"บิ๊กตู่" จี้ป้อมเคลียร์ ห่วงส.ส.-ส.ว.ส่งศาลตีความร่างแก้ไขรธน. ย้ำไม่ก้าวล่วงให้สภาตัดสิน
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน กรณีกลุ่มส.ว.และส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เข้าชื่อเสนอญัตติให้รัฐสภายื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3ฉบับ กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเป็นการเตะถ่วงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)กรณี ส.ว.และ ส.ส.ลงชื่อยื่นตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ว่า เรื่องนี้ไม่ขอไปก้าวล่วงกระบวนการ เพราะเป็นดุลพินิจของสมาชิกรัฐสภา ไปสั่งใครไม่ได้ ทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง มีความรู้ มีประสบการณ์ และเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นวิถีทางการเมือง ดังนั้นเป็นเรื่องที่ต้องเคารพกระบวนการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา
ปัดสั่งการส่งตีความ3ร่าง
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ก่อนประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ได้เชิญหัวหน้าพรรค และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นต้น พูดคุยวงเล็กถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ โดยนายกฯขอความร่วมมือหัวหน้าและแกนนำแต่ละพรรคให้ช่วยดูแลการประชุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งควบคุมลูกพรรคให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ให้”บิ๊กป้อม”เคลียร์25ส.ส.พปชร.
ข่าวแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังแสดงความเป็นห่วง ที่มี ส.ว. และส.ส.บางส่วนไปลงชื่อเพื่อเสนอญัตติต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอมติจากที่ประชุมรัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จนเกิดเสียงวิจารณ์และส่งผลกระทบกับรัฐบาล โดยเฉพาะที่มี ส.ส.ของพรรค พปชร. 25 คน ไปลงชื่อด้วยนั้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนสั่งการ แต่เมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้วขอให้พรรค
พปชร. ไปจัดการในเรื่องที่เกิดขึ้น รวมถึงกรณีที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. และน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี ที่แสดงความเห็นและวิจารณ์เรื่องการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยมีถ้อยคำพาดพิงไปถึงอดีตนายกฯ และนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้น จึงขอให้ พล.อ.ประวิตร รวมถึงนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรค พปชร. หาวิธีลงโทษบุคคลทั้งสองที่แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่าการลงโทษ ส.ส.ทั้งสองคน อาจจะใช้วิธีตัดเงินเดือน ส.ส.ในส่วนที่พรรคสนับสนุนให้
ไม่เครียดศาลนัดชี้ปมบ้านพัก
รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.แจ้งว่า ในที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์มีสีหน้ายิ้มแย้มไม่เคร่งเครียดและในช่วงท้ายการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย เรื่องยังพักอาศัยอยู่บ้านพักในค่ายทหารหลังเกษียณอายุราชการแล้ว ถือเป็นการจงใจไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (3) หรือไม่ ในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนศาลจะพิจารณาอย่างไร ก็อยู่ที่ศาลตัดสิน
“บิ๊กป้อม”ย้ำจุดยืนต้องแก้รธน.
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ ส.ว. และส.ส. พรรค พปชร.เข้าชื่อเสนอญัตติต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอมติให้ส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแก้ไขร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับว่ายังไม่รู้เลยว่าจะไปตีความอย่างไร เพราะยังไม่ได้คุยอะไรกัน เดี๋ยวจะไปคุยกับทางพรรคเอง
เมื่อถามว่า หากพูดคุยกับ ส.ส.พรรค พปชร.แล้ว อาจจะไม่ไปลงชื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่รู้ ยังไม่รู้เรื่อง ยังไม่รู้เหตุผลอะไรเลย ก็มาถามนำหน้าตลอด เมื่อถามว่า ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. มีจุดยืนเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็แก้สิ ส่วนจะตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่นั้นยังไม่รู้ต้องให้ไปแก้ก่อน ก็เป็นเรื่องของลูกพรรค ส่วนจะออกมาเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของสภา
เมื่อถาม หาก ส.ส.ไปลงชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความเหมือนเป็นการยื้อเวลา พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยื้อเวลาอย่างไรตนไม่รู้ แต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำไปพร้อมกันได้
เตือนไพบูลย์-สิระก้าวล่วงชวน
เมื่อถามว่า บทบาทของนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค และนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรค พปชร. ที่ออกมาติติงเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ สะท้อนว่าพรรค พปชร.ไม่สนับสนุนในเรื่องนี้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มี ไม่ทราบ เป็นเรื่องส่วนตัว ส่วนที่ไปวิจารณ์ถึงอดีตนายกรัฐมนตรีบางคน และนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภานั้น ได้พูดเตือนไปแล้ว
เมื่อถามว่า พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรค พปชร. ควรจะหารือเพื่อหาทางออกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้อย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็ทำอยู่แล้ว และเป็นเรื่องของสภา ในส่วนของพรรค พปชร. ก็ร่วมด้วยกับประธานสภา ว่าอย่างไรก็เอาอย่างนั้นเมื่อถามว่า จะต้องมีการทำความเข้าใจกับ ส.ส.ที่ต้องลงพื้นที่อย่างไรบ้าง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็ต้องทำทุกพรรค
นิกรขวางยื่นตีความ-ยื้อแก้รธน.
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) สมาชิกรัฐสภา ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย ในคณะกรรมการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ กล่าวถึงกรณีที่ 72 สมาชิกรัฐสภา ประกอบด้วย ส.ว. 47 คน และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 25 คน เข้าชื่อเสนอญัตติต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ไม่เห็นด้วยต่อการเสนอญัตติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่ม (ฉบับที่…) พ.ศ.ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ตามที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาลเสนอ เพราะเห็นว่าไม่ได้เป็นการขัดหรือหรือแย้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 แต่อย่างใด
โดยตนได้ให้เหตุผลบันทึกไว้ในรายงานของคณะ กมธ.ที่จะเสนอต่อรัฐสภาในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้แล้วว่า การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว สมาชิกรัฐสภาสามารถดำเนินการได้ตามอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น การที่สมาชิกร่วมลงชื่อในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปแล้ว จะมาแย้งการ กระทำของตนเองได้อย่างไร
21ส.ส.พปชร.ยื่นย้อนแย้ง
ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับ 25 ส.ส.พปชร.ที่ร่วมลงรายชื่อในท้ายญัตติเพื่อขอให้ประธานรัฐสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 ฉบับประกอบด้วย ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านที่ให้ตั้ง ส.ส.ร.มา ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ และร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กับนายสมชาย แสวงการ ส.ว.ร่วมกันเสนอนั้น
ปรากฏว่าในจำนวนดังกล่าว พบ ส.ส.พลังประชารัฐ ถึง 21 คน ที่ได้ร่วมลงชื่อในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย 1.นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส 3.นายประสิทธิ์ มะหะหมัด ส.ส.กทม. 4.นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา 5.พันตำรวจโท ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี 6.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 7.นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
8.นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรี ธรรมราช 9.นายประทวน สุทธิอำนวยเดช ส.ส.ลพบุรี 10.นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี 11.นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช 12.นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 13.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก 14.นางสาวกานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กทม. 15.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 16.นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ 17.นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา 18.ชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ส.ส.สุโขทัย 19.นายยงยุทธ์ สุวรรณบุตร ส.ส.สมุทรปราการ 20.นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ ส.ส.สมุทรปรากการ และ 21.นายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี
ไพบูลย์ปัดยื่นญัตติย้อนแย้ง
ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แถลงข่าวชี้แจงกรณีร่วมกันเสนอญัตติเพื่อให้รัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 3 ฉบับที่ให้มีการแก้ไขมาตรา 256 และตั้ง ส.ส.ร. เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยนายไพบูลย์กล่าวว่า การเสนอญัตติดังกล่าวมาจากการที่ถูกทักท้วงว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในฐานะที่ตนได้ร่วมลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ยืนยันว่าไม่ใช่การกระทำที่ย้อนแย้ง เพราะตอนร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่เห็นปัญหา แต่เมื่อตอนนี้มีปัญหาแล้วก็ควรทำให้เกิดความชัดเจนก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสิ้นสุดทั้งกระบวนการ เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดให้รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่ จึงเป็นปัญหาว่ากระทำได้หรือไม่
“ช่องทางการส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาตามมาตรา 210 (2) เป็นการเปิดให้รัฐสภามีส่วนร่วม โดยให้มีการพิจารณารับหลักการร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ไปก่อน แล้วค่อยให้รัฐสภาพิจารณาในญัตติเรื่องการส่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยเราอยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นโดยไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น หากเริ่มต้นด้วยความชัดเจนแล้วจะทำให้ทุกอย่างราบรื่น เราไม่ได้มีเจตนาจะถ่วงแต่อย่างใด หากถึงที่สุดแล้วรัฐสภามีมติเสียงข้างมากเห็นด้วยก็จะเป็นการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญต่อไป” นายไพบูลย์กล่าว
ยันไม่มีใบสั่งจากรัฐบาล
เมื่อถามว่า ในเมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (9) กำหนดไว้อยู่แล้วว่าสามารถเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ภายหลังรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นทั้ง 3 วาระ แต่กลับมาเสนอญัตติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนทั้งที่รัฐสภายังไม่ได้มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายไพบูลย์กล่าวว่า การส่งเรื่องไปยังศาลมีหลายช่องทาง และการใช้มาตรา 210 (2) เป็นเพียงช่องทางหนึ่งเท่านั้น เพราะไม่ว่าอย่างไรเรื่องนี้
จะต้องมีการส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการเสนอตั้งแต่ต้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนและทำให้ถูกต้องและช่วยให้การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้โดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม หากที่สุดแล้วรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นทั้ง 3 วาระ ส่วนตัวก็จะไม่ใช้สิทธิตามมาตรา 256 (9) เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีก
เมื่อถามว่าการกระทำรอบนี้สังคมตั้งคำถามว่ามีใบสั่งมาจากผู้ใหญ่ในรัฐบาล นายไพบูลย์กล่าวว่า ไม่เกี่ยว เพราะประเด็นดังกล่าว ส.ว. ทักท้วงว่ามีปัญหาข้อกฎหมาย ดังนั้น ควรทำให้ได้ข้อยุติเพื่อไม่ให้มีปัญหา
สมชายชี้ทำให้ถูกต้อง-รอบคอบ
ด้านนายสมชายกล่าวว่า ส.ว.มีหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย ร่างรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้มีการตั้ง ส.ส.ร.นั้น ไม่ค่อยสบายใจในข้อกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้เขียนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับใหม่ได้เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ยืนยันว่าไม่มีความมุ่งหมายในการยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเรื่องนี้ภายหลังได้ผ่านขั้นตอนการรับหลักการในวาระที่ 1 ไปก่อน เมื่อวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ รัฐสภารับหลักการแล้ว จึงมาพิจารณาว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ต่อไปตามขั้นตอน
เมื่อถามว่า การเสนอญัตติดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มความขัดแย้งอีกหรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า ไม่ได้เติมเชื้อไฟในความขัดแย้ง แต่เป็นการทำให้ถูกต้อง เพราะหากรัฐสภาทำไม่รอบคอบและศาลรัฐธรรมนูญวิ