รีเซต

‘ซูเปอร์โพล’เผยคนเครียดจากโควิด-19 ‘รายได้หด-ตกงาน’

‘ซูเปอร์โพล’เผยคนเครียดจากโควิด-19 ‘รายได้หด-ตกงาน’
มติชน
19 เมษายน 2563 ( 09:29 )
217
‘ซูเปอร์โพล’เผยคนเครียดจากโควิด-19 ‘รายได้หด-ตกงาน’

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจด้วยวิธีผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งในและนอกโลกโซเชียลมีเดีย เรื่อง คนเครียด โควิด-19 กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,012 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 18 – 19 เมษายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.8 รับรู้ว่า คนไทยเสียชีวิตจากโควิด-19 น้อยกว่าชาติอื่น ๆ ในขณะที่ร้อยละ 25.2 ระบุไม่น้อยกว่า

เมื่อถามถึง สิ่งที่เห็น ช่วงวิกฤตโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.2 ระบุ ได้เห็นระบบสาธารณสุขของประเทศไทยดี มีแพทย์ พยาบาล อสม. เข้มแข็ง ทุกภาคส่วนตื่นตัว ดูแลสุขภาพมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 23.8 ระบุปานกลาง และเพียงร้อยละ 3.0 ระบุน้อย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.3 ระบุเห็นคนไทยช่วยเหลือดูแลกันเอง โดยเฉพาะคนรายได้ปานกลางถึงระดับล่าง เห็นอกเห็นใจกัน ในขณะที่ร้อยละ 33.6 ระบุปานกลาง และร้อยละ 4.1 ระบุน้อย

เมื่อถามถึง สิ่งที่เป็นอยู่ ช่วงโควิด-19 ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.2 ระบุ รายได้ลดลง ในขณะที่ ร้อยละ 28.3 ระบุเหมือนเดิม และมีเพียงร้อยละ 5.5 ระบุเพิ่มขึ้น และที่น่าเป็นห่วงคือ จำนวนมากที่สุด หรือร้อยละ 47.9 ระบุรายจ่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 45.7 เหมือนเดิม และเพียงร้อยละ 6.4 ระบุรายจ่ายลดลง

ที่น่าห่วงอย่างยิ่งคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.5 ระบุมีความเครียดเพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 30.5 ระบุเหมือนเดิมและเพียงร้อยละ 2.0 เท่านั้นระบุมีความเครียดลดลง

เมื่อถามถึงสิ่งที่ต้องการอีก หรือ พอแล้วจากฝ่ายการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.7 ต้องการให้ฝ่ายการเมืองช่วยลดภาระ ลดรายจ่ายลงอีก ในขณะที่ร้อยละ 8.3 ระบุพอแล้ว และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.3 ต้องการให้ช่วยจ้างงาน ช่วยคนตกงานเพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 9.7 ระบุพอแล้ว

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงการโจมตีกัน ขัดแย้งกันทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.6 ระบุพอแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 7.4 ระบุต้องการอีก และเมื่อศึกษาแนวโน้มจุดยืนทางการเมืองตั้งแต่ เมษายน ปี พ.ศ.2562 ถึง หลังวันที่นายกรัฐมนตรี ขอมหาเศรษฐี ช่วยแก้โควิด-19 คือ 17 เมษายน ปีนี้ พบว่าล่าสุด กลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาลลดลงจากร้อยละ 41.2 ที่วัดได้สัปดาห์ก่อน ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 36.2 หลังวันขอมหาเศรษฐีช่วยแก้โควิด และกลุ่มคนไม่สนับสนุนรัฐบาลลดลงเช่นกันจากร้อยละ 31.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 26.6 แต่กลุ่มพลังเงียบเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 27.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 37.2

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า คนเครียด โควิด-19 มีเหตุปัจจัยจาก 2 ส่วน คือ 1. รายได้หด ตกงาน รายจ่ายเพิ่ม และ 2. การอยู่บ้านกักตัว ข่าวลือ ข้อมูลลวง ความขัดแย้งแตกแยกทางการเมือง กำลังทำให้คนไทยเครียดหนัก ดังนั้น การแก้ไขส่วนที่ 1 ให้ใช้ “แนวเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” อัดฉีดเงินเข้าสู่ 3 ช่องทางได้แก่ ช่องทางแรกคือ อัดฉีดเงินตรงให้ประชาชนแต่ละคนทุกคนที่ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 20 ล้านคนทุกคนได้มากหรือน้อยได้ทุกคนไม่มีใครผิดหวัง ช่องทางที่สองคือ อัดฉีดไปที่ วิสาหกิจชุมชนทั้ง 8 หมื่นชุมชนทั่วประเทศ สร้างงานสร้างอาชีพตามหลัก เศรษฐกิจหมุนเวียน และช่องทางที่สามคือ อัดฉีดเงินไปที่ ผู้ประกอบการธุรกิจ ขึ้นทะเบียนกระทรวงการคลัง

การแก้ไขส่วนที่ 2 คือ เสนอให้จัดตั้ง “กลุ่มเพื่อนทางไกล” ช่วยบรรเทาความเครียดของประชาชน นำโดยกลุ่มจิตแพทย์และจิตอาสาจากทุกภาคส่วนเข้าถึงประชาชนระดับปัจเจกบุคคลและครัวเรือน ช่วยเหลือเยียวยาทางด้านจิตใจและหาก X-Ray คัดกรองพบว่าพวกเขากำลังเดือดร้อนต้องการรับการรักษาเยียวยาด้านวัตถุและเหตุปัจจัยอื่น ๆ ก็ควรมีคณะบุคคลตัวแทนลงพื้นที่เคาะประตูบ้านตอบโจทย์ ตรงเป้าความต้องการของประชาชนได้แท้จริง โดยทำให้เห็นว่ารัฐบาลจับมือฝ่ายค้านทำงานไปด้วยกันไม่แบ่งแยก ไม่แบ่งฝ่าย มีหัวใจอยู่ที่ประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง