2.5% ขณะที่ก่อนหน้านี้ กกร.ได้ปรับลดประมาณการไว้ที่ 1.5-3.0% ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ กกร.จะปรับตัวเลขลงอีกเช่นกัน
- 3 จังหวัดยกมือพร้อมฉีดแรงงาน
นายสุพันธุ์กล่าวว่า ความคืบหน้าแผนการบริหารวัคซีนของ ส.อ.ท.นั้น กำหนดเป้าหมายการช่วยให้ผู้ประกอบการและแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศเข้าถึงวัคซีน ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก เนื่องจากที่ผ่านมา ส.อ.ท.ทั้งส่วนกลาง และจังหวัดได้ร่วมหารือผู้ว่าราชการ 3 จังหวัดที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น ประกอบด้วย จ.สมุทรสาคร จ.ปทุมธานี และ จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต้องการฉีดวัคซีนให้แรงงานของตนเองจำนวนมาก
“ส.อ.ท.ตั้งเป้าหมายให้ จ.สมุทรสาคร เป็นโมเดลในการฉีดวัคซีนให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยนิคมอุตสาหกรรมที่พร้อมแล้ว คือ สินสาคร 1 หมื่นคน และสมุทรสาคร 2 หมื่นคน เบื้องต้นทราบว่า นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร อยู่ระหว่างประสานขอวัคซีนกับส่วนกลาง เพื่อสนับสนุนการกระจายวัคซีนของรัฐบาล ต่อมาคือ พื้นที่ จ.ปทุมธานี ที่พร้อมฉีดคือ สวนอุตสาหกรรมบางกะดี ขณะที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ทราบว่ามีโรงงานพร้อมฉีด อาทิ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จํากัด”
นายสุพันธุ์กล่าว
- สทท.แนะฉีดวัคซีนภูเก็ต 100%
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวในประเทศขณะนี้ยังดับสนิทอยู่ นับตั้งแต่เกิดการระบาดระลอก 3 ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านมากว่า 1 เดือนเศษแล้ว แต่ยังไม่มีวี่แววว่า รัฐบาลจะสามารถควบคุมการระบาดได้เมื่อใด มาตรการควบคุมการระบาดโควิดที่มีความเข้มข้นของแต่ละจังหวัด อาทิ หากเดินทางเข้ามาในพื้นที่จะต้องกักตัว 14 วัน เหมือนการล็อกดาวน์ไปในตัว ทั้งนี้มีการประเมินว่าเดือนมิถุนายนเมื่อนำเข้าวัคซีนล็อตใหญ่จะควบคุมการระบาดได้ แต่ สทท.มองว่าวัคซีนที่เข้ามายังไม่มีจำนวนชัดเจน บวกกับการเร่งฉีดให้ประชาชน ยังไม่มีแผนชัดเจนว่าระยะที่ 1 ควรฉีดให้พื้นที่ใดก่อน กลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มใด และระยะต่อไปต้องดำเนินการอย่างไร ทำให้ความเชื่อมั่นในตอนนี้หายไป ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้อยู่ในส่วนของภาคเอกชนหรือประชาชน
นายชำนาญกล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ เป็นทางออกวิกฤตรอบนี้ คือ 1.วัคซีนต้านไวรัส ถือเป็นทางออกเดียวของภาคการท่องเที่ยวไทย อยากให้การนำเข้าวัคซีนแต่ละล็อต มีจำนวนชัดเจน เป็นไปตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลประกาศไว้ โดยเฉพาะการจัดสรรให้กับจังหวัดนำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้ง 10 เมือง 2.ฉีดวัคซีนให้คนภูเก็ตให้ได้ 100% เพราะที่ผ่านมาพูดกันว่าต้องฉีดให้ได้อย่างน้อย 70% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ขณะนี้เกิดการระบาดระลอก 3 ความเชื่อมั่นทั้งของนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนในประเทศลดลง ควรเพิ่มการฉีดให้ครบ 100% ประกาศให้ทั่วโลกเห็นว่าประเทศไทยมีพื้นที่ฉีดวัคซีนต้านไวรัสครบ 100% แล้ว
- สั่งยกเลิกทัวริสต์บับเบิล
รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯได้พูดถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมที่เกิน 1 แสนราย ว่าอยากให้ดูตัวเลขว่าเป็นอย่างไร ผู้ติดเชื้อกี่คน หายป่วยกี่คน พยายามหามุมดีๆ มานำเสนอ ส่วนที่มีการเสนอให้ล็อกดาวน์นั้น คงเป็นไปได้ยาก เพราะจำเป็นต้องดูแลคนทำงาน ลูกจ้าง ตอนนี้ต้องดูว่าหลังผ่อนคลายมาตรการเปิดให้รับประทานอาหารในร้านได้ 25% ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดได้แล้วเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่มาจากร้านอาหาร อาจจะมีมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมเข้ามาอีก เช่น ขยายปริมาณนั่งรับประทานอาหารในร้าน แต่ถ้าพบว่ามีผู้ติดเชื้อจากร้านอาหารก็ต้องทบทวนอีกครั้งว่าอาจต้องปิดเป็นเวลา 14 วันหรือไม่ ขณะที่เรื่องการแพร่ระบาดในเรือนจำนั้น พล.อ.ประยุทธ์มองว่า น่าจะจัดการไม่ยาก สามารถควบคุมได้อยู่แล้ว เพราะเรือนจำมีพื้นที่ชัดเจน ขอให้กระทรวงยุติธรรมกับกระทรวงสาธารณสุขประสานงานแก้ปัญหากันอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังให้มีการยกเลิกทัวริสต์บับเบิล หรือการท่องเที่ยวแบบจับคู่ที่รัฐบาลจะทำก่อนหน้านี้ออกไปก่อน เพราะสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น
- คลังพร้อมโอนเราชนะเริ่ม 20 พ.ค.
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะโอนวงเงินสิทธิเพิ่มเติมให้แก่ผู้ได้รับสิทธิภายใต้โครงการเราชนะ ที่ไม่เคยขอสละสิทธิการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 32.9 ล้านคน คนละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ รวมเป็นเงิน 2,000 บาท สำหรับประชาชนกลุ่มที่รับสิทธิผ่านทางแอพพลิเคชั่น เป๋าตัง จำนวน 16.8 ล้านคน จะได้รับการโอนวงเงินสิทธิในวันที่ 20 และ 27 พฤษภาคม และสำหรับประชาชนกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้านคน และประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษหรือกลุ่มผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน 2.4 ล้านคน จะได้รับการโอนวงเงินสิทธิในวันที่ 21 และ 28 พฤษภาคม โดยวงเงินสิทธิที่ได้รับสนับสนุนเพิ่มเติมดังกล่าวใช้จ่ายได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้
- เจ้าหนี้บินไทยเสนอแก้แผนฟื้นฟู
รายงานข่าวจากชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) หนึ่งในเจ้าหนี้ของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า จากกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งให้เลื่อนการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการขึ้นใหม่ เป็นวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ ทางคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาหุ้นกู้บริษัทการบินไทยฯ และ ชสอ. จึงได้ดำเนินการขอแก้ไขแผนอีกครั้ง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสหกรณ์สมาชิก เพิ่มเติม 3 ข้อ ดังนี้ 1.เจ้าหนี้หุ้นกู้ทุกกลุ่มสามารถเลือกวิธีการรับชำระดอกเบี้ยปีที่ 1-3 ใหม่ เป็นการแปลงหนี้เป็นทุนในราคาหุ้นละ 2.5452 บาท 2.การจัดการและการหาประโยชน์จากทรัพย์สิน และ 3.การแต่งตั้งผู้บริหารแผนนั้น คณะกรรมการติดตามและ ชสอ.ได้เสนอ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายพรชัย ระเวช และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้บริหารแผน
รายงานข่าวระบุว่า การประชุมเจ้าหนี้วันที่ 19 พฤษภาคม จะเป็นวันกำหนดทิศทางของการบินไทยว่าจะเข้าสู่ภาวะล้มละลาย หรือได้รับมติของเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ให้ฟื้นฟูกิจการ และดำเนินการตามแผน ดังนั้น การลงมติในที่ประชุมเจ้าหนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ลำพังแผนฟื้นฟูกิจการ ฉบับเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 ไม่น่าจะเพียงพอต่อการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย สหกรณ์สมาชิกจึงอาจต้องพิจารณาแผนฉบับที่แก้ไข ซึ่งการแก้ไขแผนที่ผ่านมานั้น แผนของผู้ทำแผนฉบับเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม มีเนื้อหาที่เป็นส่วนสำคัญในการกำหนดแนวทางการดำเนินการ ตลอดจนหน้าที่ของผู้บริหารแผนที่จะต้องดำเนินการให้แผนฟื้นฟูกิจการสำเร็จลุล่วง ถ้าการบินไทยสามารถปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหนี้ได้ เชื่อว่าสหกรณ์สมาชิกและเจ้าหนี้หลายรายก็พร้อมลงมติที่เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย เพื่อให้การบินไทยยังสามารถให้บริการได้ต่อไป