ส่งหนังไทยสู่ตลาดโลก เทศกาลภาพยนต์เซี่ยงไฮ้ สร้างรายได้กว่า 2 พันล้านบาท
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในฐานะ Soft Power ให้แข็งแกร่งและเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมเสริมสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยได้ขยายโอกาสทางธุรกิจสู่ระดับสากล ซึ่งรัฐบาลโดยการบูรณาการระหว่าง กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้ กองภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และกองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้นำผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาตินครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai International Film Festival: SIFF) ครั้งที่ 26 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 23 มิถุนายน 2567 คาดการณ์ว่าสร้างเป็นรายได้กว่า 2,240 ล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังร่วมกันจัดกิจกรรม “Creativity Unleashed: Strengthening Thailand and China’s Partnership in Film and Content Industry” เป็นครั้งที่ 2 ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ โดยมีหน่วยงาน องค์กร ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 57 องค์กร/บริษัท โดยมีการเจรจาพูดคุยเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและเครือข่ายด้านภาพยนตร์ของไทยและจีน รวมถึงมีการสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย และมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย พร้อมทั้งเชิญชวนให้ผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์จากจีนเข้ามาลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในไทยเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังร่วมกันออกคูหาประเทศไทยในกิจกรรมตลาดภาพยนตร์ (Film Market) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 18 มิถุนายน 2567 ณ Shanghai Exhibition Center นครเซี่ยงไฮ้ พร้อมสนับสนุนการสร้างโอกาสการเจรจาทางธุรกิจ และแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ซึ่งภายในเทศกาลฯ ได้นำภาพยนตร์จากไทย จำนวน 4 เรื่องที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลฯ ได้แก่ สัปเหร่อ เพื่อนไม่สนิท บ้านเช่าบูชายัญ และ นักรบมนตรา: ตำนานแปดดวงจันทร์ โดยได้รับการตอบรับจากสื่อมวลชนและผู้ชมชาวจีนเป็นอย่างดี โดยคาดการณ์มูลค่าการเจรจาธุรกิจตลอดช่วงกิจกรรมกว่า 2,240 ล้านบาท พร้อมกันนี้ ในปี 2567 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาตั้งเป้าหมายให้เกิดรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย กว่า 7,500 ล้านบาท
นายชัย ระบุด้วยว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างโอกาสผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศ ภาพยนตร์ไทยถือเป็นส่วนหนึ่งของการทูตวัฒนธรรม การเผยแพร่ Soft Power ไทยในด้านการเสริมสร้างภาพลักษณ์ และความนิยมไทย เสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ภาพยนตร์ของไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างเต็มศักยภาพในเวทีโลก เช่นเดียวกับการถ่ายทำ และสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย ถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีโดยเฉพาะในระดับประชาชน และส่งเสริมทักษะแรงงานภาพยนตร์ไทย