รีเซต

รอลุ้นเลย คลัง กำลังพิจารณา คนละครึ่ง เฟส 3 เผย ไอเอ็มเอฟ มองไทย ศก.ฟื้นใน 2 ปี

รอลุ้นเลย คลัง กำลังพิจารณา คนละครึ่ง เฟส 3 เผย ไอเอ็มเอฟ มองไทย ศก.ฟื้นใน 2 ปี
ข่าวสด
17 มีนาคม 2564 ( 16:34 )
70

รอลุ้นเลย คลัง เผยกำลังพิจารณา คนละครึ่ง เฟส 3 เผย ไอเอ็มเอฟ มองไทย เศรษฐกิจฟื้นใน 2 ปี ชมมาตรการกระตุ้น ศก.ฐานรากเข้าท่า

 

 

วันที่ 17 มี.ค.64 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ว่าจะขยายตัวได้ 2.6% สอดคล้องกับที่ไทยประเมินไว้ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5-3.5%

ขณะที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้ที่ 2.8% แต่คลังก็ยังอยากตั้งเป้าหมายแบบทะเยอทะยาน ที่ 4% ซึ่งจะต้องดำเนินการผ่านการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการอีอีซี ควบคู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงการเปิดประเทศโดยเร็วที่สุด

 

“4% มีความเป็นไปได้ แต่ขึ้นอยู่กับการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น นโยบายของสหรัฐฯ ในการอัดฉีดเม็ดเงิน 1.9 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 60 ล้านล้านบาท ซึ่งเชื่อว่านโยบายนี้จะส่งผลบวกกับเศรษฐกิจไทยด้วย รวมถึงการลงทุนภาครัฐ ผ่านโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า ไอเอ็มเอฟได้ชี้แจงกับไทยว่า ขณะนี้จากสถานการณ์โควิด-19 นโยบายการคลังของทุกประเทศดำเนินการในลักษณะเดียวกันทั้งหมด ขณะที่มาตรการด้านการเงินก็เข้ามาช่วย ผ่านการผ่อนคลายนโยบายการเงิน การใช้อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) การพักชำระหนี้เพื่อให้ภาคธุรกิจหายใจได้คล่องขึ้น

 

ทั้งนี้ ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอย่างน้อย 2 ปี และอยากเห็นไทยทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาส 4/2564 ส่วนรายได้ใหม่จะเข้ามาในปี 2565

"เราจะมองอนาคต จะมองแค่ปัญหาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองความหวังในอนาคตด้วย อนาคตของเศรษฐกิจไทยยังไปได้ แต่อยากให้ทำอะไร รัฐบาลยินดีรับฟังทุกความคิดเห็น รับฟังเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนว่ามีอะไรบ้างที่รัฐบาลสามารถทำได้ เมื่อพูดถึงเรื่องรายจ่ายแผ่นดินในเวลานี้ อนาคตก็ต้องช่วยกันหารายได้เข้าประเทศด้วย เพื่อให้ไทยมีศักยภาพในการจัดสรรทรัพยากรในการพัฒนาและการชำระหนี้ให้ต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นเครดิตของประเทศด้วย” นายอาคม กล่าว

 

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟยังเห็นพ้องกับไทยในการใช้มาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และชื่นชมในการดูแลเศรษฐกิจฐานราก ผ่านมาตรการชิมช้อปใช้ โดยเฉพาะมาตรการคนละครึ่ง ที่เป็นการร่วมจ่ายระหว่างรัฐและประชาชน ส่วนมาตรการเราชนะก็มีบทบาทในการบรรเทาความเดือดร้อน มีวัตถุประสงค์ในการบรรเทาแตกต่างกับมาตรการคนละครึ่งที่เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่วนมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 จะขยายออกไปหรือไม่ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่ถือว่าเป็นมาตรการที่เป็นประโยชน์ คนส่วนใหญ่ใช้จ่ายมีวินัย ไม่ทุจริตเอาเปรียบโครงการ ตอนนี้ก็ยังมีเวลาในการพิจารณาอยู่

 

นายอาคม กล่าวว่า ในส่วนข้อเสนอนโยบายในการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อกระตุ้นการลงทุนนั้น กระทรวงการคลังยังไม่ได้มีการคิดเรื่องนี้ แม้ว่าอัตราภาษีของไทยจะยังไม่ต่ำเหมือนสิงคโปร์ แต่ก็ถือว่าต่ำสุดเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค และรายได้ภาษีส่วนนี้ก็ถือเป็นรายได้หลักของแผ่นดิน การกระตุ้นการลงทุนก็ยังสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีผ่านการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้

 

ขณะที่ พ.ร.ก.ซอฟท์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังอยู่ระหว่างการแก้ไขให้สามารถปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ใหญ่กว่ากลุ่มเอสเอ็มอีได้ โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง