รีเซต

เอกชนจี้รัฐจูงใจผู้บริโภคและผู้ประกอบการปลุกปั้นรถอีวี - สบช่องจีนบอยคอตสหรัฐเจาะตลาดตี๋หมวย

เอกชนจี้รัฐจูงใจผู้บริโภคและผู้ประกอบการปลุกปั้นรถอีวี - สบช่องจีนบอยคอตสหรัฐเจาะตลาดตี๋หมวย
ข่าวสด
17 สิงหาคม 2563 ( 19:40 )
86

 

นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายในงานสัมมนา “เรื่องทิศทางยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย” จัดโดยคณะกรรมการธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ว่า ทางสภาฯพร้อมที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อย่างเต็มที่ โดยการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การเรียกเก็บภาษี การกำจัดขยะหรือซากรถเก่า เป็นต้น รองรับการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ที่ใช้ระบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ไอซีอี) มาเป็นรถอีวีเต็มรูปแบบ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

“ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ล่าสุดนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณะรัฐประชาชนจีน ประกาศไม่ให้ประชาชนจีนเดินทางไปท่องเที่ยวในสหรัฐ และไม่ซื้อสินค้าที่ผลิตจากสหรัฐ ถือเป็นโอกาสของไทยที่จะเร่งผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดจีน ช่วยให้ไทยไม่สูญเสียโอกาสในการทำตลาดในจีน จึงอยากฝากคณะกรรมาธิการพลังงานเข้ามาช่วยสนับสนุนให้ยุทธศาสตร์สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย”

 

นายระวี มาศฉมาดล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีโรงงานผลิตรถยนต์อยู่ 19 แห่ง เป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 2,200 แห่ง สามารถผลิตรถยนต์ได้ปีละ 2 ล้านคัน มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท มีแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมด 8.5 แสนราย หากแผนพัฒนาพัฒนาอีวีล่าช้า จะทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในหลายเรื่องให้กับประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่หันมาให้ความสำคัญกับการผลิตอีวี เช่น เวียดนาม, มาเลย์เซีย, สิงคโปร์ เป็นต้น

 

“หากไทยไม่รีบผลักดันก็จะทำให้ไทยเสียรายได้จากอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ หรืออาจทำให้โรงงานต้องปิดกิจการ ทั้งโรงงานผลิตรถยนต์ ชิ้นส่วน และทำให้ไทยต้องนำเข้ารถอีวีมูลค่าหลายแสนล้านบาท” นายระวีกล่าว

 

ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ปี 2562 ไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 11 ของโลก และเป็นอันดับ 5 ของเอเชีย มีมูลค่าการส่งออก 1.09 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.4% ของมูลค่าจีดีพีประเทศ ขณะที่ทั่วโลกมียอดขายรถอีวีประมาณ 2.1 ล้านคัน คาดการณ์ว่าปี 2563 จะมีปริมาณรถอีวีทั่วโลกเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 7.9 ล้านคัน และคาดปี 2573 จะมียอดขาย 28 ล้านคัน ซึ่งจะมีจำนวนรถอีวีสะสมประมาณ 379 ล้านคัน

 

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าประเด็นสำคัญในการผลักดันรถอีวีขึ้นอยู่กับราคาขายเป็นหลักที่จะสามารถกระตุ้นกำลังซื้อได้ โดยตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทย (พีดีพี) ได้คำนึงถึงเรื่องการจัดหาไฟฟ้ารองรับอีวีไว้ซึ่งตามแผนตั้งเป้าหมายให้ไทยมีรถอีวีในประเทศ 1.2 ล้านคัน อีกทั้งต้องแก้ปัญหากรณีที่ว่าทำไมไม่มีรถอีวีเข้าใช้บริการระบบอัดประจุไฟฟ้าที่กระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมให้มีหัวชาร์จไปแล้วกว่า 100 หัวชาร์จ ตั้งแต่ปี 2559

 

“ดังนั้นเรื่องนี้จะเป็นไปตามแผนได้ไทยต้องมีแผนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าที่ชัดเจนเหมือนในต่างประเทศว่าจะเดินไปทางไหนอย่างไร ต้องเข้าใจว่าการสนับสนุนอีวี มีผลกระทบกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้วย ซึ่งจะต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน รวมถึงให้สิทธิประโยชน์เป็นมาตรการจูงใจควบคู่กัน”นายวัฒนพงษ์กล่าว

 

นายยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า การส่งเสริมให้เกิดการใช้อีวีในประเทศจะช่วยลดปัญหามลพิษบนท้องถนน โดยเฉพาะในเมืองขนาดใหญ่ ทำให้เกิดการใช้พลังงานในภาคขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันมียานยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนใหม่ในปี 2563 จำนวน 16,290 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าไฮบิด (HEV) รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบิด (PHEV) จำนวน 13,214 คัน และรถยนต์อีวี 3,076 คัน มีสถานีชาร์จสาธารณะทั่วประเทศ 557 แห่ง สะท้อนอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

“เพื่อผลักดันให้ยานยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นได้โดยเร็ว ภาครัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถซื้อยานยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาที่เหมาะสม และสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้ใช้อีวี รวมถึงส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการผลิตอีวี และมาตรการจัดการยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอร์รีที่เสื่อมสภาพ”

 

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยตั้งเป้าหมายปี 2579 ขับเคลื่อนการผลิตรถยนต์ xEV อยู่ที่ 7.5 แสนคัน คิดเป็น 25% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศที่ 2.5 ล้านคัน เป็นการทำงานด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างเดียวหรือร่วมกับเครื่องยนต์ ซึ่งการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติมีกำหนดการแล้วเสร็จในปี 2564 จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตและทดสอบยานยนต์ของภูมิภาคในอนาคต

 

นอกจากนี้ ยังได้ประกาศมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหมวดหมู่ของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว 21 มาตรฐาน ทั้งยังมีมาตรฐานที่อยู่ระหว่างพิจารณารอประกาศและเตรียมร่างอีก 36 มาตรฐาน คาดจะแล้วเสร็จในปี 2564 เช่นกัน ประกอบกับเตรียมความพร้อมในการพัฒนาบุคลากรรองรับการเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมอีวีและแบตเตอรี่ 1,000 คนภายใน 6 ปี (2563-68)

 

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ปัจจุบันบีโอไอให้อนุมัติคำขอส่งเสริมลงทุนโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว 21 โครงการ เป็นรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด 5 โครงการ เงินลงทุน 50,366 ล้านบาท กำลังการผลิต 352,500 คัน/ปี รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด เงินลงทุน 11,443 ล้านบาท กำลังการผลิต 87,240 คัน/ปี รถยนต์อีวี 13 โครงการ เงินลงทุน 125,140 คัน/ปี และรถบัสอีวี 2 โครงการ เงินลงทุน 665 ล้านบาท กำลังการผลิต 1,600 คัน/ปี

 

ส่วนโครงการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าต่างๆ รวม 14 โครงการ เงินลงทุน 10,834 ล้านบาท เช่น การผลิตแบตเตอรี่ 10 โครงการ เงินลงทุน 6,780 ล้านบาท และสถานีอัดประจุไฟฟ้า 2 โครงการ เงินลงทุน 1,155 ล้านบาท

 

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งที่ไทยยังขาดอยู่ในขณะนี้ คือ ดีมานด์การใช้ในประเทศยังมีไม่มากพอ ดังนั้นควรมีการกระตุ้นดีมานด์จากหน่วยงานภาครัฐก่อน เพื่อสร้างแรงจูงใจของผู้ประกอบการในลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยนำร่องในการปรับเปลี่ยนใช้รถราชการเป็นอีวี รถสาธารณะอีวี เพื่อให้เกิดปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น หลังจากนั้นขยายไปสู่จักรยานยนต์รับจ้าง และรถแท็กซี่ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง