เกษตรฯ เคลียร์ทาง ปลดล็อกปัญหาทุเรียนไทยในตลาดจีน พร้อมเพิ่มความเข้มงวดป้องกันเชื้อโควิดปนเปื้อน
ข่าววันนี้ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการตรวจพบ โควิด-1 บนบรรจุภัณฑ์ทุเรียนไทย ในมณฑลเจียงซี ซึ่งเป็นการสุ่มตรวจเชื้อตามปกติในพื้นที่ และส่งผลให้สำนักงานป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แขวงซงโจว เขตไป๋หยุน นครกว่างโจว ออกประกาศเกี่ยวกับการระงับทุเรียนไทยที่มีแหล่งผลิตในบางพื้นที่ของไทย ไม่ให้เข้ามาจำหน่ายในพื้นที่ซึ่งมีตลาดเจียงหนาน เป็นตลาดค้าส่งขนาดใหญ่และตลาดอื่นๆ เนื่องจากพบความเชื่อมโยงจากกรณีของมณฑลเจียงซี จึงมอบหมายให้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบประเด็นดังกล่าว โดยสั่งการให้ทูต/กงสุลเกษตรในจีน ประสานงานแก้ไขปัญหาและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง จนมีการยกเลิกประกาศฯ สามารถปลดล็อกการระงับการจำหน่ายในตลาดเจียงหนาน นครกว่างโจว ได้สำเร็จ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 ตลาดค้าส่งผักและผลไม้เจียงหนาน นครกว่างโจว ซึ่งเป็นตลาดผักผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดทางตอนใต้ของจีน ได้ออกประกาศการกลับมาดำเนินการปกติ ไม่มีการห้ามสินค้าผลไม้ไทยมาจำหน่ายในตลาด แต่จะอนุญาตให้สินค้าผลไม้ที่มีรับรองครบเท่านั้นถึงจะเข้าตลาดได้ คือ ใบรับรองการผ่านพิธีการศุลกากร ใบตรวจสอบกักกัน ใบรับรองการฆ่าเชื้อ และผลการตรวจโควิด-19 ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกอบการอย่าหลงเชื่อข่าวลือ (fake news)
ด้านนายระพีภัทร์ กล่าวว่า เตรียมนัดหมายหารือทวิภาคีกับฝ่ายจีนเพื่อหารือร่วมกันแก้ไขปัญหาและผลักดันผลไม้ไทยสู่ตลาดจีน พร้อมทั้งได้แจ้งให้ผู้ประกอบการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องของไทยเพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันเชื้อโควิดปนเปื้อนในผลไม้ไทยส่งออก ต้องทำการฆ่าเชื้ออย่างรัดกุมและ มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าสินค้าเกษตรไทยมีมาตรการคุมเข้มการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิดตั้งแต่ต้นทาง
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปลัดกระทรวงเกษตรฯ สั่งการให้ทุกหน่วยงานเข้มงวดในมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อของสินค้าเกษตรในทุกกระบวนการให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับ ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีการกำชับและคุมเข้ม ครอบคลุมในทุกมาตรการ ตั้งแต่มาตรการเฝ้าระวังและป้องกันสำหรับเกษตรกรในการดูแลตนเอง การทำความสะอาดพื้นที่และสวนเกษตร มาตรการสำหรับผู้ประกอบการสถานประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) และมาตรการสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเกษตร
ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนต้อง มีการเฝ้าระวัง ตั้งแต่การพ่นยาฆ่าเชื้อตั้งแต่ต้นทางจากสวน จนถึงระบบขนส่ง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ภายในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชของกรมวิชาการเกษตร ติดตามกำกับดูแลที่โรงคัดบรรจุให้ปฏิบัติตามมาตรการ และตรวจสอบใบรับรอง GAP และศัตรูพืช เพื่อออกใบรับรองสุขอนามัยพืชให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกอย่างเคร่งครัด โดยยึดตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) และ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
ขณะที่ด้านปศุสัตว์ ได้เน้นย้ำมาตรการป้องกันอย่างเต็มที่ โดยกรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค ร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ และผู้ประกอบการ มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในโรงงาน และตรวจสอบประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีการเก็บสินค้าตัวอย่าง หากพบมีความเสี่ยงหรือปนเปื้อนเชื้อ กรมปศุสัตว์จะไม่อนุญาตให้ทำการจำหน่ายหรือส่งออกในทันที นอกจากนี้ จากที่ โรงงานผลิตมีขอบเขตพื้นที่ชัดเจน ดังนั้น หากพบการติดเชื้อของพนักงานในโรงงาน จะสามารถคัดแยก ผู้ติดเชื้อออกได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นไปตามแนวทางบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and Seal) ของกรมควบคุมโรค
สำหรับสินค้าประมง กรมประมงได้เข้มงวดระบบการควบคุมตรวจสอบ ตั้งแต่ต้นทาง เช่น เรือประมง มีการผ่านการตรวจสอบ มาตรฐานสุขอนามัย มีมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งจะต้องได้มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) โดยสินค้าประมงส่งออกมีการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยตลอดสายการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบที่นำเข้าโรงงาน กระบวนการในการแปรรูป การบรรจุ ตามมาตรฐาน Good Manufacturing Practice หรือ GMP และ Hazard Analysis Critical Control Point หรือ HACCP เพื่อให้ ระบบคุณภาพของโรงงานและผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานสากล
นอกจากนี้ กรมประมงได้ร่วมกับผู้ประกอบการ กำหนดมาตรการ ในการเฝ้าระวัง ติดตามและดูแลแรงงานในสถานประกอบการตามมาตรฐานการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทางกระทรวง สาธารณสุขกำหนดไว้ทั้งมาตรการ Bubble and seal และอื่นๆ ที่จำเป็น
“ขอให้ประชาชนผู้บริโภคสินค้าเกษตร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คลายความกังวลและสบายใจ กระบวนการผลิตสินค้าเกษตรไทย ปราศจากการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ขณะนี้ ได้ยกระดับมาตรการควบคุมเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก สินค้านำเข้าจะต้องมีการฆ่าเชื้อบรรจุภัณฑ์ก่อนเข้าสู่ตลาดในประเทศต่างๆ และตรวจถูกตรวจเพื่อหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งปลัดกระทรวงเกษตรฯ สั่งการและกำชับให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ เข้มงวดตลอดสายการผลิตให้มากยิ่งขึ้น มีการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้า ทั้งกลุ่มพืช ไม้ผล ปศุสัตว์ ประมง เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อน อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา ยังไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใดในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร”
นอกจากนี้ ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการทุกท่าน ควบคุม กำกับดูแล ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้ออย่างเข้มงวดให้มากกว่าเดิม ทั้งนี้ หากมีการตรวจพบเชื้อปนเปื้อนในกระบวนการผลิต กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพณิชย์ กระทรวงแรงงาน และ ผู้ประกอบการ เราจะร่วมมือกันในการตรวจสอบย้อนกลับ ถึงสาเหตุการปนเปื้อนอย่างเร่งด่วนและเร่งแก้ปัญหาในทันที