จีเอสเค จับมือ กลุ่มทรู เปิดคลินิกออนไลน์ “Telehealth Together”
เครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ จีเอสเค และ กลุ่มทรู ผนึกกำลังเปิดโครงการ “Telehealth Together” คลินิกออนไลน์ เพื่อสุขภาพดี ร่วมพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ผ่านแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ “ทรู เฮลท์” เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ครอบคลุม 3 โรค ได้แก่ โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคภูมิแพ้ทางจมูก ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และนำร่องใช้กับโรงพยาบาล 15 แห่งที่มีความพร้อม
รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย กล่าวว่า เครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการดูแลรักษาโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างเป็นระบบ ได้มาตรฐานสากล ตลอดระยะเวลากว่า 17 ปี มีเครือข่ายกว่า 1,300 แห่งในโรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ และมีคนไข้ในเครือข่ายรวมกว่า 600,000 คน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหืดประมาณ 3 ล้านคน แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจให้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่สถานพยาบาล ด้วยข้อจำกัดเรื่องการเดินทางและความเสี่ยงในการติดเชื้อ จำนวนการใช้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอกของแต่ละโรงพยาบาลลดลงอย่างเห็นได้ชัด เกิดปัญหาการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยและการติดตามการรักษาทำได้ยากมากขึ้น อาจจะส่งผลต่อสุขภาพของผู้ป่วยที่จะมีอาการรุนแรงขึ้นได้ จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาและปรับปรุงระบบการให้บริการ ซึ่งความร่วมมือกับจีเอสเคและกลุ่มทรู ในโครงการ “Telehealth Together” คลินิกออนไลน์ เพื่อสุขภาพดี จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ทั้งโรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคภูมิแพ้ทางจมูก ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นการยกระดับบริการสาธารณสุขเพื่อรองรับวิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่ เป็นประโยชน์แบบองค์รวมต่อผู้ป่วยและสังคม ตรงตามยุทธศาสตร์ด้านการจัดบริการสุขภาพแบบ New Normal ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เน้นให้ความสำคัญในปี 2564 นี้
นายวิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ จีเอสเค กล่าวว่า ในฐานะผู้ค้นคว้าวิจัยพัฒนายาและวัคซีนนวัตกรรม จีเอสเคมีเจตนารมณ์ที่จะยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไทยให้ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตามนโยบาย “สุขภาพดีเข้าถึงได้” จึงได้ริเริ่มการจัดทำโครงการ “Telehealth Together” คลินิกออนไลน์ เพื่อสุขภาพดี โดยร่วมมือกับ เครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ และ กลุ่มทรู นำเทคโนโลยี Telemedicine “แพทย์ทางไกล” ผ่านแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ “ทรู เฮลท์” เข้ามาใช้ในการอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยที่มีความต้องการคำปรึกษาในการรักษาอาการป่วย สามารถพบแพทย์และใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของโครงการฯ โดยจีเอสเคให้การสนับสนุนด้านข้อมูลทางการแพทย์ (Scientific Information) และนวัตกรรมทางสุขภาพที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน เพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนร่วมสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฯ และสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจ เพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์โดยรวม ซึ่งในเบื้องต้นจะนำร่องใช้กับโรงพยาบาล 15 แห่งที่มีความพร้อม และคาดว่าจะสามารถขยายเพิ่มมากกว่า 100 แห่งในปี 2565 และมากกว่า 500 แห่งในปีถัดไป
นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มทรู ผู้นำการให้บริการสื่อสารและดิจิทัลครบวงจรในประเทศไทย ร่วมส่งเสริมและผลักดันการใช้เทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัล ยกระดับการทำงานและการใช้ชีวิต ตลอดจนขับเคลื่อนภาคธุรกิจในทุกประเภทอุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทยและประเทศไทย โดยความร่วมมือในโครงการนี้ กลุ่มทรู ได้นำเทคโนโลยีสื่อสารครบวงจรและความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลของทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ผสานกับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ต่อยอดฟีเจอร์บนแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ “ทรู เฮลท์” เพื่อร่วมดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ให้สามารถเข้าถึงแพทย์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และง่าย ผ่านระบบออนไลน์ที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ และยังคงได้รับบริการเหมือนกับที่โรงพยาบาล อีกทั้งยังเพิ่มความปลอดภัยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต้องหลีกเลี่ยงการเดินทาง ลดความเสี่ยงติดเชื้อจากสถานที่ชุมชนต่างๆ โดยผู้ป่วยสามารถนัดหมายและปรึกษาแพทย์ประจำตัวในแผนก EACC Clinic บนแอปพลิเคชัน True HEALTH เพื่อพูดคุยกับแพทย์ได้แบบเรียลไทม์ ทั้งการโทร แชต และวิดีโอ คอลล์ (VDO Call) เพิ่มช่องทางให้ผู้ป่วยได้พบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ “ทรู เฮลท์” ยังช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับแพทย์ สามารถให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยได้ตามเวลานัดหมาย โดยสามารถดูประวัติการรักษา ให้คำปรึกษาและบันทึกประวัติการรักษาผ่านแพลตฟอร์มได้ทันที นับเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัล ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และช่วยเพิ่มศักยภาพการทำงานแก่ทีมแพทย์ให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤต