แท็กซี่ ในวันที่ต้องหยุดวิ่งกว่า 1 เดือน ขาดรายได้-เงินก้อนสุดท้ายหมด แต่ชีวิตยังต้องสู้
ไวรัสโควิด-19 – อาชีพที่ได้รับผลกระทบแรกๆ เมื่อไวรัสโควิด-19 มาถึงไทย คืออาชีพบริการ โดยเฉพาะงานที่ต้องออกไปเจอผู้คนมากมาย ไม่ซ้ำหน้าในแต่ละวัน อย่างอาชีพคนขับแท็กซี่ หลายคนได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันไป ตั้งแต่รายได้ลดลง กระทั่งต้องเลิกขับ
อุทิตย์ จันทร ชาว อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ประกอบอาชีพขับแท็กซี่มากว่า 8 ปี ในสถานการณ์ปกติเขาสามารถทำเงินได้ 1,000 กว่าบาทต่อวัน เป็นหัวหน้าครอบครัวทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ตอนนี้อยู่ในสภาพไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ เพราะเลิกขับมาเกิน 20 วันแล้ว ทั้งยังเป็นอาชีพที่ไม่สามารถเวิร์ก ฟรอม โฮม ได้
ชายอายุ 47 ปี เล่าว่า ผมหยุดขับแท็กซี่ก่อน พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ออกมาด้วยซ้ำ เพราะเถ้าแก่เจ้าของอู่แท็กซี่เช่าอยากช่วยภาครัฐหยุดเชื้อโควิด-19 และเพื่อเซฟความปลอดภัยของคนขับและครอบครัว
“ตอนนี้ผมกลับมาอยู่บ้าน จากที่หารายได้ได้ทุกวัน ตอนนี้ ก็ไม่มีรายได้เลย”
รายได้ไม่มี ส่วน “เงินเก็บ” เขาก็เพิ่งจ่ายค่าเทอมลูกคนที่ 2 ไปก่อนโควิด-19 ระบาด
“ผมเพิ่งใช้เงินเก็บทั้งหมดจ่ายค่าเทอมให้ลูกไป ตอนนี้เงินเก็บของเราหมดแล้ว”
เมื่อชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันไป แม้จะไม่ได้ขับแท็กซี่ อุทิตย์ ก็ไม่ปล่อยให้ตัวเองว่าง เขาได้ไปช่วยภรรยาที่เป็น อสม. ที่ได้เข้ามาช่วย อบต.คูบางหลวง จ.ปทุมธานี ทำหน้ากากผ้าแจกจ่ายประชาชน เพราะแต่ละวันจะได้อาหารกิน 3 มื้อ และอยู่ อบต.ทั้งวัน สามารถช่วยประหยัดค่าอาหาร ค่าไฟ และค่าน้ำที่บ้านได้ระดับหนึ่ง
“ผมไม่มีรายได้ ส่วนภรรยาก็มีเงินเล็กๆ น้อยๆ จากการเป็น อสม.ได้ประจำ 1 พันบาทต่อเดือน และได้เป็นงานๆ จากการเป็นวิทยากรสอนทำงานฝีมือและออกบูธทำกิจกรรมให้กลุ่มโอท็อป และ กศน. ซึ่งตอนนี้กิจกรรมที่ว่าหยุดหมดแล้ว แต่ครอบครัวเราก็ต้องประคองชีวิตให้อยู่ให้ได้ โดยมีเงินค่าวิทยากรเล็กๆ น้อยๆ ของภรรยาที่เบิกจ่ายช้า มาปะทังชีวิตไปพลางๆ”
ความหวังถูกจุดขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลมีการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในโครงการเราไม่ทิ้งกัน 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งทั้งอุทิตย์และภรรยาก็ได้ลงทะเบียนขอรับเงินช่วยเหลือจากโครงการดังกล่าว
แต่ผลปรากฏว่าในส่วนภรรยาไม่ได้รับสิทธิ ส่วนตัวของอุทิตย์ยังอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งเขารู้สึกสงสัยว่า กลุ่มอาชีพแท็กซี่ได้รับผลกระทบแรกๆ ทำไมเขาถึงยังไม่ได้ ทั้งที่เพื่อนๆ แท็กซี่คนอื่น หลายคนเริ่มเฮเงินเข้าบัญชีแล้ว
“ไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะจบเมื่อไหร่ แต่คิดว่าเราคงรับไหวกับสถานการณ์นี้อีกแค่ 1 เดือน” อุทิตย์บอกด้วยน้ำเสียงกังวลอย่างหนัก
“อย่างแรกผมไม่รู้ว่า อบต.จะหยุดทำหน้ากากผ้าเมื่อไหร่ ถ้าหยุดผมกับภรรยาก็ต้องอยู่บ้าน ทีนี้จะมีแต่รายจ่าย ทั้งค่าใช้จ่ายประจำวัน จ่ายไฟแนนซ์รถยนต์ที่ยังทำเรื่องขอพักชำระหนี้ไม่ผ่าน ไม่มีรายรับ และไม่มีที่พึ่ง”
เงินเยียวยา 5,000 บาท จึงเป็นที่พึ่งของเขาและครอบครัว ที่อย่างน้อยๆ ก็เชื่อว่าจะพอประคับประคองสถานการณ์ครอบครัวให้เดินต่อไปได้
“ทุกวันนี้ เครียดมาก ยิ่งเสพข่าวก็ยิ่งเครียด โชคดีว่าได้มาช่วยงาน อบต. การมีอะไรทำในแต่ละวัน หลังจากหยุดงาน ทำให้ผมไม่คิดฟุ้งซ่าน” อุทิตย์กล่าว