รีเซต

24 มิถุนายน 2475 ย้อนประวัติศาสตร์ไทยที่คุณอาจไม่เคยรู้?

24 มิถุนายน 2475 ย้อนประวัติศาสตร์ไทยที่คุณอาจไม่เคยรู้?
TeaC
24 มิถุนายน 2564 ( 13:12 )
922
1

24 มิถุนายน 2475 ย้อนประวัติศาสตร์ที่คุณอาจไม่เคยรู้? เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย  รวมทั้งยังเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจาก "คณะราษฎร" ได้นำคณะนายทหารและพลเรือนเข้าทำการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคมและการเมืองภายในประเทศ การปฏิวัติดังกล่าวทำให้ประเทศสยามมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกในที่สุด 

 

ทั้งนี้ เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนวันนี้ 24 มิถุนายน 2564 ประเทศไทยเดินทางเข้าสู่ปีที่ 89 ของการปกครองที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องผ่านอะไรบ้าง วันนี้ TrueID รวบรวมข้อมูลสำคัญมาให้ศึกษาประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยกัน

 


1. ไทยมี "รัฐธรรมนูญ" 20 ฉบับ

 

จุดเริ่มต้นของการเกิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยนั้น เกิดจากหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 โดยคณะราษฎร ได้เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย สู่จุดกำเนิด พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2475 มีทั้งหมด 39 มาตราด้วยกัน และในวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี ได้ถือเป็นวันรัฐธรรมนูญ เพื่อระลึกถึงการประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม จวบจนทุกวันนี้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยจากข้อมูลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 20 ฉบับ เคยผ่านการแก้ไขสำเร็จมาแล้ว 22 ครั้ง

 

1. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475

2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม

3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489

4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490

5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492

6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495

7. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502

8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511

9. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515

10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517

11. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519

12. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520

13. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521

14. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534

15. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534

16. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

17. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549

18. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

19. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

20. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

 

รัฐธรรมนูญไทย ยังระบุว่า ประเทศไทยมีรูปแบบรัฐเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา กำหนดให้มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับกำหนดให้ผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้งแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

 

 

2. ประเทศไทยมี "นายกรัฐมนตรี 29 คน"

 

ขณะที่ ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี 29 คน แบ่งเป็นพลเรือน 14 คน (เป็นผู้หญิง 1 คน) ทหาร 14 คน (มาจากการรัฐประหาร 8 คน) และ ตำรวจ 1 คน โดยยังมีชีวิตอยู่ 11 คน

 

1. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

2. พระยาพหลพลพยุหเสนา

3. จอมพลแปลก พิบูลสงคราม

4. พันตรี ควง อภัยวงศ์

5. นายทวี บุณยเกตุ

6. หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช

7. นายปรีดี พนมยงค์

8. พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

9. นายพจน์ สารสิน

10. จอมพลถนอม กิตติขจร

11. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

12. นายสัญญา ธรรมศักดิ์

13. หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช

14. นายธานินทร์ กรัยวิเชียร

15. พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์

16. พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

17. พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

18. นายอานันท์ ปันยารชุน

19. พลเอกสุจินดา คราประยูร

20. นายชวน หลีกภัย

21. นายบรรหาร ศิลปอาชา

22. พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

23. พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร

24. พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

25. นายสมัคร สุนทรเวช

26. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

27. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

28. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

29. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

 

3. มีรัฐประหาร 13 ครั้ง

 

ประไทศไทยเกิดรัฐประหาร หรือการเข้าใช้กำลังเข้ายึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาล โดยที่ระบอบการปกครองยังคงเป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งแตกต่างจากการทำปฏิวัติที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของประเทศอย่างสิ้นเชิง ซึ่งประเทศไทยมีการทำรัฐประหารทั้งหมด 13 ครั้ง ดังนี้

 

1. รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

2 รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

3. รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

4. รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

5. รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง

6. รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม

7. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร (ตามที่ตกลงกันไว้)

8. รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง

9. รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

10. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร

11. รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

12. รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

13. รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีหลังยิ่งลักษณ์ ชินวัตรถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง)

 

4. ไทยมีการ "ยุบสภา" 13 ครั้ง

 

จากการค้นหาข้อมูลพบว่าการเปลี่ยนแปลงในการบริหารนั้น ประเทศไทยมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไทย หรือ การที่ทำให้ความเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยสิ้นสุดลง โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นผลให้สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งปวงพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่

 

โดยการยุบสภาเป็นมาตรการสำคัญอย่างหนึ่งของระบบรัฐสภาที่ทำให้มีการคานอำนาจกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารอาจนำมาใช้แก้ปัญหาทางตันทางการเมือง นอกจากทางอื่น เช่น รัฐบาลลาออก ซึ่งไทยมีการยุบสภาถึง 13 ครั้งด้วยกัน แบ่งเป็น 5 ครั้งจากวิกฤตทางการเมือง, 4 ครั้ง จากการขัดแย้งภายในสภา และ 4 ครั้ง จากการขัดแย้งภายในรัฐบาล ได้แก่

 

1. 11 กันยายน พ.ศ. 2481 พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา รัฐบาลขัดแย้งกับสภา

2. 15 ตุลาคม พ.ศ. 2488 หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช สภาผู้แทนยืดอายุมานานในช่วงสงคราม จนสมควรแก่เวลา

3. 12 มกราคม พ.ศ. 2519 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ความขัดแย้งภายในรัฐบาล

4. 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ สภาผู้แทนราษฎรขัดแย้งกับวุฒิสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ

5. 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบาลขัดแย้งกับสภา กรณีการตราพระราชกำหนด

6. 29 เมษายน พ.ศ. 2531 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ความขัดแย้งภายในรัฐบาล

7. 30 มิถุนายน พ.ศ. 2535 อานันท์ ปันยารชุน เป็นรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อยุบสภาหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง

8. 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ชวน หลีกภัย ความขัดแย้งภายในรัฐบาล

9. 28 กันยายน พ.ศ. 2539 บรรหาร ศิลปอาชา ความขัดแย้งภายในรัฐบาล

10. 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ชวน หลีกภัย ปฏิบัติภารกิจตามเป้าหมายเสร็จแล้ว

11. 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เกิดวิกฤตการณ์การเมืองจากการชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี ต่อมาเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

12. 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วิกฤตการณ์ทางการเมือง

13. 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกของชนในชาติ (วิกฤตการณ์ทางการเมือง) ต่อมาเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

 

5. ทำไมถึงเรียกวัน อภิวัฒน์สยาม

 

เนื่องจากที่มาของคำว่า อภิวัฒน์ นั้น มาจากข้อมูลจากบทความเรื่อง (85 ปี การอภิวัฒน์ 2475 : ทัศนะทางประวัติศาสตร์กฎหมาย โดย ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล) ระบุว่า คำศัพท์ว่าอภิวัฒน์ ตั้งขึ้นมาโดย ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือนในขณะนั้น คำว่าอภิวัฒน์ บัญญัติขึ้นจากคำว่า revolution สามารถแปลได้ว่า การปฏิวัติ แต่การนิยามคำศัพท์ในครั้งนั้นกลับไม่เลือกใช้คำว่า ปฏิวัติ แทนความหมายสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน แต่ปรีดีเลือกใช้คำว่าอภิวัฒน์เพื่อสื่อเจตนารมณ์ที่ต้องการให้สยามมีความเจริญรุ่งเรืองมากกว่าระบอบเก่านั่นเอง  และนี่คือ วันอภิวัฒน์สยาม ซึ่งในอดีตเกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และวันนี้ก็มาถึงให้ย้อนประวัติศาตร์ไทยอีกครั้ง

 

 

ข้อมูล : วิกิพีเดีย

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง