รีเซต

ระทึก!งบ3แบงก์วันนี้ SCB-TMBสำรองเพิ่ม

ระทึก!งบ3แบงก์วันนี้ SCB-TMBสำรองเพิ่ม
ทันหุ้น
20 ตุลาคม 2563 ( 07:30 )
192

ทันหุ้น – สู้โควิด – SCB-KTB-TMB ประกาศงบไตรมาส 3/2563 วันนี้ ชี้ทั้ง SCB-TMB อาจต้องตั้งสำรองเพิ่มกดกำไร ขณะที่ KTB กำไรเทียบไตรมาสก่อนโตได้ รับภาพรวมระยะสั้นยังขาดปัจจัยหนุน ส่วนมาตรการแบงก์ชาติหลังเลิกพักหนี้ช่วยเบรก NPL ได้ รับไม่ต้องรีบซื้อแม้ราคาถูก แนะเลือกหุ้นปัจจัยหนุนเฉพาะตัวเช่น BBL, TISCO


วันนี้ (20 ตุลาคม) จับตาธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 3 แห่งจะประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/2563 ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงไทย (KTB) และ ธนาคารทหารไทย (TMB)


นายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด คาดการณ์ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2563 ของกลุ่มธนาคารที่ประกาศวันนี้ 3 ธนาคาร จะมีเพียงKTB เท่านั้นที่น่าจะมีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 3/2563 ที่ 4,352 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 2/2563 (QoQ) แต่ยังคงลดลง 32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เนื่องจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้จะลดลงเหลือ 1.07 หมื่นล้านบาท ลดลง 13% QoQ เนื่องจากในไตรมาสก่อนมีการตั้งสำรองพิเศษ และการตั้งสำรองสำหรับลูกหนี้รายใหญ่ อย่างเช่น การบินไทย (THAI) ไปแล้ว


อย่างไรก็ตามกำไรงวดไตรมาส4/2563 ยังมีความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้หลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เบื้องต้นคงประมาณการกำไรทั้งปี 2563 ของ KTB ที่ 18,256 ล้านบาท คงราคาเป้าหมายที่ 11.5 บาท คำแนะนำเชิงพื้นฐาน “ซื้อ” อิง PBV 0.44 เท่า แม้ราคาหุ้นปัจจุบันจะสะท้อนความเสี่ยงไประดับหนึ่ง และมี Upside จากราคาเป้าหมาย อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยกดดันในครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะในประเด็นด้านคุณภาพหนี้ ทำให้เรามองว่ายังไม่ใช่จังหวะในการเข้าลงทุน


@TMB, SCB ตั้งสำรองสูง


สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB คาดกำไรสุทธิงวดไตรมาส 3/2563 ที่ 5,504 ล้านบาท ลดลง  34% QoQ และลดลง 63% YoY โดยมีประเด็นกดดันจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.08 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% QoQ หรือคิดเป็น Credit Cost ที่ 2.11% ตามคุณภาพหนี้ และสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มแย่ลง อาจเห็นสำรองครึ่งปีหลังยังสูง ปรับประมาณการกำไรลงอีกเล็กน้อย ประมาณการเดิมของเราคาดกำไรสุทธิปี 63 ไว้ที่ 28,285 ล้านบาท โดยกำไรงวด 9 เดือนที่คาดการณ์คิดเป็น 82% ของประมาณการทั้งปี ซึ่งได้สะท้อนภาพของสำรองหนี้ในระดับสูงไว้แล้ว เราจึงยังคงประมาณการเดิมไว้ ขณะที่ในปี 64 เราคาดว่าจะเห็นค่าใช้จ่ายสำรองหนี้เริ่มลดลง และกำไรจะเริ่มฟื้นตัวได้ ให้ราคาเป้าหมาย 85 บาท อิง PBV 0.67 เท่า แม้จะมี Upside ที่น่าสนใจ แต่ด้วยแนวโน้มที่อาจเห็นผลประกอบการอ่อนตัว โดยเฉพาะในไตรมาส 4/2563 ทำให้ยังมีปัจจัยกดดัน


สำหรับกำไรสุทธิงวดไตรมาส 3/2563 ของธนาคารทหารไทย หรือ TBM ที่ 2,128 ล้านบาท ลดลง 31% QoQ แต่เพิ่มขึ้น 1% YoY โดยว่าจะมีค่าใช้จ่ายสำรองหนี้เพิ่มขึ้น 11% QoQ โดยคิดเป็น Credit Cost ที่ 1.65% เทียบกับไตรมาส 2/2563 ที่ 1.47% เนื่องจากคาดว่าจะเริ่มเห็นคุณภาพหนี้แย่ลงบ้างตามสภาวะเศรษฐกิจ เบื้องต้นอาจต้องปรับประมาณการกำไรทั้งปี 2563 ลงจาก ณ ปัจจุบันที่คาดไว้ที่ 12,820 ล้านบาท แนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสม 1.20 บาท


@ระยะสั้นยังมีปัจจัยกดดัน


นายธนภัทร กล่าวว่า ภาพรวมกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังมีปัจจัยกดดันทั้ง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ, คุณภาพหนี้ที่เป็นส่วนสำคัญในการกดดันกำไร ทำให้ราคาหุ้นยังขาดปัจจัยหนุนในระยะสั้น จึงยังไม่ใช่จังหวะในการเข้าลงทุน แต่เนื่องจากราคาหุ้นปัจจุบันจะสะท้อนความเสี่ยงไประดับหนึ่ง และมี Upside จากราคาเป้าหมายจึงแนะนำเลือกลงทุน หุ้นที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัวอย่างBBL และ TISCO


บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ คาดการณ์ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/2563 กลุ่มธนาคารพาณิชย์  7 ธนาคารที่ Coverage อยู่ ว่า จะรายงานกำไรสุทธิที่ 2.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.8% QoQ แต่ยังคงปรับตัวลดลง -39.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) กำไรของ KBANK, และ BBL มีแนวโน้มฟื้นตัวเด่น จากการตั้งสำรองที่ลดลง หลังเร่งตั้งสำรองไปเมื่อช่วครึ่งแรกของปี (1H63)  ขณะที่กำไรของ SCB, และ TMB จะถูกกดแรงจากการที่ต้องตั้งสำรองอย่างมีนัย สำหรับแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยง (stress test) คาดการณ์ว่า TISCO เป็นธนาคารที่มีโอกาสผ่านสูงสุด เนื่องจากมีเงินในกองทุนสูง


@มั่นใจ NPL ไม่ล้น


นายกรกช เสวตร์ครุตมัต นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สถาบันการเงินเป็นผู้พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นรายกรณี  ถือเป็นการควบคุมปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ได้อย่างเหมาะสม และยังคงมั่นใจว่า จะไม่นำไปสู่วิกฤติ NPL ไหลเข้าสู่ระบบในปริมาณมาก โดยจากประมาณการของธปท. คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณ NPL ไหลลงสู่ระบบเพียงประมาณ 6%หรือประมาณ 5.7 หมื่นรายจากจำนวนลูกหนี้ในระบบธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ทั้งสิ้น 9.5 แสนราย น้อยกว่าที่ฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 10% อย่างไรก็ตามในระยะสั้น ยังคงต้องติดตามปัจจัยกดดันหลักคือ การตั้งสำรองของธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อ SMEและสินเชื่อรายย่อย เนื่องจะกดดันศักยภาพการทำกำไรในอนาคต ดังนั้นจึงยังคงน้ำหนักการลงทุน “น้อยกว่าตลาด” และคงคำแนะนำ “ทยอยสะสม” หุ้น BBL ราคาเหมาะสมที่ 124 บาท และ TISCO ราคาเหมาะสมที่ 80 บาท

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม