รีเซต

ผลวิจัยชี้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด เสี่ยงเกิด "ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน" มากกว่าไข้หวัดใหญ่

ผลวิจัยชี้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด เสี่ยงเกิด "ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน" มากกว่าไข้หวัดใหญ่
TNN ช่อง16
17 สิงหาคม 2565 ( 07:59 )
75
ผลวิจัยชี้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด เสี่ยงเกิด "ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน" มากกว่าไข้หวัดใหญ่

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า 17 สิงหาคม 2565...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 488,596 คน ตายเพิ่ม 1,318 คน รวมแล้วติดไป 596,447,987 คน เสียชีวิตรวม 6,458,197 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และไต้หวัน

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 80.01 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 69.8

...สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

...อัพเดตความรู้โควิด-19

"ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ"

Lo Re III V และคณะ จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลวิจัยในวารสารการแพทย์ระดับโลก JAMA เมื่อวานนี้ 16 สิงหาคม 2565

เปรียบเทียบความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ ระหว่างกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา (ทั้งช่วงก่อนมีการฉีดวัคซีน และช่วงหลังจากมีการฉีดวัคซีน) กับสถิติของกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงปี 2018-2019

สาระสำคัญที่ค้นพบคือ 

ผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้น จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำภายใน 90 วัน มากกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ 60%-90%

"เปรียบเทียบย่างก้าวของ BA.5 และ BA.2.75"

แนวโน้มการระบาดของ BA.5 ตอนนี้ ทั่วโลกดูจะเริ่มชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามคาดว่ายอดติดเชื้อสะสมจะทะลุ 600 ล้านภายในปลายเดือนนี้

BA.2.75 ที่พบครั้งแรกในอินเดีย โดยระบาดแซง BA.5 ภายในประเทศ และพบในประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ในช่วงก่อนหน้านี้ จากการติดตาม พบว่ามีแนวโน้มระบาดขยายตัวขึ้น แต่อัตราการขยายตัว (rate of logistic growth) ของ BA.2.75 ประมาณ 0.07 ต่อวัน ซึ่งน้อยกว่า BA.5 ซึ่งเคยสูงกว่าถึง 2 เท่า (0.14 ต่อวัน) เมื่อประมาณพฤษภาคมที่ผ่านมา

หากดูค่า Rt ที่สะท้อนถึงสมรรถนะการแพร่เชื้อของ BA.2.75 ในอเมริกาขณะนี้อยู่ที่ 1.3 ซึ่งถือว่าน้อยกว่า BA.5 ในช่วงต้นของการระบาดที่มีค่าราว 1.6 

ก็อาจพอประเมินโดยคร่าวได้ว่า หากระลอกถัดไปของโลกเป็น BA.2.75 ก็อาจมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่อาจไม่เร็วนัก และจำนวนติดเชื้อที่เกิดขึ้นอาจไม่มากเท่า BA.5

อย่างไรก็ตาม อาจมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นและมีสมรรถนะในการแพร่ระบาดมากกว่านี้ การดำเนินชีวิตจึงควรมีสติ ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท

"WHO webinar on Long COVID in children and youth" 

ประมาณหกโมงครึ่งตอนเย็นวันนี้ องค์การอนามัยโลกจะมีการจัด webinar เรื่อง Long COVID ในเด็กและเยาวชน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ นักวิชาการ และผู้ที่สนใจ

สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหา Long COVID ว่าเป็นปัญหาท้าทายที่ทั่วโลกกำลังวางแผนรับมือ และเป็นปัญหาใกล้ตัวเรา

หากใครสนใจสามารถลงทะเบียนออนไลน์ และเข้าฟังได้

การรู้เท่าทันสถานการณ์ จะนำไปสู่การตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเหมาะสม

ไม่ควรหลงติดกับดัก tone down harm and risk perception เพราะจะนำไปสู่ภาวะต้มกบ หรือรู้ตัวเมื่อสายเกินไป

ป้องกันตนเองอย่างสม่ำเสมอ

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องมีความสำคัญมาก

อ้างอิง

1. Lo Re III V et al. Association of COVID-19 vs Influenza With Risk of Arterial and Venous Thrombotic Events Among Hospitalized Patients. JAMA. 16 August 2022.

2. Bedford T. FHCRC. 16 August 2022.

3. WHO. 16 August 2022.




ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง