"เอลนีโญ" ส่งไม้ต่อ "ลานีญา" เสี่ยงน้ำท่วมหนัก อีสานหนาวจัด
ตลอดสัปดาห์นี้ (20-26 พ.ค.67 ) กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ฝนจะตกชุ่มฉ่ำทั่วไทยหลังจากต้องเผชิญกับอากาศร้อนถึงร้อนจัดตลอดเดือนเมษายนต่อเนื่องถึงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แม้ปีนี้อากาศร้อนจัดจะไม่ทำลายสถิติปีที่แล้วอยู่ที่ 44.6 องศาเซลเซียส ในพื้นที่ อ.เมือง จ.ตาก วันที่ 15 เมษายน 2566 โดยปีนี้อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 44.2 องศาเซลเซียส ที่ อ.เถิน จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 ซึ่งมีข้อมูลว่า อุณหภูมิช่วงมกราคม - เมษายน 2567 อุณหภูมิประเทศไทยได้ทำสถิติสูงสุดในรอบ 175 ปี เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน
และต่อจากนี้ จะเป็นช่วงที่เอลนีโญส่งไม้ต่อให้ลานีญา ข้อมูลการพยากรณ์จากอุตุนิยมวิทยา 12 สำนักทั่วโลกชี้ชัดตรงกันว่า เอลนีโญน่าจะสิ้นสุดเดือนพฤษภาคม 2567 โดยเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2567 จะเข้าสู่สภาวะที่เป็นกลาง หรือเป็นช่วงที่ทั้งเอลนีโญและลานีญาไม่ได้มีพลังอยู่หรือเอลนีโญกำลังอ่อนลง เรียกว่าการเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลาง จากนั้นคาดว่าลานีญาจะเริ่มเดือนสิงหาคม 2567 - พฤษภาคม 2568
มีข้อมูลจาก รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร เปิดเผยว่าจากข้อมูล Climate Prediction Center (NOAA) และศูนย์พยากรณ์อากาศระยะปานกลางแห่งยุโรป ล่าสุด พบว่าลานีญาจะทำจุดสูงสุดช่วงมกราคม 2568 โดยช่วงที่ลานีญาเร่งตัวราว กันยายน - ธันวาคม 2567
ในช่วงเดือนกันยายน -ตุลาคม 2567 ขอให้ระวังน้ำท่วมในทุกภูมิภาค โดยภาคใต้ปริมาณฝนจะสูงกว่าปกติในช่วงมิถุนายน - พฤศจิกายน 2567 ขอให้ระวังท่วมหนักช่วงตุลาคม - พฤศจิกายน 2567
และช่วงพฤศจิกายน 2567 ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจเริ่มเผชิญอากาศหนาวเย็นกว่าปกติ โดยกำลังลานีญามีแนวโน้มอยู่ในระดับอ่อนถึงปานกลางมากที่สุด
อย่างไรก็ตามช่วงเดือนมิถุนายน 2567 ที่เริ่มเข้าฤดูฝน ค่าเฉลี่ยผลพยากรณ์ของสำนักอุตุนิยมวิทยา 12 สำนักทั่วโลกบ่งชี้ว่าปริมาณฝนจะยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อยเกือบทั่วประเทศ (ยกเว้นภาคใต้) โดยภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน ยังต้องระวังภัยแล้งยืดเยื้อ ส่วนภาคใต้ปริมาณฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ
สอดคล้องกับข้อมูล รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Future Tales Lab MQDC ที่ประเมินสภาพอากาศในช่วงครึ่งปีหลังของ ปี 2567 ว่าจะมีความแปรปรวนสูง เนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกน้ำทะเลทั้ง 2 ฝั่ง (ฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย) รวมทั้งบนแผ่นดินมีอุณหภูมิสูงสุดขีด มีความชื้นมาก ประกอบกับกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้อุณหภูมิปลายปีนี้ (2567) จะต่ำกว่าปลายปีที่แล้ว (2566) และมีโอกาสที่จะเผชิญเหตุการณ์ฝนตกหนัก น้ำไหลหลาก รวมทั้งอิทธิพลพายุจรซึ่งต้องระวังเป็นรายสัปดาห์ การที่มีฝนตกต่อเนื่องอาจส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.เสรี ประเมินว่าปรากฏการณ์เอลนีโญมีโอกาสจะกลับมาอีกครั้งในปลายปี 2568 และอาจจะส่งผลกระทบในปี 2569 ขอให้ประชาชาน เกษตรกรเตรียมรับมือกับวิกฤตสภาพอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
จากข้อมูลการวิเคราะห์ หากเอลนีโลจะกลับมาในปี 2569 คนไทยจะมีเวลา 1 ปีครึ่ง ในการเตรียมรับมือกับสภาพอากาศ "ร้อน-แล้ง" โดยเฉพาะอากาศร้อนจัดแบบสุดขั้วที่อุณหภูมิอาจพุ่งสูงและทำลายสถิติส่งผลต่อสุขภาพและผลิตผลทางการเกษตรหนักหน่วงจากที่เผชิญในปีนี้ 2567
ข้อมูลจาก :
-รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร
-รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหารห้องปฏิบัติการ Future Tales Lab MQDC
-กรมอุตุนิยมวิทยา
ภาพข่าว : TNN16