รีเซต

ดีเดย์ 'ภาษีอี-เซอร์วิส' จากผู้ให้บริการตปท.

ดีเดย์ 'ภาษีอี-เซอร์วิส' จากผู้ให้บริการตปท.
มติชน
1 กันยายน 2564 ( 06:57 )
43

จากการที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกพัฒนาตัวเองเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ รวมทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นอีกปัจจัยเร่ง ให้ผู้คนและหน่วยงานต่างต้องปรับตัว หันมาสื่อสาร ติดต่อ และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในรูปแบบใหม่ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่สะดวก และรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องเดินทางอีกต่อไป

 

 

ข้อมูลในปี 2563 พบว่าประเทศไทยมีประชากรกว่า 69 ล้านคน มีอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสูงถึง 75% และผลสำรวจจาก Globalwedindex พบว่าประชากรไทยอายุระหว่าง 16-64 ปี มีจำนวนมากกว่า 50% ดูวิดีโอ ฟังเพลง และฟังวิทยุออนไลน์ ส่งผลให้มีการใช้บริการทางออนไลน์เติบโตอย่างต่อเนื่อง อาทิ การซื้อขายเพลงออนไลน์เติบโตขึ้น 9% และการโฆษณาออนไลน์ขยายตัวขึ้น 16% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา เมื่อตลาดการให้บริการทางออนไลน์ หรืออี-เซอร์วิส เติบโตไปอย่างมาก

 

 

ผู้ประกอบการอี-เซอร์วิสในประเทศ และต่างประเทศที่มีสำนักงานในไทย ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) และทำหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่ามาตลอด ในขณะที่ผู้ประกอบการอี-เซอร์วิส จากต่างประเทศที่ไม่มีสำนักตั้งภายในประเทศไทย ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากไม่มีกฎหมายมารองรับและให้อำนาจการจัดเก็บภาษี จึงเกิดความไม่เป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจขึ้น

 

 

ที่ผ่านมา นานาประเทศจึงได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตามคำแนะนำของโออีซีดีที่ให้ผู้ประกอบการอี-เซอร์วิส จากต่างประเทศ จดทะเบียนและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่หน่วยงานจัดเก็บภาษีของประเทศนั้นๆ ปัจจุบันพบว่าใช้แล้วกว่า 60 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน สิงคโปร์ เป็นต้น

 

 

 

กรมสรรพากรจึงนำแนวทางมาศึกษา และออกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากผู้ประกอบการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือเรียกว่าภาษีอี-เซอร์วิส โดยผู้ประกอบการที่เข้าข่ายการถูกเรียกเก็บภาษีอี-เซอร์วิสนั้น ต้องเป็นผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการ โดยที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยและมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป

 

 

มีรูปแบบธุรกิจอยู่ 5 ประเภท ประกอบด้วย 1.ธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เปิดให้ซื้อขายผ่านออนไลน์ เช่น แอเมซอน อีเบย์ 2.ธุรกิจที่มีรายได้จากค่าโฆษณา เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ กูเกิล 3.ธุรกิจตัวกลางที่เป็นเอเยนต์จำหน่ายสินค้าและบริการ อาทิ การจองโรงแรม ที่พัก ตั๋วเครื่องบิน 4.ธุรกิจตัวกลาง อาทิ บริการเรียกรถแท็กซี่ บริการส่งอาหาร (ฟู้ดดิลิเวอรี) ซึ่งการเรียกเก็บค่าจีพี หรือค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บร้านค้าที่เข้ามาใช้แพลตฟอร์ม และ 5.ธุรกิจที่มีรายได้จากการบอกรับสมาชิก เช่น บริการ ดูหนัง ฟังเพลง หรือเกมออนไลน์ เป็นต้น

 

 

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 377 (พ.ศ.2564) ลงนามโดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งกฎกระทรวงนี้ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานและทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งผู้ประกอบการที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ เพื่อกำหนดวิธีการดำเนินงานในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (อี-เซอร์วิส) ของกรมสรรพากร

 

 

กฎกระทรวงดังกล่าว ได้ให้อำนาจกรมสรรพากรในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ในอัตรา 7% จากผู้ให้บริการที่เป็นผู้ประกอบการต่างประเทศ และไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขึ้นในประเทศไทย โดยผู้ประกอบการดังกล่าวต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบงานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (VAT for Electronic Service : VES) บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมชำระภาษีเป็นรายเดือน ภายในวันที่ 23 ในเดือนถัดไป

รวมทั้งกำหนดวิธีการดำเนินการจัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิส ตั้งแต่กระบวนการจดทะเบียนในระบบ VES การติดต่อระหว่างกรมสรรพากรและผู้ประกอบการจากต่างประเทศ การจัดทำ ส่ง รับ เก็บรักษาเอกสาร การยื่นแบบและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอินเตอร์เน็ต โดยการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการอี-เซอร์วิสจากต่างประเทศ ที่จดทะเบียนตามกฎกระทรวงนี้ จะชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในไทยที่ไม่ได้จดทะเบียนแวต

นอกจากนั้น ผู้ประกอบการอี-เซอร์วิสจากต่างประเทศไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีและไม่มีสิทธินำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขาย ภาษีอี-เซอร์วิสนี้ ช่วยสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจบริการออนไลน์ จะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันแล้ว ภาษีอี-เซอร์วิสจะเป็นการเพิ่มรายได้ทางหนึ่งให้กับประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2564 และในอนาคตจะทำให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลรายได้ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่จะสามารถนำไปใช้ในการคำนวณเป็นฐานภาษีใหม่ที่น่าจะเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของประเทศไทยในอนาคต นายอาคมกล่าว

ล่าสุด กรมสรรพากร เปิดเผยว่า มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วมากกว่า 50 รายแล้ว จากกว่า 15 ประเทศ เช่น ไอร์แลนด์ แคนาดา สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นต้น โดยผู้ประกอบการที่คนไทยรู้จักกันดี เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เน็ตฟลิกซ์ กูเกิล ไมโครซอฟท์ ซูม แอเมซอน แอร์บีเอ็นบี ไลน์ เป็นต้น ด้านการเคลื่อนไหวของผู้ให้บริการล่าสุดนั้น อาทิ เฟซบุ๊ก ได้ประกาศเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับผู้ใช้บริการโฆษณาในไทย ให้ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามอัตราท้องถิ่น ซึ่งในประเทศไทยจะเสียอยู่ที่อัตรา 7% นับตั้งแต่ วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป

โดย นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่มี ผู้เป็นห่วงจะมีการผลักภาระภาษีให้ผู้บริโภคหรือไม่นั้น จากการติดตามข้อมูลการเก็บภาษีอีเซอร์วิสจาก 60 ประเทศ พบว่ามีทั้งการผลักภาระ และไม่ผลักภาระภาษีให้ผู้บริโภค เช่น หากเป็นธุรกิจที่แข่งขันกันสูงบริษัทอาจยอมเสียภาษีเองเพราะกลัวจะเสียลูกค้า แต่ถ้าธุรกิจรายใหญ่ๆ ที่ไม่มีคู่แข่งก็อาจจะให้ผู้ซื้อ ผู้ใช้บริการเป็นคนเสียภาษีเอง หรือบางรายอาจแบ่งเสียภาษีกันคนละครึ่ง ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท รวมถึงสภาพการแข่งขันทางการค้า

สำหรับการจัดเก็บมูลค่าเพิ่ม (แวต) ตาม พ.ร.บ.อี-เซอร์วิส ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ ผู้ประกอบการในไทย จึงไม่มีผลต่อการเก็บ ภาษีกับผู้ประกอบการไทย หรือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวล เพราะไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการจัดเก็บภาษีนี้ สำหรับผู้ใช้บริการในไทยที่จดทะเบียนแวตอยู่แล้ว ให้ดำเนินการโดยยื่นแบบและชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบ ภ.พ.36 และสามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรมาหักเป็นภาษีซื้อได้เช่นเดิม

ขอย้ำอีกครั้ง วันที่ 1 กันยายน เก็บภาษีอี-เซอร์วิส จากผู้ให้บริการจากต่างประเทศ ส่วนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ จะกระทบแค่ไหน เดี๋ยวรู้กัน!?!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง