รีเซต

วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก 5หมื่นโดส ฉีดในสมุทรสาคร-แม่สอด-ชายแดนใต้

วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก 5หมื่นโดส ฉีดในสมุทรสาคร-แม่สอด-ชายแดนใต้
มติชน
22 มกราคม 2564 ( 17:35 )
54
วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก 5หมื่นโดส ฉีดในสมุทรสาคร-แม่สอด-ชายแดนใต้

วันนี้ (22 มกราคม 2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า วัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ที่จะเข้ามาในประเทศไทยล็อตแรก จำนวน 50,000 โดส ในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะดำเนินการฉีดในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข ด้านหน้าของการทำงานป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ 1.จ.สมุทรสาคร 2.อ.แม่สอด จ.ตาก และ 3.จังหวัดในภาคใต้ที่มีขอบชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะฉีดให้ครบทั้ง 50,000 โดส

 

“ทั้งนี้ ตามแผนเดิมของไทยที่จะฉีดเข็ม 2 จะต้องห่างจากเข็มแรก เป็นเวลา 4 สัปดาห์ แต่ข้อมูลจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า พบว่าการฉีดในต่างประเทศ การเว้นระยะห่าง 8-12 สัปดาห์ กลับให้ผลดีกว่าการฉีดห่างกัน 4 สัปดาห์ ดังนั้น หากวัคซีนที่จะทยอยส่งมาให้กับไทยนั้น จึงสามารถฉีดได้ในช่วงนี้เช่นกัน ทางการแพทย์เราอยากให้ฉีดเข็มที่ 2 ห่างกัน 8-12 สัปดาห์ เพื่อแบ่งไปให้คนอื่นฉีดด้วย แต่ยังไงก็ต้องฉีดเข็มที่ 2 เพราะเราไม่รู้ว่าภูมิตกเมื่อไร แต่จากการศึกษาพบว่า หลังจากฉีดเข็มแรก ป้องกันได้ถึงร้อยละ 60-70 ดังนั้น เราปล่อยให้เข็มแรกกระตุ้นไปก่อน สมมติว่าเชื้อมาแล้ว ตามทฤษฎีแล้ว เชื้อนั้นก็จะกลายเป็นเข็มที่ 2 แต่หากฉีดเข็มที่ 2 ก็จะต้องป้องกันขึ้นไปอีกร้อยละ 80-90 แล้วก็จะเริ่มตก เป็นธรรมดาของวัคซีน”  รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว

 

รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวว่า ส่วนการป้องกันโรคด้วยวัคซีนนั้น สามารถทำได้ตามประสิทธิภาพของวัคซีน ขณะเดียวกัน เชื้อก็ยังสามารถเข้าไปและติดเชื้อได้ เช่น ป้องกันร้อยละ 70 ก็ยังมีช่องโหว่อีกร้อยละ 30 แต่ในส่วนนี้จะเป็นชนิดที่ไม่มีอาการก็จะแพร่เชื้อน้อย ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะมีการศึกษาต่อ และประเทศไทยหลังจากฉีดแล้ว ก็จะมีการศึกษาด้วย อะไรที่สามารถต่อยอดได้ เราก็จะต่อยอด

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งคำถามว่าเหตุใดถึงเลือกบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเพียงแห่งเดียว รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวว่า การเจราจาเยอะมาก แต่เขาไม่เอาเรา เพราะบริษัทผู้ผลิตต้องการให้มีการจองจำนวนมาก แล้ววางเงิน จึงจะยอมขึ้นทะเบียนในไทย รวมถึงบางแห่งที่คาดว่า จะได้วัคซีนในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งไม่ทันการณ์ ขณะที่ก็มีวัคซีนตัวอื่นเริ่มได้ผล ดังนั้น ทำให้การเจรจาไม่สำเร็จ

 

“เป็นเรื่องที่คนไทยน่าภาคภูมิใจที่เขาเลือกเรา โดยมีความสามารถผลิตได้ถึง 200 ล้านโดส ดังนั้น วัคซีนเมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว กว่าจะผ่าน ก็หนักหนา ส่วนความไม่สบายใจที่มีผู้สงสัย ข้องใจ คัดค้าน ขอความกรุณาทำใจร่มๆ อย่ารุ่มร้อนมาก ทำใจให้เป็นธรรม ปล่อยวางบ้าง เพื่อดูว่าสิ่งที่ทางการแพทย์อยู่เบื้องหลัง เราทำงานกันหนักมากเพื่อคนไทย เราอยากได้เร็ว แต่เราไม่ได้ช้ากว่าเขา เพราะหลายๆประเทศก็ยังไม่ได้” รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว

 

รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวว่า ฝ่ายของการแพทย์ สธ. และการเมือง คุยกันมาหลายเดือนแล้ว ตั้งแต่เริ่มมีการศึกษาอยู่ในต่างประเทศ และทำท่าว่าจะได้ผล ก็เริ่มคุยกันแล้วว่าเราจะเอายังไง แต่เนื่องจากว่ามีการติดอยู่หลายอย่าง เช่น กฎหมาย การจองสินค้าที่ยังไม่เห็นผลสำเร็จ ก็ถือว่ามีความผิดเช่นกัน

 

ส่วนกรณีที่มีผู้ตั้งคำถามว่า เป็นการล็อกสเปกกับบริษัทสยาม ไบโอไซเอนซ์ หรือไม่ รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวว่า สัญญาเป็นเรื่องของเอกชน คือ สยามไบโอไซเอนซ์ และแอสตร้าเซนเนก้า รัฐบาลเข้าไปยุ่งไม่ได้ แต่หากเป็นสัญญาของ สธ.กับสยามไบโอไซเอนซ์ อันนี้เราให้ดูได้

 

รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าสถานการณ์การเมือง ความคิดเห็น การโจมตีต่างๆ ครั้งนี้หนักที่สุด แต่ในฐานะหมอโรคติดเชื้อ ขอยืนยันว่า วิทยาศาสตร์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง และไม่เข้าข้างการเมือง ขอให้ใจร่มๆ โดยจะพยายามเอาข้อมูลมาให้เห็น และเป็นที่ประจักษ์ คณะกรรมการวิชาการของสธ. ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง มีจุดยืนและยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 แตกต่างกับไข้หวัดนก เพราะโควิด-19 เป็นโรคในเมือง มีคนติดเชื้อจำนวนมาก แต่ไข้หวัดนก เป็นการติดเชื้อในชนบท คนติดเชื้อก็ไม่มากขนาดนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง