รีเซต

แชร์ 7 วิธีเก็บเงินง่ายๆ เปลี่ยนเศษเงินเป็นเงินเก็บตอนสิ้นปี

แชร์ 7 วิธีเก็บเงินง่ายๆ เปลี่ยนเศษเงินเป็นเงินเก็บตอนสิ้นปี
TNN ช่อง16
31 ตุลาคม 2563 ( 10:15 )
1.8K

        การเก็บเงินหรือออมเงินไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สำหรับหลายๆคน บางคนที่เก็บเงินไม่อยู่ยิ่งเป็นเรื่องยากมาก ที่จะเริ่มต้นเก็บเงินแบบจริงๆจังๆ ดังนั้นวันนี้เราจึงมีวิธีเก็บเงินแบบง่าย ไม่ยุ่งยาก เป็นวิธีสำหรับเริ่มต้นฝึกนิสัยการออมได้ดีเลยทีเดียว 

      1.  เก็บแบงค์ 50 ทุกวัน 
       วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่หลายคนน่าจะรู้จัก เพราะแชร์ต่อๆกันมานานมากแล้ว  โดยวิธีนี้จะให้เน้นเก็บแต่แบงค์ 50 เพราะเป็นแบงค์ที่เรามักไม่ค่อยจะได้เจอสักเท่าไร ส่วนใหญ่ก็มักจะเจอแต่แบงค์ 20 หรือ แบงค์100 เลยทีเดียว  นานๆทีจะมีได้ทอนกลับมาบ้าง ดังนั้นการเก็บแบงค์  50 มันทำให้เรารู้สึกว่าการออมมันไม่ได้ลำบากอะไรมากขนาดนั้น  โดยไม่ว่าวันนั้นๆจะได้รับทอนกลับมาเท่าไหร่ก็ขอให้เก็บไว้ทั้งหมด  ทำแบบนี้ทุกครั้งที่ได้รับเงินทอน 

      สมมติถ้าเราซื้อของ จ่ายค่าแท็กซี่หรือค่าใช้จ่ายอะไรก็ตาม ทุกวันแล้วได้แบงค์ 50 มาวันละ 1 ใบ   ใน   1 เดือน เราจะได้ 50 x 30 = 1,500 บาท   ถ้า 1 ปี เราจะได้ 50 x 365 = 18,250 บาท   อาจจะได้มาก หรือน้อยกว่านั้นก็ได้ เพราะคงไม่มีใครซื้อของทุกวันแล้วได้แบงค์ 50 ตลอด แต่ก็ยังดีที่เราได้มีเป้าหมายในการเก็บแบงค์ 50 

     2. เก็บเงินทุกวัน จำนวนตามตัวเลขของวันที่ 

         วิธีนี้ให้ยึดเอาตัวเลขของวันที่เป็นตัวตั้ง และเก็บจำนวนเงินตามวันนที่ เช่น วันที่ 1 ให้เก็บเงิน 1 บาท วันที่ 2 เก็บ 2 บาท หยอดกระปุกไปเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 31 เก็บ 31 บาท  พอขึ้นเดือนใหม่ ก็เริ่มเก็บ 1 บาทใหม่ตามวันที่นั้น ๆ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆทุกเดือน ๆ

        หากเราเก็บแบบนี้ไปเรื่อย เมื่อครบ 1 ปี เราจะมีเงินเก็บทั้งหมด 5,738 บาท  หรือถ้าใครจะเก็บเงินวันที่ 1 เพิ่มเป็น 10 บาท วันที่ 31 เป็น 310 บาท ก็ได้ รวมทั้งปีเราจะมีเงินเก็บถึง 57,380 บาท 


     3.  เก็บเงินทุกวันเงินเดือนออก

       นอกเหนือจากจะเป็นวันที่เราต้องจ่ายหนี้สินแล้ว  ให้ลองยึดเอาวันเงินเดือนออก เป็นวันที่เราเก็บเงินไปด้วยก็คงจะดีไม่น้อย  พอถึงวันแรกที่เงินเดือนเข้าบัญชี ให้เก็บไว้เลย 20% ของเงินเดือน ถือเป็นการเก็บเงินก่อนใช้  สมมติได้เงินเดือน 15,000 บาท ก็เก็บ 3,000 บาท ทำแบบนี้ทุกเดือน ๆ ถึงสิ้นปี เราจะมีเงินเก็บ 36,000 บาท  โดยวิธีการเก็บนี้หากเป็นคนที่ใจไม่แข็งพอ แนะนำให้เปิดบัญชีฝากประจำ ที่กำหนดต้องฝากในจำนวนที่เท่าๆกันทุกครั้ง ก็ได้   หรือหากยังจิตแข็งพอ ก็ให้นำเงินออกมาแยกไว้ต่างหาก แต่ต้องสะกดจิตตัวเองให้ได้ว่าเงินส่วนนี้คือต้องเก็บเท่านั้น ห้ามนำออกไปใช้ 

     4.  เก็บเศษของเงินเดือนทุกเดือน

        วิธีนี้จะคล้ายกับวิธีก่อนหน้านี้   แต่ให้ยึดเอาตัวเลขเศษจากจำนวนเงินเดือนที่เราได้รับในแต่ละเดือน   เช่น 25,650 บาท ก็ให้เก็บเศษ 650 บาท   หากใครมีเศษน้อยหน่อย เช่น 31,100 บาท ก็อาจจะเก็บ 1,100 บาทเลยก็ได้  แต่ที่สำคัญคือต้องเก็บแยกออกมาจากเงินเดือนเลยทันทีที่เงินเดือนเข้า เก็บแบบนี้ไปทุกเดือน ๆ เศษเงินเดือน 

        สมมติ หากเราเก็บเศษเงินเดือน 650 บาทที่ได้รับประจำ  25,650 บาท  x 12 เดือน ก็เท่ากับว่าสิ้นปีเราจะได้เงินเก็บ  7,800 บาทเลยทีเดียว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

  3 ช่องทางออมเงินให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าหยอดกระปุก

  แชร์เทคนิครีไฟแนนซ์บัตรเครดิต ทำอย่างไรไม่ให้กลับมาเป็นหนี้อีก!

  อยากแก้หนี้?ต้องเริ่มที่ ปรับ'Mindset'

     5. เก็บเศษเงินเหรียญ

         วิธีนี้อาจจะไม่เหมาะ กรณีที่ต้องใช้จ่ายด้วยเงินเหรียญเป็นประจำ เช่นใช้บริการ รถเมล์ เรือโดยสาร  ที่ต้องใช้เหรียญเป็นค่าโดยสารเป้นหลัก แต่วิธีนี้จะเหมาะกับคนที่ไม่ชอบพกเงินเหรียญให้หนักกระเป๋า  โดยในแต่ละวันที่รับเงินทอนมาเป็นเงินเหรียญให้แยกเก็บไว้ในกระเป๋าใบเล็กๆอีกกระเป๋าเลยก็ได้ ไม่นำเงินเหรียญออกมาใช้  เมื่อจบวันกลับบ้านให้นำเงินเหรียญทั้งหมดออกมาเก็บใส่กระปุกไว้ เมื่อถึงปลายปีให้นำเหรียญออกมานับ แล้วค่อยนำไปฝากธนาคารหรือแลกเป็นแบงค์เพื่อนำไปฝากเข้าบัญชีก็ได้ วิธีนี้อย่างน้อยๆก็สามารถเก็บได้ 3,000-5,000 เลยทีเดียว 



        6. 
ใช้เท่าไร เก็บเท่านั้น

     วิธีนี้อาจจะยากหน่อย เพราะอาจจะยุ่งยากถ้าใครเป็นคนขี้ลืม  เทคนิคคือ จด หรือบันทึกไว้ในสมาร์ทโฟนของเรา  โดยเอารายจ่ายฟุ่มเฟือยในแต่ละวันเป็นตัวตั้ง เช่น วันนี้ซื้อเสื้อไป 250 บาท ก็ให้เก็บ 250 บาท เท่ากับจำนวนเงินที่ใช้ไป ยิ่งเราใช้เงินฟุ่มเฟือยมาก ก็ยิ่งต้องเก็บมาก ถือเป็นการเก็บเงินหลังใช้ และเป็นวิธีที่เหมาะกับคนที่ค่อนข้างใช้เงินเก่ง เพราะยิ่งเราใช้เยอะ เราก็ต้องมีวินัยในการเก็บเงินให้เยอะขึ้นด้วย

        7.  เก็บแบงค์ 50 รวมกับค่าชา กาแฟ 

         วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่ติด ชา กาแฟหรือขี้เกียจจดบัญชีรายรับรายจ่าย   โดยให้เก็บเงินเท่ากับจำนวนที่ซื้อกาแฟทุกๆวัน เมื่อเจอแบงค์ 50 ก็ให้เก็บไว้ อาจจะดูเล็กน้อยสำหรับใครบางคน แต่เชื่อว่าเป็นวิธีที่ช่วยฝึกนิสัยการออมได้  เช่น วันนี้ได้แบงค์ 50 มา 1 ใบ  และวันนี้ซื้อกาแฟไป 2 แก้ว สมมติแก้วละ 50 บาท รวมเป็น  100 บาท เท่ากับวันนี้ เก็บเงิน 50+100 = 150 บาท  หากคำนวณคร่าวๆ เก็บ 1 เดือน จะได้เงินเก็บ  4,500 บาท แต่อาจจะได้มากหรือน้อยกว่านั้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเจอแบงค์ 50 มากเท่าไหร่ และกินกาแฟวันนั้นกี่แก้ว  


        เมื่อรู้เทคนิคดีๆไปทั้ง 7 วิธีข้างต้นแล้วก็เลือกวิธีที่เหมาะกับตัวเอง แล้วเริ่มต้นเก็บเงินเลย แล้วเรื่องออมเงินจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะอย่างน้อยเราก็จะมีเงินเก็บไว้เผื่อสำรองหรือกรณ๊ฉุกเฉินในอนาคตไม่ไปยื่นกู้ให้ยุ่งยาก หรือไม่จำเป็นต้องเป็นหนี้ใคร 

 


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง