รีเซต

กสม.แนะข้อเสนอรัฐ แก้ปัญหาอายัดตัว-ดำเนินคดีล่าช้า เป็นเหตุให้ผู้ต้องขังเสียสิทธิ

กสม.แนะข้อเสนอรัฐ แก้ปัญหาอายัดตัว-ดำเนินคดีล่าช้า เป็นเหตุให้ผู้ต้องขังเสียสิทธิ
มติชน
24 มีนาคม 2565 ( 13:00 )
93

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 24 มีนาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย นายภาณุวัฒน์ ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ร่วมกันแถลงกรณีที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำว่าพนักงานสอบสวนดำเนินคดีล่าช้า โดยเฉพาะการอายัดตัวผู้ต้องขังที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในคดีอาญาอื่น ส่งผลให้ผู้ต้องขังที่ถูกอายัดตัวไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมาย เช่น การลดวันต้องโทษ การได้รับพระราชทานอภัยโทษในโอกาสสำคัญ หรือการเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู จึงเห็นควรให้มีการศึกษาและรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 

นายภาณุวัฒน์ กล่าวว่า ขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม ประสานความร่วมมือหน่วยงานเร่งรัดบันทึกข้อมูลของผู้ต้องหา/ผู้ต้องขังในระบบฐานข้อมูลศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรม เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้กำชับให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบฐานข้อมูลสถานะของผู้ต้องหาก่อนที่จะขอออกหมายจับ และเร่งรัดดำเนินการสอบสวนในทันทีที่สามารถกระทำได้ ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุด กรณีที่ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่างท้องที่กับเขตอำนาจศาลที่พนักงานอัยการจะฟ้องคดีได้และคดีก่อนคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว และได้ส่งสำนวนการสอบสวนมาให้พนักงานอัยการแม้ไม่ได้มีการย้ายตัวผู้ต้องหามาอยู่ในเขตอำนาจศาลเดียวกันก็ตาม ให้พนักงานอัยการรับสำนวนการสอบสวนไว้เพื่อพิจารณาสั่งคดีและฟ้องคดีต่อศาลต่อไปได้ และในขั้นการสั่งฟ้องต่อศาล ให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังอยู่แล้วในเรือนจำต่อศาลในเขตอำนาจที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ซึ่งต่างท้องที่กับเรือนจำที่จำเลยถูกคุมขังอยู่ได้ด้วยวิธีการบรรยายฟ้องให้ศาลทราบว่าจำเลยนั้นถูกคุมขังอยู่แล้ว

 

นายภาณุวัฒน์ กล่าวว่า สำนักงานศาลยุติธรรม ขอให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ว่า การพิจารณาออกหมายจับ ให้ศาลตรวจสอบฐานข้อมูลสถานะของผู้ที่จะถูกออกหมายจับจากระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ และเสนอเรื่องต่อ ก.ต. แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบในการพิจารณารับฟ้องของพนักงานอัยการได้โดยถือว่ามีตัวจำเลย (ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ) เพื่อดำเนินคดีแล้ว โดยหากศาลต้องการสอบถามจำเลยอาจดำเนินการโดยใช้การประชุมทางจอภาพหรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น หรือมีคำสั่งให้เรือนจำพาตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมายังศาลได้

 

“กรมราชทัณฑ์ ต้องแจ้งให้ผู้ต้องขังทราบข้อมูลเกี่ยวกับการอายัดตัวในโอกาสแรกที่กระทำได้ นอกจากนี้ในหลักเกณฑ์การย้ายผู้ต้องขัง ให้กรมราชทัณฑ์แก้ไขระเบียบกรมราชทัณฑ์ให้สามารถขออนุมัติย้ายผู้ต้องขังได้ในทุกกรณี ไม่ใช่เพียงเฉพาะกรณีของผู้ต้องขังที่คดีเสร็จเด็ดขาดและไม่มีคดีอื่นที่ต้องดำเนินการแล้วเท่านั้น รวมทั้งควรแก้ไขระเบียบให้ผู้ต้องขังที่ถูกอายัดได้มีโอกาสรับการฝึกอาชีพและรับการศึกษาอบรมนอกเรือนจำ หากข้อหาและโทษในคดีอายัดไม่ใช่ความผิดอันร้ายแรงที่จะสุ่มเสี่ยงต่อการหลบหนีและทำให้สังคมไม่ปลอดภัย “

ข่าวที่เกี่ยวข้อง