รีเซต

พยาธิตัวตืดวัว ยาว 18 เมตร คาดเป็นสถิติประเทศไทย หมอช่วยด่วน!

พยาธิตัวตืดวัว ยาว 18 เมตร คาดเป็นสถิติประเทศไทย หมอช่วยด่วน!
m085*******
22 มีนาคม 2564 ( 13:06 )
894
พยาธิตัวตืดวัว ยาว 18 เมตร คาดเป็นสถิติประเทศไทย หมอช่วยด่วน!

อวสานอาหารทุกมื้อแน่นอน หลังเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยโรคปรสิต Parasitic Disease Research Center โพสต์ภาพสุดช็อก พบ “พยาธิตืดวัว” ความยาว 18 เมตร จากผู้มารับบริการตรวจท่านหนึ่งที่มาส่งอุจจาระตรวจกับหน่วยเคลื่อนที่ฟรีของศูนย์วิจัยโรคปรสิต ณ จังหวัดหนองคาย เมื่อ 20 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา 

 


จากโพสต์ระบุว่า เมื่อตรวจอุจจาระเจอไข่พยาธิ จึงให้ยาถ่ายพยาธิกินก่อนนอน วันรุ่งขึ้นจึงได้ถ่ายพยาธิความยาว 18 เมตรออกมา คาดว่าเกิดจากการทานเนื้อวัวดิบ เพราะพยาธิเหล่านี้สามารถอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้มากกว่า 30 ปี ปัจจุบันพบตัวไม่ยาวมากเพราะคนกินยาถ่ายพยาธิประจำ แต่รายนี้ยาวมากและน่าจะยาวเป็นสถิติไทยในรอบ 50 ปีได้เลย 

 

 

ทั้งนี้ "พยาธิตืดวัว" นั้นจะพบได้บ่อยกว่าพยาธิตืดหมู โดยเฉพาะในประเทศที่มีการเลี้ยงหมู วัว ควาย และนิยมรับประทานทั้งเนื้อหมู เนื้อวัว และเนื้อควาย ที่ปรุงไม่สุก มีถุงซีสต์ ซึ่งมีตัวอ่อนพยาธิอยู่ข้างใน หรือที่คนทั่วไปเรียกเม็ดสาคู เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ซีสต์จะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยเกาะอยู่ที่ผนังลำไส้เล็กของคนสามารถอยู่ได้นานหลายปี บางครั้งอาจมีปล้องพยาธิหลุดปนออกมากับอุจจาระ หากไม่ถ่ายอุจจาระลงส้วม จะทำให้ไข่พยาธิออกมาปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม กลายเป็นวงจรแพร่กระจายพยาธิต่อไปอีก 

 

ทางการแพทย์จะแบ่งพยาธิกันเป็น 3 กลุ่ม
       
1. กลุ่มพยาธิตัวกลม (Nematode) ลำตัวมีลักษณะกลมยาว คล้ายไส้เดือน มีขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า จนกระทั่งยาวมากกว่า 1 เมตร เช่นพยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิเส้นด้าย(พยาธิเข็มหมุด) เป็นต้น
มักพบในเนื้อสัตว์ สัตว์น้ำ และอาหาร พืชผักต่างๆที่ไม่สะอาอาด 


2. กลุ่มพยาธิตัวตืด (Tapeworm) เป็นพยาธิตัวแบนคล้ายริบบิ้น ขนาดยาวตั้งแต่ 2-4 มิลลิเมตรจนถึง 30 เมตร เช่น พยาธิตืดหมู พยาธิตืดวัว เป็นต้น
มักพบในเนื้อสัตว์ เช่น หมู วัว ควาย


3. กลุ่มพยาธิใบไม้ (Fluke) รูปร่างเหมือนใบไม้รูปรี ยาวเรียว ตัวแบนทั้งด้านบนและล่าง มีขนาดตั้งแต่ 0.5 มิลลิเมตรจนถึง 7.5 เซนติเมตร เช่น พยาธิใบไม้ตับ พยาธิใบไม้ปอด 
มักพบในสัตว์น้ำพวกปลา กุ้ง หอย 

 

สังเกตอาการเบื้องต้นที่อาจเสี่ยงต่อโรคพยาธิ


1. น้ำหนักลด มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือท้องเสียบ่อย
2. หิวบ่อย 
3. มีอาการบวมแดง เป็นตุ่มนูน หรือผื่นแดงตามบริเวณผิวหนัง
4. เจ็บหน้าอก ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือตาพร่ามัว
5. คันตามผิวหนังหรือบริเวณทวารหนัก
6. มีอาการตัวเหลือง ตับแข็ง ท้องบวมโต 

 

กำจัดพยาธิด้วยยาถ่ายพยาธิ 


1. Albendazole ใช้สำหรับกำจัดพยาธิทุกชนิด ได้แก่ พยาธิเส้นด้ายหรือพยาธิเข็มหมุด พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิใบไม้ และพยาธิตัวตืด สามารถฆ่าไข่พยาธิได้บางชนิด เช่น พยาธิไส้เดือน ปากขอ และแส้ม้า
2. Mebendazole ใช้สำหรับกำจัดพยาธิตัวกลมทุกชนิด เช่น พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า พยาธิเข็มหมุด/พยาธิเส้นด้าย พยาธิไส้เดือน พยาธิตัวจี๊ด 
3. Niclosamide ใช้สำหรับกำจัดพยาธิตัวตืด ได้แก่ พยาธิตัวตืดหมู และพยาธิตัวตืดวัว

 

ป้องกันพยาธิด้วยตัวเราเอง


1. เลือกรับประทานที่ปรุงสุก ทั้งเนื้อสัตว์ และผักชนิดต่างๆ
2. การรับประทานผักดิบ ควรล้างให้สะอาดทุกครั้ง
3. ควรล้างมือให้สะอาดก่อนทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
4. ควรดื่มน้ำสะอาดที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพแล้ว ไม่ควรดื่มน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติโดยตรง
5. การเก็บรักษาอาหารหรือของกินของใช้ต่างๆ ควรเก็บในที่มิดชิดที่แมลงหรือสัตว์พาหะนำโรคไม่สามารถเข้าสัมผัสได้
6. การเหยียบลุยน้ำหรือการสัมผัสกับน้ำ ควรสวมรองเท้าทุกครั้ง และไม่ควรสัมผัสน้ำบริเวณที่ร่างกายมีแผลโดยตรง
7. สวมเสื้อผ้าให้มิดชิดหรือสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากการกัดต่อยของพาหะนำพยาธิต่างๆ
8. หมั่นรักษาความสะอาดสุขลักษณะภายในที่อยู่อาศัยให้สะอาดเสมอ

 

หากสงสัยว่ามีพยาธิในร่างกาย หรือมีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย น้ำหนักตัวลดผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์ตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาทันที เพื่อป้องกันการแพร่ไปสู่กับบุคคลอื่น หรือมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค

ศูนย์วิจัยโรคปรสิต Parasitic Disease Research Center

ข่าวสด

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง