รีเซต

ทนไม่ไหว! ชาวสุรินทร์โวยฟาร์มหมู ส่งกลิ่นเหม็นร้องเรียน 10 ปี ไม่คืบ

ทนไม่ไหว! ชาวสุรินทร์โวยฟาร์มหมู ส่งกลิ่นเหม็นร้องเรียน 10 ปี ไม่คืบ
มติชน
5 สิงหาคม 2563 ( 17:19 )
182

ชาวบ้าน 3 ตำบล 100 คน ทนไม่ไหว โวยฟาร์มหมูส่งกลิ่นเหม็นทุกวัน เด็กนักเรียนปวดหัวอ่านหนังสือไม่ได้ ร้องเรียนมากว่า 10 ปีไม่คืบหน้า ร้องผู้ว่าฯสั่งปิดฟาร์มก่อนจะเคลื่อนไหวใหญ่ต่อ

 

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่หน้าศาลากลาง จ.สุรินทร์ ชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนจากฟาร์มหมูแห่งหนึ่งตั้งอยู่ หมู่ 5 บ้านสนายดวจ ต.คอโค อ.เมือง จ.สุรินทร์ โดยชาวบ้าน 3 ตำบล ประกอบด้วยต.คอโค ต.นอกเมืองและต.ท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์ กว่า 100 คน นำโดยนายชุมพร เรืองศิริ ผญบ.แสงตะวัน ม.4 ต.คอโค อ.เมือง ได้รวมตัวกัน เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมให้ผู้ว่าราชการ จ.สุรินทร์ เร่งแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยด่วน กรณี ที่ชาวบ้านตำบลคอโคและตำบลข้างเคียง ได้รับความเดือนร้อนจากฟาร์มหมูศิริวรรณ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2553ถึงปัจจุบัน ได้รับผลกระทบมาโดยตลอดจากการปล่อยน้ำเสียจากฟาร์มหมูลงสู่ลำน้ำห้วยเสนง ได้ส่งกลิ่นเหม็นกระจายเป็นวงกว้าง ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความเดือนร้อนเป็นอย่างมาก รวมระยะเวลาเกือบ 10 ปี

 

พร้อมกันนี้ ชาวบ้านยังพากันถือป้ายข้อความประท้วง ระบุว่า ชาวบ้านไม่เอาฟาร์มหมู ทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างมลพิษนาน 8 ปี ไม่ทนอีกต่อไป ปิดๆ ฟาร์มหมู, ผู้ป่วยติดเตียง เด็ก คนชรา ดมกลิ่นขี้หมูมา 8 ปีแล้ว ปิดๆๆฟาร์มหมู, เด็กนักเรียนสมองเสื่อม ครูก็เหม็นขี้หมู ไม่เป็นอันสอน ปิดฟาร์มหมู, และสัตว์น้ำในลำห้วยเสนงตายหมด ชาวบ้านอดกินปลา ลดค่าครองชีพ ปิดๆๆฟาร์มหมู เป็นต้น

 

 

โดยในหนังสือร้องเรียน ระบุว่า กว่า 10 ปี ที่คนลุ่มน้ำห้วยเสนงตอนปลายใน 3 ตำบล ต้องประสบกับปัญหาจากฟาร์มหมู ทั้งสิ่งปฏิกูล ของเสียและกลิ่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน สุขภาพ สุขภาวะและสิ่งแวดล้อม โดยลำดับตามช่วงเวลาและผลกระทบได้ดังนี้ พ.ศ.2553 ฟาร์มหมูแห่งหนึ่งปล่อยน้ำเสียจากฟาร์มลงสู่ลำน้ำห้วยเสนง ส่งผลให้สิ่งมีชีวิต สัตว์น้ำและปลาตายเป็นจำนวนมาก จนชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากฟาร์มหมู พ.ศ.2553 ถึง พ.ศ.2561 ในช่วงเวลาระหว่างนี้ ชาวบ้านยังพบว่ามีของเสียจากฟาร์มไหลลงลำน้ำห้วยเสนงเป็นครั้งคราว พ.ศ.2561 ฟาร์มหมูศิริวรรณได้ปล่อยน้ำเสียจากฟาร์มลงสู่ลำน้ำห้วยเสนงอีกครั้ง ซึ่งนับเป็นความรุนแรงและเห็นชัดเช่นเดียวกันกับเมื่อครั้งปี พ.ศ.2553 ส่งผลให้สัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก และในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่หนักและได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับฟาร์ม โดยประมงจ.สุรินทร์ ชลประทานห้วยเสนงและคณะกรรมการเครือข่ายลุ่มน้ำห้วยเสนงตอนปลาย ซึ่งมีตัวแทนชุมชนนำโดยผู้ใหญ่บ้านในต.คอโค หมู่ 4 บ้านแสงตะวัน หมู่ 11 บ้านบางกอกน้อย ผู้ใหญ่บ้านต.ท่าสว่าง หมู่ 15 และหมู่ 17 เป็นผู้ร้องเรียนร่วม

 

ขณะที่นายอดิเทพ กมลเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้ง อบต.คอโค, ประมง, ทรัพยากรชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมถึงชลประทานสุรินทร์ มาสอบถามถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ที่ห้องประชุมชั้น 2 ศาลากลาง จ.สุรินทร์ พร้อมกับกลุ่มชาวบ้าน นอกจากนี้ยังได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงผลคดี ที่มีการกล่าวหาฟาร์มหมูว่ามีความคืบหน้าไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว โดยทางตำรวจได้แจ้งว่า ขณะนี้เรื่องถึงชั้นอัยการแล้ว โดยอาทิตย์หน้าทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 11 จะเข้ามาให้ของมูลเพิ่มเติม ขณะเดียวกันต่อข้อร้องเรียนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ ประชาชน และผู้ประกอบธุรกิจฟาร์มหมู ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ประชานได้รับผลกระทบ ว่าทางผู้ฟาร์มหมูได้ดำเนินตามหลักการที่ถูกต้องหรือไม่ โดยมีระยะเวลา 300 วัน ซึ่งรองผู้ว่าฯจะลงไปกำกับดูแลการดำเนินการตรวจสอบด้วยตนเอง เพื่อให้ประชาชนที่ร้องเรียนเกิดความสบายใจ หากมีการตรวจสอบแล้วพบว่า ฟาร์มไม่ดำเนินการตามหลักการที่ถูกต้อง ก็จะดำเนินการสั่งปิดทันที ในเบื้องต้นได้สั่งการให้ อบต.คอโค เข้าไประงับขบวนการเลี้ยง หรือการขยายพันธุ์สุกรในฟาร์มไว้ก่อน จนถึงขบวนการสอบเสร็จสิ้น โดยชาวบ้านที่มาร้องเรียนมีความพอใจต่อแนวทางแก้ไขร่วมกันดังกล่าว จึงได้แยกย้ายกันกับบ้าน และจะติดตามการดำเนินการการแก้ไขอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

 

นายชุมพร เรืองศิริ ผญบ.แสงตะวัน หมู่4 ต.คอโค อ.เมือง กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 ขณะนั้น ซึ่งเราไม่ได้ร้องเรียน โดยได้คุยกันที่ อบต.ในพื้นที่ให้ช่วยแก้ไขปัญหา จากนั้นปัญหาก็เริ่มทยอยเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ มีการปล่อยเล็กปล่อยน้อยบ้าง ถ้าวันไหนฝนตก ก็มีน้ำเสียปล่อยเล็ดลอดออกมาอีก ทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นและปลาตายจำนวนมาก ทำให้สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ในลำน้ำห้วยเสนง เป็นระยะทางถึง 12 ก.ม. ก่อนที่จะถึงลำน้ำชี ชาวบ้านใช้หากิน ปลาสัตว์น้ำต่างๆ หายหมด ยิ่งช่วงโควิด ชาวบ้านจะไปหากินประทังชีวิต ปลาก็หายหมด ถามว่าใครจะช่วยเราได้ ส่วนคดีความ 2 ปีแล้วไม่ถึงไหน กลัวจะเป็นเหมือนกรณีข่าว บอส อยู่วิทยา ที่คดีจะหายไป กลิ่นเหม็นจากฟาร์มหมู่ที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน จึงพากันมาเสนอให้มีการปิดฟาร์มหมู

 

นางสมศรี ดำสนิท อายุ 63 ปี ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า ตนสงสารเด็กนักเรียนทำการบ้านไม่ได้ อ่านหนังสือไม่ได้ เพราะกลิ่นเหม็นรบกวน พวกเราแก่กันแล้วไม่รู้จะตายวันไหน สงสารแต่เด็กๆที่เป็นเยาวชน อนาคตของประเทศ เด็กๆไร้เดียงไม่สามารถต่อต้านอะไรได้ ทั้งครูทั้งนักเรียนก็ไม่เป็นอันเรียนอันสอนหนังสือ พวกชาวบ้านคนโตๆ จึงต้องออกมาร้องเรียนเพื่อปกป้องและแก้ไขปัญหา เพราะฉะนั้นฝากผู้ว่าราชการ จ.สุรินทร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการกับฟาร์มนี้อย่างเด็ดขาดด้วย เห็นแก่เด็กนักเรียน ปัญหานี้เกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว ร้องเรียนมาหลายแห่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ลงไปตรวจสอบหลายครั้ง ก็ไม่มีความคืบหน้าอะไร เหม็นขี้หมูจนปวดหัว นั่งในบ้าน นอกบ้านก็เหม็น เหม็นทั้งวันทั้งคืน จึงขอความกรุณาช่วยปิดฟาร์มด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง