รีเซต

สภา ไฟเขียว ท้องไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งได้ ไม่ผิดกฎหมาย

สภา ไฟเขียว ท้องไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งได้ ไม่ผิดกฎหมาย
มติชน
20 มกราคม 2564 ( 17:45 )
97
สภา ไฟเขียว ท้องไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งได้ ไม่ผิดกฎหมาย

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 20 มกราคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ….. ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายสันติ กีระนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ.ฯ ชี้แจงว่า กมธ.ได้ให้ความสนใจและเน้นการพิจารณาในส่วนของอายุครรภ์มารดาว่าจะต้องมีระยะเวลาเท่าใด โดยพิจารณาประกอบคำเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2563 โดยได้ข้อสรุปอายุครรภ์ของหญิงไม่เกิน 12 สัปดาห์ เพื่อรักษาความสมดุลและเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายของหญิงและสิทธิของเด็กในครรภ์

 

นอกจากนี้ กมธ.เน้นย้ำว่าไม่มีการทำแท้งเสรี หรือยุติการตั้งครรภ์แบบเสรี มีแต่การยินยอมให้ยุติการตั้งครรภ์แบบมีเงื่อนไข ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เปิดช่องทางให้เสรีภาพต่อหญิงในการยุติการตั้งครรภ์ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้เช่นเดียวกัน ซึ่งทาง กมธ.เห็นว่าไม่มีหญิงคนใดที่ต้องการท้องเพื่อที่จะไปทำแท้ง

 

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวมีทั้งหมด 4 มาตรา โดย กมธ.ฯแก้ไขมีสาระสำคัญอยู่ที่มาตรา 3 ว่าด้วยกำหนดโทษสตรีที่ทำแท้งหรือยอมให้ผู้อื่นทำแท้ง ขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา 4 กมธ. แก้ไขว่า ถ้าเป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา ถือว่าไม่ผิด ดังนี้

 

1.หญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น

2.เนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง

3.หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์ เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ

4.หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์

 

และ 5.หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

 

ทั้งนี้ ในมาตรา 3 ที่ประชุมลงมติเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดโทษที่ กมธ.แก้ไข แต่เห็นด้วยกับร่างเดิมของรัฐบาลที่เสนอให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ส่วนในมาตรา 4 น.ส.นริศรา ไผ่แดง ในฐานะ กมธ.ฝ่ายรัฐบาล ชี้แจงว่า ข้อยกเว้นที่ 3 ที่กำหนดให้อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ยุติการตั้งครรภ์ได้นั้น บัญญัติไว้สำหรับรองรับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

 

จากนั้น ที่ประชุมได้เปิดให้ ส.ส.อภิปราย โดย นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแก้ไขครั้งนี้อนุญาตให้สตรีมีครรภ์สามารถซื้อยามากิน เพื่อทำแท้งตัวเองได้ หากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์

 

ขณะที่ นายประสิทธิ์ มะหะหมัด ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า ในฐานะที่ตนเป็นมุสลิม ตามหลักการของศาสนาอิสลาม ภายหลังจากมีปฏิสนธิและทารกอยู่ในครรภ์ 120 วันแล้ว ถือว่าเด็กมีชีวิตแล้ว หากทำแท้งถือว่าบาปมหันต์ ยกเว้นจะต้องมีเหตุจำเป็น เช่น แพทย์วินิจฉัยแล้วว่ามีอันตรายถึงชีวิตของมารดา เป็นต้น แต่ถ้าเด็กได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์ว่าเกิดมาไม่สมประกอบหรือพิการ ตามหลักของอิสลามห้ามทำแท้ง เพราะเชื่อว่าเกิดมาแล้ว สังคมจะไม่ทอดทิ้งและช่วยเหลือกัน

 

ด้าน นายสันติ ชี้แจงว่า มาตรา 4 ข้อยกเว้นที่ 5 ทาง กมธ.บัญญัติขึ้นเพื่อให้เป็นทางออกกับสตรีที่ประสบปัญหาในชีวิต เช่น พ่อของลูกเกิดเสียชีวิต หรือปฏิเสธการเป็นพ่อใน 20 สัปดาห์ ยืนยันว่า กมธ.มีเจตนารมณ์ให้หญิงมีทางออกเมื่อประสบปัญหาในชีวิต และให้ได้รับคำแนะนำ จากนั้นจึงค่อยตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะตั้งครรภ์ต่อไปหรือจะยุติการตั้งครรภ์ ส่วนที่กำหนดไว้ว่าไม่เกิน 20 สัปดาห์ เพราะถ้าเกิน 20 สัปดาห์ เด็กดิ้นแล้ว มีชีวิตแล้ว

 

ส่วน นายจรัญ ภักดีธนากุล ในฐานะ กมธ. ชี้แจงว่า ขณะที่ทำกฎหมายนั้น ตนได้รับโจทย์มาว่าเราจะมีทางเลือกอย่างไรให้กับผู้หญิงที่ประสบปัญหาชีวิตที่ยากลำบากอย่างที่หาทางออกไม่ได้ วัตถุประสงค์ในการทำกฎหมายนี้ไม่ได้ต้องการผลักให้ผู้หญิงไปสู่การทำแท้ง แต่ต้องการหาทางออกที่เหมาะสมที่พอรับได้กับสังคมไทย ซึ่งมีความคิดเห็นอย่างแตกต่าง ทั้งนี้ กมธ.คำนึงถึงการมีชีวิตรอดของเด็กด้วย

 

จากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติในมาตรา 4 เห็นด้วยกับที่ กมธ.แก้ไข ด้วยคะแนน 273 ต่อ 47 งดออกเสียง 19 เสียง และต่อมาเวลา 15.55 น. ที่ประชุมลงมติในวาระสาม เห็นด้วยผ่านร่างกฎหมายทั้งฉบับ ด้วยคะแนน 276 ต่อ 8 งดออกเสียง 54 เสียง

 

ทั้งนี้ น.ส.ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานกมธ.ฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังสภาผ่านร่างกฎหมาย ว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งถ้าจะไปซื้อยารับประทานเองเพื่อทำแท้งก็สามารถทำได้ และไม่ต้องทำโดยแพทย์

 

น.ส.ธนิกานต์กล่าวว่า แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 ถึง 20 สัปดาห์ ถ้าต้องการยุติการตั้งครรภ์ต้องเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และผู้ประกอบวิชาชีพอื่น เพื่อให้เจ้าตัวเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่

 

น.ส.ธนิกานต์กล่าวต่อว่า ถ้าเป็นกรณีอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่สามารถทำแท้งตามกฎหมายนี้ได้ เพราะทางการแพทย์ถือว่าเด็กมีสภาพเป็นตัวบุคคลแล้ว มีน้ำหนักเกิน 500 กรัม เด็กสามารถกระดิกมือ กระดิกเท้าได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นกรณีที่แพทย์วินิจฉัยเห็นแล้วว่าการตั้งครรภ์จะเป็นอันตรายต่อมารดา หรือเป็นอันตรายร้ายแรงต่อเด็กที่จะคลอดออกมา หรือพิสูจน์แล้วว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่เกิดจากการกระทำความผิดทางเพศ หรือการข่มขืน ไม่ว่าจะมีอายุครรภ์กี่สัปดาห์ก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง