รีเซต

ปศุสัตว์ลุยสอบข้อเท็จจริง ดำเนินคดีคนทารุณแมวจร ส้มฉุน -โซดาและครอบครัว

ปศุสัตว์ลุยสอบข้อเท็จจริง ดำเนินคดีคนทารุณแมวจร ส้มฉุน -โซดาและครอบครัว
มติชน
3 ธันวาคม 2564 ( 10:02 )
72

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่มีนำเสนอข่าวตามสื่อออนไลน์เป็นที่สนใจของสังคม ประเด็นขอความเป็นธรรมให้แก่ลูกแมวจรจัด ส้มฉุน และ โซดา กรณีถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตาย โดยอยากให้กรมปศุสัตว์เร่งสอบสวนหาสาเหตุข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฏหมายพิจารณาโทษแก่ผู้กระทำความผิด นั้น

 

กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ได้มีความห่วงใยและมิได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์อย่างไม่เหมาะสม ตามที่ได้รับรายงาน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์จึงได้เร่งดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงทันที โดยได้สอบถามไปยังผู้โพสต์ข้อความตามที่เป็นข่าว ทราบว่าเหตุเกิดในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 บริเวณร้านค้าหน้าร้านสะดวกซื้อ ตลาดรุ่งเจริญ แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กทม. มีผู้พบเห็นแมวบาดเจ็บ คาดว่าถูกแม่ค้าขายของในตลาดสดใช้ไม้ตี และใช้โซดาไฟสาดใส่แม่แมวและลูกแมว 2 ตัว รวม 3 ตัว เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส จากนั้นเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบ ณ สถานที่เกิดเหตุ

 

โดยจากการสอบสวนข้อเท็จจริงพบว่า ผู้ให้การช่วยเหลือแมวดังกล่าว ได้ให้รายละเอียดว่าในวันเกิดเหตุคือวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 มีผู้มาบอกว่าแมวถูกทำร้ายจึงได้ออกไปดู ปรากฎว่าพบลูกแมวและแม่แมวจรจัดที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นได้รับบาดเจ็บจากการถูกตีและถูกสาดด้วยโซดาไฟ จึงนำแมวทั้ง 3 ตัว ไปรักษา ณ โรงพยาบาลสัตว์แห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาลูกแมวชื่อส้มฉุนได้เสียชีวิต ส่วนลูกแมวที่ชื่อโซดายังคงรักษาตัวอยู่ สำหรับแม่แมวเมื่อพบว่าปลอดภัยดีแล้ว ได้ส่งให้สถานสงเคราะห์สัตว์นำไปเลี้ยงดู นอกจากนี้ข้อมูลจากผู้ขายของในตลาดซึ่งอยู่บริเวณดังกล่าวในฐานะพยานรอบด้าน ทั้งหมดให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่าขณะเกิดเหตุไม่มีผู้ใดเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวชัดเจน เพียงแต่ได้ยินเสียงแมวร้องและเห็นว่ามีแมวที่มีแผลตามตัววิ่งหนีออกมา

 

ต่อมาในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 ผู้ให้ความช่วยเหลือแมวดังกล่าวจึงได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางโพงพาง เพื่อให้สอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ตามมาตรา 20 พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 หลังจากนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์จึงได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจนครบาลบางโพงพาง เพื่อติดตามความก้าวหน้าทางคดีกับพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีนี้ ทราบว่าคดีความอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานทั้งหลักฐานจากคลิปวิดีโอหน้าร้านสะดวกซื้อ และหลักฐานจากการสอบปากคำผู้แจ้งความร้องทุกข์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยพนักงานสอบสวนได้นัดหมายให้สัตวแพทย์ผู้ทำการรักษาแมวไปให้รายละเอียดในวันที่ 5 ธันวาคม 2564 นี้ จึงจะสรุปรายละเอียดทำสำนวนส่งอัยการพิจารณานำส่งฟ้องศาลพิจารณาความผิดตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

 

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์จะติดตามความก้าวหน้าของคดีอย่างต่อเนื่องและจะแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบเป็นระยะๆ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด สำหรับการบังคับใช้กฎหมายการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์เป็นกฎหมายที่นานาประเทศให้การยอมรับและมีการบังคับใช้กันในหลายประเทศ เพื่อดูแลความสงบสุขของสังคมให้มนุษย์มีความเมตตาต่อสัตว์เพราะสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม การกระทำทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร อาจมีโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงของฝากถึงประชาชนให้มีความเมตตาอย่าได้ทำร้ายสัตว์และหากได้รับความเดือนร้อนจากสัตว์ควรหาวิธีการที่เหมาะสมในการป้องกันโดยหลีกเลี่ยงไม่ทำร้ายสัตว์ หรือติดต่อขอคำแนะนำและการขอรับความช่วยเหลือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือ องค์การสิทธิสัตว์ หรือทาง Application DLD 4.0 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวในที่สุด


ที่มา : กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง