รีเซต

อุตรดิตถ์แล้งหนัก'ลองกอง-ทุเรียน'ยืนต้นตาย 'มะปราง-มะยงชิด'ไม่มีพ่อค้ารับซื้อ

อุตรดิตถ์แล้งหนัก'ลองกอง-ทุเรียน'ยืนต้นตาย 'มะปราง-มะยงชิด'ไม่มีพ่อค้ารับซื้อ
มติชน
1 เมษายน 2563 ( 13:17 )
381

อุตรดิตถ์แล้งหนัก’ลองกอง-ทุเรียน’ยืนต้นตาย กระทบผลผลิตฤดูกาลนี้แน่นอน มะปราง-มะยงชิด ไม่มีพ่อค้ารับซื้อแล้ว

วันที่ 1 เมษายน นายบุญช่วย ดำคำ อายุ 70 ปี เกษตรกรผู้ปลูกลองกองและทุเรียน ต.แม่พูล อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว ที่ชาวสวนผู้ปลูกผลไม้ อ.ลับแล ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ส่งผลให้ลองกอง ทุเรียนทั้งพันธุ์พื้นเมือง หมอนทอง หลงลับแล และ หลินลับแล ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองอุตรดิตถ์ ที่กลายพันธุ์เป็นทุเรียนที่อร่อยที่สุดในโลก เพราะกลิ่นไม่แรง เมล็ดเล็ก เนื้อเหนียวนุ่ม ไม่เพียงพอกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทั้งลำต้นและใบของผลไม้ที่ปลูกไว้บนภูเขาแห้งไหม้เกรียม สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ยืนต้นตาย เกษตรกรต้องใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์ขนน้ำจากหมู่บ้านขึ้นไปรดบนเขา แต่ก็ไม่ทั่วถึงเพราะด้วยเส้นทางที่ลำบาก ต้องขึ้นเขา ใช้เส้นทางที่แคบเล็ก เต็มไปด้วยเหวลึก

“สิ่งที่จะตามมากับภัยแล้งคือ ผลผลิตทั้งลองกองและทุเรียนจะลดน้อยลงอย่างแน่นอน ผลผลิตที่ออกมาก็อาจจะไม่เต็มที่ ซึ่งหมายถึงไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ลองกองก็อาจจะลูกเล็ก หลุดร่วงง่าย ส่วนทุเรียนก็จะเมล็ดอาจโตขึ้น ผลก็จะเล็กลง ทุกวันนี้เกษตรกรก็ทำใจกันแล้วว่า ผลผลิตจะไม่เป็นไปตามเป้า ราคาก็อาจจะถูกลงจากทุก ๆปีที่ผ่านมา และที่เกิดขึ้นแล้วตอนนี้คือ มะปรางและมะยงชิด ทุกปีที่ผ่านมากำลังซื้อและความต้องการของผู้บริโภคมีมากไม่เพียงพอกับความต้องการด้วยซ้ำไป แต่ปีนี้พิษของการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 ไม่มีพ่อค้ามารับซื้อไปขายต่อเลย ทุกวันนี้เกษตรหลายคนก็ต้องเอาออกมาวางขายหน้าบ้านตัวเอง เพื่อให้คนมาซื้อเอง บางคนก็แจกจ่ายให้ญาติพี่น้องรับประทาน ส่วนปัญหาหนี้สินก็จะเป็นปัญหาอีกอย่างที่ตามมา ซึ่งก็ต้องเผชิญกันต่อไป”นายบุญช่วยกล่าว

ด้าน นายรังสรรค์ ดีณรงค์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ส่งผลกระทบอย่างมากในทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวตลาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยคือ นักท่องเที่ยวจากประเทศจีน และประเทศจีนก็เป็นประเทศต้นทางของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เมื่อนักท่องเที่ยวไม่มีก็ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมา เช่นเดียวกับทุเรียนที่ขึ้นชื่อของ อ.ลับแลคือ ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล และหลินลับแล ที่อร่อยที่สุดในโลก ย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะตลาดหรือกลุ่มที่บริโภคทุเรียนส่วนใหญ่คือ ประเทศจีน ทั้งที่ส่งออกไปยังประเทศจีนโดยตรง และนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเที่ยวที่มารับประทานในประเทศไทย

“วันนี้กำลังการซื้อของกลุ่มผู้บริโภคจะลดลงมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการหยุดของโรงงาน และอีกหลายแห่ที่มีการใช้แรงงาน แรงงานต้องกลับบ้านไม่มีเงินใช้ ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันเชื้อโควิด 19 และที่กำลังจะสร้างความเสียหายต่อทุเรียนของลับแลคือ ภัยแล้งที่รุ่นแรงและสะสมมาเป็นปีที่ 3 แล้ว ทุเรียนมากกว่า 30 % ยืนต้นตาย ทุเรียนขนาดจะเล็กลง เมล็ดจะโตขึ้น เนื้อทุเรียนจะน้อยลงด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ปีที่ผ่านมาก็เกิดขึ้นแล้วเช่นเดียวกัน เกษตรกรต้องช่วยตัวเองด้วยการขนน้ำจากบ้านขึ้นไปรดทุเรียนบางรายก็ปล่อยให้ตายไปแล้วค่อยปลูกทดแทนใหม่ภายหลัง ดังนั้นคาดว่าปีนี้ทั้งผลผลิตและเม็ดเงินที่จะเข้ามาสู่เกษตรกรหรือหมุนเวียนในระบบคงลดลงอย่างแน่นอน”นายรังสรรค์กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง