ทำความรู้จัก "พืชกระท่อม" ความเสรี ที่ต้องมีขีดจำกัด
ภายหลังจากที่ กระทรวงยุติธรรม ปลดล็อกให้ "พืชกระท่อม" ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป หลังเริ่มมีผลบังคับใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ.2564 วันที่ 24 สิงหาคม 2564 เป็นวันแรก โดยให้ถือว่าประชาชนสามารถปลูกพืชกระท่อมได้อย่างเสรี หรือจะบริโภคก็สามารถทำได้
ทั้งนี้ สาระสำคัญการบังคับใช้กฎหมายคือให้ผู้ที่ปลูกกระท่อมไว้ครอบครองสามารถซื้อ ขาย หรือนำมาบดเคี้ยวได้ และปลูกต้นกระท่อมเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ยังขยายไปถึงการสามารถส่งขายเป็นพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม โดยไม่ต้องขออนุญาต
และหลังจากนี้จะมีการออกกฎหมายรองตามมา ซึ่งจะมีบทบัญญัติเพิ่มเติม อาทิ การกำหนดห้ามขายให้แก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งเป็นเยาวชน รวมถึงสตรีมีครรภ์ และเตรียมกำหนดสถานที่ห้ามขาย เช่น ในโรงเรียน วัด ส่วนประเภทธุรกิจการส่งออกหรือนำเข้านั้นจะต้องขออนุญาต
กระท่อม (ชื่อวิทยาศาสตร์:Mitragyna speciosa) เป็นพรรณไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งในวงศ์ Rubiaceae
สารสำคัญที่พบในใบกระท่อมคือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) เช่นเดียวกับยาเสพติดกลุ่มเดียวกัน เช่น psilocybin LSD และ ยาบ้า ทำให้รู้สึกชา กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงานทำให้สามารถทำงานได้นานและทนมากขึ้น และทนต่อความร้อนมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงทำให้ผู้ที่ใช้ใบกระท่อม สามารถทำงานกลางแจ้ง ได้ทนนานขึ้น
กระท่อมออกฤทธิ์ประเภทกระตุ้นประสาท การเสพใบกระท่อมมาก ๆ หรือเป็นระยะเวลานาน มักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ทำให้ผู้ที่รับประทานมีผิวคล้ำและเข้มขึ้น และยังพบอีกว่าเสพกระท่อมโดยไม่ได้รูดเอาก้านใบออกจากตัวใบก่อน อาจจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า "ถุงท่อม" ในลำไส้ได้ เนื่องจากก้านใบและใบของกระท่อมไม่สามารถย่อยได้ จึงตกตะกอนติดค้างอยู่ภายในลำไส้ ทำให้ขับถ่ายออกมาไม่ได้ เกิดพังผืดขึ้นมาหุ้มรัดอยู่โดยรอบก้อนกากกระท่อมนั้น ทำให้เกิดเป็นก้อนถุงขึ้นมาในลำไส้
สมัยโบราณ กระท่อมเป็นพืชที่ใช้เข้าเป็นตัวยาในตำรับพวกประเภทยาแก้ท้องเสีย ในสูตรยาของหมอพื้นบ้านหรือหมอแผนโบราณ เช่น ตำรับยาประสะกระท่อม และบางพื้นที่ก็กล่าวต่อ ๆ กันมาว่า สามารถรักษา บรรเทา โรคเบาหวานได้
กระท่อมจัดเป็น ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามความใน พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 7 ยาเสพติดให้โทษ ซึ่งสิ่งเสพติดในประเภท 5 ได้แก่ กัญชา และพืชกระท่อม ต่อมาในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2564 ในการถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 แต่ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2564
ประโยชน์กระท่อมต่อสุขภาพ
จากงานวิจัยพบว่าในใบกระท่อมทำปฏิกิริยากับร่างกายมีผลต่อเซลล์ประสาทบางชนิดในร่างกายในการรับรู้ความเจ็บปวดถูกนำมาใช้รักษาอาการเหล่านี้
- ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น อาการปวดที่ไม่พึงประสงค์เป็นผลจากการบาดเจ็บทางร่างกาย เนื้อเยื่อ ปวดหลัง ระบบประสาท กล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็น อาการปวดที่เกิดจากภาวะเรื้อรัง เช่น โรคระบบประสาทส่วนกลางเสื่อม มะเร็ง เบาหวาน โรคข้ออักเสบ เป็นต้น โดยไม่คำนึงถึงที่มาความเจ็บปวดจะส่งผลต่อร่างกายทั้งทางร่างกายและจิตใจ
- ช่วยรักษาอาการไอ
- ช่วยลดการหลั่งกรด
- ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้เล็ก
- ใบกระท่อมช่วยให้มีสมาธิและระงับประสาท
- แก้ท้องเสีย ท้องร่วง ปวดเบ่ง แก้บิด
- แก้ปวดฟัน
- ทำให้นอนหลับ และระงับประสาท
- แก้ปวดเมื่อยร่างกาย
- ช่วยให้ทํางานทนไม่หิวง่าย
- ใช้ใบกระท่อมเพื่อระงับอาการกล้ามเนื้อกระตุก
- เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ
- นำไปใช้บรรเทาอาการปวดแทนมอร์ฟีน โดยมีความแรงต่ำกว่ามอร์ฟีนประมาณ 10 เท่า และมีข้อดีกว่ามอร์ฟีนอยู่หลาย ประการ เช่น กระท่อมไม่กดระบบทางเดินหายใจ ไม่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ใช้บำบัดอาการติดฝิ่นหรือมอร์ฟีนได้
- ใช้บำบัดผู้ติดยาเสพติด
ผลข้างเคียงจากการเสพกระท่อมมากเกินไป
- ความอยากอาหารลดลง หรือน้ำหนักลด
- ท้องผูก
- ปัสสาวะบ่อย
- ปากแห้ง
- วิตกกังวล และกระวนกระวายใจ
- เหงื่อออก และคัน
- แพ้แดด หรือผิวหนังมีสีเข้มกว่าเม็ดสีปกติ
- อาการคลื่นไส้ และอาเจียน
- นอนไม่หลับ หรือร่างกายตื่นตัวตลอดเวลา
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- รู้สึกกระวนกระวาย สับสน
- เห็นภาพหลอน
ข้อควรระวังและหลีกเลี่ยงการใช้ใบกระท่อม
- สตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร
- ผู้เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือติดสุรา
- ผู้มีความผิดปกติทางจิต
- ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ
- กินกระท่อมร่วมกับชุมเห็ดช่วยแก้ท้องผูก หากมีอาการมึนเมา วิงเวียน ซึม จากการกินกระท่อมมากเกิน ให้ดื่มน้ำหรือกินของเปรี้ยว แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
ขอบคุณข้อมูลจาก
- กระท่อม ยาระงับปวดหรือยาเสพติดเรียบเรียงโดย ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ ภาควิชาเภสัชเวท และเภสัชพฤษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- สำนักงานกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
- สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด