ปลายฝนต้นหนาวอากาศเปลี่ยนบ่อย เสี่ยงป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ
วันนี้ (10พ.ย.64) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ใกล้จะถึงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาวอากาศเปลี่ยนแปลงค่อนข้างบ่อย ปริมาณความชื้นในอากาศก็จะเพิ่มขึ้น หากถูกฝนก็มีโอกาสเจ็บป่วย เกิดโรค ติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจได้ง่าย ซึ่งการแพร่กระจายของเชื้อสามารถติดต่อได้ตั้งแต่ระบบทางเดินหายใจ ส่วนต้น เริ่มตั้งแต่ จมูก คอ หลอดลม จนถึงปอด
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ทำให้ป่วยเป็นโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ โดยผู้ป่วยมักมีอาการ มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ จึงแนะนำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นและทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ปอด
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่มักเกิดได้ง่ายในช่วงฤดูฝนหรือฤดูหนาว สามารถเกิดขึ้นได้ในคน ทุกเพศทุกวัย หากเกิดกับเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุเสี่ยงจะมีอาการรุนแรงได้มากกว่า ดังนั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เราควรดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม
ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ สวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8-10 แก้ว หลีกเลี่ยงการตากฝนโดยไม่จำเป็น อีกทั้งควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และที่สำคัญควรสวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร หมั่นล้างมือบ่อยๆ เพราะมือเป็นอวัยวะสำคัญที่สามารถนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง อาทิ ทางปาก ทางจมูก ผิวหนัง
สำหรับวิธีการล้างมืออย่างถูกต้องนั้นมี 6 ขั้นตอน ดังนี้
1.ฟอกฝ่ามือและง่ามนิ้วด้านหน้า
2.ฟอกหลังมือและง่ามนิ้วด้านหลัง
3.ฟอกนิ้วและข้อนิ้วมือด้านหลัง
4.ฟอกนิ้วหัวแม่มือ
5.ฟอกปลายนิ้วมือและเส้นฝ่ามือ 6.ฟอกรอบข้อมือ
ดังนั้นหากเราดูแลสุขภาพตนเองอย่างต่อเนื่อง รู้จักวิธีป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ ก็จะสามารถช่วยป้องกันเชื้อโรคต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ และลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อีกด้วย
ข้อมูลจาก กรมการแพทย์
ภาพจาก AFP