รีเซต

ปตท.สผ. เปิดรายได้ 9 เดือน 1.68 แสนล้าน ฟันกำไรสุทธิ2.8 หมื่นล้านบาท

ปตท.สผ. เปิดรายได้ 9 เดือน 1.68 แสนล้าน ฟันกำไรสุทธิ2.8 หมื่นล้านบาท
มติชน
28 ตุลาคม 2564 ( 23:07 )
46

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนของปี 2564 มีรายได้รวม 5,331 ล้าน สรอ. (เทียบเท่า 168,409 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 จาก 4,082 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 128,369 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 414,516 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับ 344,909 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการเข้าร่วมทุนในแปลง 61 ประเทศโอมาน และการเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการมาเลเซีย – แปลงเอช ซึ่งสามารถเพิ่มปริมาณขายให้กับบริษัทได้ตั้งแต่ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ประกอบกับผู้ซื้อก๊าซฯ ได้เรียกรับก๊าซธรรมชาติจากโครงการในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 42.34 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ จาก 39.69 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

 

ด้านค่าใช้จ่ายรวมในรอบ 9 เดือนของปีนี้ อยู่ที่ 4,453 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) (เทียบเท่า 140,571 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 จาก 3,459 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) (เทียบเท่า 108,762 ล้านบาท) ในปีที่แล้ว สาเหตุหลักจากการบันทึกรายจ่ายที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานปกติ (Non-recurring) ได้แก่ การรับรู้ผลขาดทุนจากการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน และการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ของโครงการสำรวจในประเทศบราซิล

 

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้การดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของ ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิ 890 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 28,218 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 639 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 20,137 ล้านบาท) โดยสามารถรักษาระดับต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ที่ 28.18 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลงจาก 30.29 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปีที่แล้ว เป็นผลมาจากการบริหารจัดการต้นทุน และการเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ของโครงการมาเลเซีย-แปลงเอช และการเข้าซื้อโครงการโอมาน แปลง 61 ซึ่งมีต้นทุนต่อหน่วยค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ บริษัทมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา ที่ร้อยละ 74 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และยังคงสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง

 

สำหรับผลประกอบการของไตรมาส 3 ปี 2564 นั้น ปตท.สผ. มีรายได้รวม 1,784 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 58,752 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จาก 1,305 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 40,887 ล้านบาท) จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ 292 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 9,545 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 จาก 230 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 7,202 ล้านบาท) จากการเติบโตของปริมาณการขายและราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้น

 

“ธุรกิจพลังงานเริ่มมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยเป็นผลมาจากที่หลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรปรวมทั้งประเทศไทยมีการผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์และการเดินทาง จึงส่งผลให้มีความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึง ปตท.สผ. นอกจากนี้ ความสำเร็จจากการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ Execute & Expand ส่งผลให้เราสามารถเพิ่มเป้าหมายการขายเฉลี่ยขึ้นอีกครั้งเป็น 417,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากที่ได้ปรับเพิ่มไปแล้วในไตรมาส 2 ที่ 412,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน อีกทั้ง การเข้าร่วมลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพ และการค้นพบแหล่งน้ำมันและก๊าซฯ อย่างต่อเนื่องในมาเลเซีย เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมการเติบโตให้กับบริษัทในระยะยาว” นายมนตรี กล่าว

 

ความก้าวหน้าสำคัญในไตรมาสที่ 3 ปตท.สผ. ได้เสร็จสิ้นการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนเพิ่มเติมในโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ จากบริษัท ซีนุค (CNOOC Limited) ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีสัดส่วนการลงทุนในโครงการดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 49 จากร้อยละ 24.5 และคาดว่าโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ จะเริ่มผลิตน้ำมันดิบได้ไตรมาส 4 ปี 2564 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้นประมาณ 10,000-13,000 บาร์เรลต่อวัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง