ชวนเที่ยวย้อนยุคท่าเรือ"ฮวย จุ่ง ล้ง" #ล้ง1919 แบบชิคๆในกรุงเทพฯ
ในช่วงวันหยุดยาวมาฆบูชา เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเหนื่อยถ้าต้องขับรถเดินทางออกไปเที่ยวไกลๆ วันนี้ TNN ONLINE จึงมีแหล่งท่องเที่ยวในกรุงเทพฯสไตล์ย้อนยุคแบบจีนๆ มาแนะนำ
สถานที่ท่องเที่ยวที่ว่านี้ ก็คือ ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” หรือในปัจจุบันคือ ล้ง 1919 สถานที่ท่องเที่ยวแนวศิลปะร่วมสมัยซึ่งน่าสนใจมากๆ ด้วยที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ใกล้ไม่ไกลในย่านฝั่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามกับตลาดน้อย เป็นที่เที่ยวแนว Heritage หลังจากที่มีการบูรณะ และพลิกฟื้นอดีตท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ท่าเรือกลไฟริมแม่น้ำเจ้าพระในอดีตให้เป็นที่ท่องเที่ยวสุดชิคช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ให้หันมาสนใจประวัติศาสตร์มากขึ้น
ที่มาของ “ล้ง 1919 “
ชื่อ “ล้ง” มาจากชื่อเดิมของสถานที่แห่งนี้ ที่มาชื่อว่า “ฮวย จุ่ง ล้ง” เป็นภาษาจีน เขียนว่า 火 船 廊 หมายถึง “ท่าเรือกลไฟ” ซึ่งทุกวันนี้รู้จักในนามโกดังบ้าน “หวั่งหลี” ตั้งอยู่ ณ สุดถนนเชียงใหม่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับย่านตลาดน้อย - เยาวราช สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2393 (ค.ศ.1850) โดยพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ต้นตระกูลพิศาลบุตร ซึ่งเป็นคนจีนที่เกิดบนแผ่นดินสยาม โดยบรรพบุรุษของท่านได้เดินทางจากเมืองจีนมาค้าขายและตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์
สำหรับท่าเรือ ล้ง1919 มีพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ พร้อมพื้นที่อาคาร 6,800 ตารางเมตร สมัยก่อนจะเป็นท่าเรือสำหรับเรือกลไฟ หรือเรือโดยสาร หรือเรือบรรทุกสินค้าที่ใช้ฟืนเป็นต้นเชื้อเพลิง มีขนาดใหญ่กว่าเรือไฟ โดยชาวจีนในอดีตนิยมใช้เดินทางทางทะเลเพื่อเข้ามาค้าขายหรือย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่ประเทศไทย และได้มาเทียบท่าเรือขึ้นฝั่งที่ท่าแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งการค้าธุรกิจ โดยตัวอาคารท่าเรือเป็นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นต้น อีกด้วย
ต่อมาเมื่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้ามามีบทบาทในการค้ากับต่างชาติมากขึ้น ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ค่อย ๆ ลดบทบาทลง ในปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ.1919) ตระกูล “หวั่งหลี” โดยนาย ตัน ลิบ บ๊วย จึงได้เข้ารับช่วงเป็นเจ้าของต่อจากตระกูลพิศาลบุตร และได้ปรับท่าเรือฯ ดังกล่าวให้กลายเป็นอาคารสำนักงาน และโกดังเก็บสินค้าสำหรับกิจการการค้าด้านการเกษตรของตระกูลหวั่งหลี ที่ขนส่งมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นที่อยู่อาศัยให้เช่าราคากันเองสำหรับพนักงานของตระกูลหวั่งหลี รวมถึงเก็บรักษาศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) ที่ประดิษฐานอยู่คู่กับท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน
มุมถ่ายรูป หรือคาเฟ่ ร้านอาหาร ลานกิจกรรม นิทรรศการศิลปะ
ด้านในพื้นที่ 6 ไร่ของล้ง 1919 ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวย้อนยุคธรรมดาๆ แต่ว่าได้ปรับปรุงให้เป็นเหมือนแลนด์มาร์คอีกหนึ่งแห่งของย่านฝั่งธนฯ โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่เป็นมุมยอดฮิตของนักท่องเที่ยว ทั้งยังรวมเอาสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ผสานให้เข้ากับศิลปะแบบจีนๆโบราณๆ แต่ทันสมัย ข้างในจึงมีทั้งคาเฟ่ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ลานจัดอีเวนท์ หรือแม่แต่โรงละคร โรงงิ้ว ให้ได้สัมผัสบรรยากาศจีนๆในสมัยก่อนด้วย
กรมเจ้าท่าจับมือกับผู้ให้บริการเรือข้ามฟาก เปิดจุดเชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวริมน้ำ
เมื่อช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา กรมเจ้าท่า ได้ร่วมกับบริษัท ซิโนพอร์ท จำกัด เปิดให้บริการท่าเรือสำหรับให้บริการเรือโดยสารข้ามฟากเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนย่านฝั่งธนกับชุมชนย่านตลาดน้อยฝั่งพระนคร โดยใช้ท่าเรือกรมเจ้าท่า เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อ ระหว่าง ท่าเรือกรมเจ้าท่า - ท่าเรือหวั่งหลี (ล้ง 1919) - ท่าเรือกรมเจ้าท่า - ท่าเรือปากคลองสาน และในอนาคตจะเพิ่มจุดเชื่อมต่อ ท่าเรือกรมเจ้าท่า - ท่าเรือภานุรังษี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการสัญจรทางน้ำ และนักท่องเที่ยวด้วย
การเดินทางไปท่าเรือ "ล้ง 1919"
สามารถนั่ง เรือด่วนเจ้าพระยา (ธงทุกสี รวมถึงไม่มีธง) มาที่ ท่าเรือราชวงศ์ แล้วข้ามฟากมายัง ท่าดินแดง หรือลงที่ ท่าเรือสี่พระยา แล้วข้ามฟากมายัง ท่าเรือคลองสาน ได้เลย
สำหรับการข้ามฟากจากฝั่งพระนครมาที่ ล้ง 1919 มีท่าเรือที่ใกล้เคียง 5 จุด ได้แก่
- ท่าเรือราชวงศ์ - ท่าเรือดินแดง
- ท่าเรือสวัสดิ์ - ท่าเรือวัดทองธรรมชาติ (เป็นจุดที่ใกล้ล้งที่สุด)
- ท่าเรือสี่พระยา - ท่าเรือคลองสาน
- ท่าเรือโอเรียนเต็ล - ท่าเรือวัดสุวรรณ
- ท่าเรือสาทร – ท่าเรือเป๊ปซี่
เมื่อข้ามฟากมาฝั่งธนฯ เเล้ว ต่อแท็กซี่หรือวินมอเตอร์ไซค์ มาที่ ถ.เชียงใหม่ (หน้าปากซอยมีป้ายวัดทองธรรมชาติ) เข้ามาประมาณ 400 เมตร ก็ถึง ล้ง 1919 แล้ว หรือจะใช้บริการรถประจำทางก็ได้โดยมีสายที่ผ่านได้แก่ 6 - 43 - 88 - 167 - 120 - 57
หรือจะสะดวกหน่อยก็เดินทางโดยรถไฟฟ้าได้ทั้ง BTS และ MRT ถ้าเดินทางด้วย BTS ให้ลงสถานี สะพานตากสิน หลังจากนั้นลงจากสถานีทางออก 2 มาที่ท่าเรือสาทร แล้วขึ้นเรือของล้ง หรือ ข้ามฟากไปยังท่าเรือเป๊ปซี่ แล้วต่อรถอีกนิด หรือหากลง กรุงธนบุรี ให้ออกทางออก 2 มาที่ป้ายรถประจำทาง สำนักงานสินสาทร ขึ้นรถเมล์สาย 84 มาลงที่ ป้ายรถประจำทาง ท่าน้ำคลองสาน 1 แล้วเดินอีก 850 เมตร หรือถ้าจะเลือกต่อแท็กซี่หรือวินมอเตอร์ไซค์ ให้ลงสถานีทางออก 3 ก็ได้เช่นกัน
ส่วน เดินทางด้วย MRT ให้ลงหัวลำโพง ขึ้นจากสถานีทางออก 4 ต่อแท็กซี่หรือวินมอเตอร์ไซค์ มาลงที่ท่าเรือสวัสดิ์ แล้วข้ามฟากมายังท่าเรือวัดทองธรรมชาติ ก็จะถึง ล้ง 1919 เลย