ทำไมชาติตะวันตกเปลี่ยนใจ กดดันอิสราเอลให้ยุติสงครามในกาซา

สหราชอาณาจักรได้ระงับการเจรจาการค้าเสรีกับอิสราเอลแล้ว พร้อมเรียกตัวเอกอัครราชทูตของอิสราเอลเข้าพบ ถือเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่ออิสราเอล หลังหลายประเทศในยุโรปเริ่มเคลื่อนไหวกดดันอิสราเอล ให้ยุติการทำสงครามในฉนวนกาซา ซึ่งคร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ไปแล้วอย่างน้อย 53,000 ราย
ทำไมชาติยุโรปเริ่มเปลี่ยนใจแสดงท่าทีกดดัน และจะส่งผลอย่างไรต่ออิสราเอล ?
อังกฤษนำร่องกดดันอิสราเอลหนัก
เดวิด แลมมี รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ชี้แจงต่อรัฐสภาว่า สหราชอาณาจักรได้ระงับการเจรจาการค้าเสรีกับอิสราเอลแล้ว พร้อมเรียกตัวเอกอัครราชทูตของอิสราเอลเข้าพบ และประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อผู้ตั้งถิ่นฐานในเขตเวสต์แบงก์
แลมมี ยังกล่าวด้วยว่า สงครามได้เข้าสู่ “ช่วงใหม่ที่มืดมน”
ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ของอังกฤษ แถลงต่อรัฐสภา หลังออกแถลงการณ์ร่วมกับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสและนายกรัฐมนตรีมาร์ค คาร์นีย์ ของแคนาดา ว่า “วันนี้ เขาอยากจะบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่า เราตกตะลึงกับการยกระดับความรุนแรงของกองทัพอิสราเอล”
ด้านฮามาส แสดงความยินดีต่อแถลงการณ์ร่วมที่ระบุว่า จุดยืนดังกล่าวเป็น "ก้าวสำคัญ" ในทิศทางที่ถูกต้องในการฟื้นฟูหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ กองทัพอิสราเอลประกาศเริ่มปฏิบัติการทางทหารครั้งใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล กล่าวว่า อิสราเอลจะควบคุมพื้นที่ฉนวนกาซาทั้งหมด
อิสราเอลยังปิดกั้นการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรค, อาหารและเชื้อเพลิง ไม่ให้เข้าสู่กาซาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศเตือนแนวโน้มการเกิดภาวะความอดอยากในกาซา
แลมมี กล่าวว่า การโจมตีไม่ใช่วิธีการที่จะนำตัวประกันที่เหลือกลับบ้าน พร้อมเรียกร้องให้อิสราเอล หยุดปิดกั้นความช่วยเหลือและประณามสิ่งที่เรียกว่า “ความสุดโต่ง” ในบางส่วนของรัฐบาลอิสราเอล
ชาติยุโรปเปลี่ยนท่าที พร้อมยกระดับกดดันอิสราเอล
สำนักข่าวอัล จาซีรา รายงานว่า ท่าทีของสหราชอาณาจักรล่าสุดเกิดขึ้นหลังเนเธอร์แลนด์ เรียกร้องสหภาพยุโรปให้ทบทวนข้อตกลงทางการค้ากับอิสราเอล หลังรัฐบาลเนทันยาฮูยกระดับการโจมตีกาซา ในขณะที่ คาจา คาลลาส หัวหน้าเจ้าหน้าที่นโยบายด้านต่างประเทศของอียูกล่าวเมื่อวานนี้ว่า อิสราเอลมีสิทธิในการป้องกันตนเอง แต่การกระทำในปัจจุบันนี้ เกินเลยจากการปกป้องตนเองอย่างได้สัดส่วนไปแล้ว
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ บรรดาชาติตะวันตกเคยหนุนหลังอิสราเอลเพื่อตอบโต้การโจมตีก่อนของกลุ่มฮามาสในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 โดยให้เหตุผลว่า อิสราเอลมีสิทธิในการป้องกันตนเอง แต่ปฏิบัติการตอบโต้ของอิสราเอลตลอดช่วงเกือบสามปีที่ผ่านมา ทำให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วมากกว่า 53,000 คนและทำให้กาซาราบเป็นหน้ากลอง
ในเวลานี้ บรรดาชาติยุโรปยังให้ความสนใจมาที่เขตเวสต์แบงค์ โดยผู้นำของอังกฤษ ฝรั่งเศส และแคนาดา ระบุว่า พวกเขาคัดค้านทุกความพยายามใดๆของอิสราเอลที่ขยายการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมายและบั่นทอนการอยู่รอดของรัฐปาเลสไตน์ ตลอดจนความมั่นคงทั้งทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์เอง ผู้นำทั้งสามชาติระบุว่า พวกเขาจะไม่ลังเลที่จะดำเนินการเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรแบบพุ่งเป้าต่ออิสราเอล
นอกจากสามชาตินี้แล้ว เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มาเรีย มัลเมอร์ สเตเนอร์การ์ด รัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดน กล่าวว่า สวีเดนจะผลักดันให้อียูคว่ำบาตรบรรดารัฐมนตรีของอิสราเอล เพราะสวีเดนไม่เห็นการพัฒนาขึ้นอย่างชัดเจนในการปกป้องพลเรือนในกาซา
ขณะที่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา 24 ชาติยุโรป ได้ออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า การตัดสินใจของอิสราเอลที่กลับมาเปิดทางให้ความช่วยเหลือเข้าไปในกาซาได้อย่างจำกัด ต้องตามมาด้วยการกลับมาเปิดให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเข้าไปได้อย่างสมบูรณ์
ขณะเดียวกัน หัวหน้าเจ้าหน้าที่นโยบายต่างประเทศอียู ยืนยันว่า อียูได้ตัดสินใจที่จะทบทวนข้อตกลงสมาคมอียู-อิสราเอล (EU-Israel Association Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน หลังเนเธอร์แลนด์เรียกร้องมาเดือนที่แล้ว ให้ทบทวนตามมาตรา 2 ของข้อตกลง ที่ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายต้องเคารพสิทธิมนุษยชน
ท่าทีดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากเบลเยียม ฝรั่งเศส โปรตุเกส และสวีเดน
ทำไมชาติยุโรปเปลี่ยนใจหันมากดดันอิสราเอล?
โรเบิร์ต แพตแมน นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยโอทาโก ในนิวซีแลนด์ บอกกับอัล จาซีราว่า การที่ชาติตะวันตกวิจารณ์อิสราเอลมากขึ้นนั้นเป็นผลมาจากแรงกดดันของสาธารณะ เพราะชาติเหล่านี้เป็นสังคมเสรีประชาธิปไตย ทำให้ผู้นำไม่สามารถเมินเฉยความกังวลของประชาชนต่อสถานการณ์ดังกล่าวได้
นอกจากนี้ เขามองว่า อีกปัจจัยคือ หลายชาติเชื่อว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ เริ่มทนไม่ไหวกับรัฐบาลเนทันยาฮูแล้วเช่นกัน
อิสราเอลไม่แคร์ ชี้ชาติยุโรปเอนเอียงหนุนกลุ่มก่อการร้าย
อิสราเอลตอบโต้แรงกดดันของชาติยุโรปด้วยเช่นกัน โดยเนทันยาฮู โพสต์ข้อความใน X ว่า ผู้นำอังกฤษ แคนาดา และฝรั่งเศส กำลังให้รางวัลชิ้นใหญ่ต่อการโจมตีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อิสราเอลในวันที่ 7 ตุลาคม ขณะเดียวกันก็ชักชวนให้เกิดความโหดร้ายป่าเถื่อนนี้มากขึ้น จากการที่ขอให้อิสราเอลยุติสงครามปกป้องตนเอง
ด้าน เบซาเลล สโมทริค รัฐมนตรีกระทรวงการคลังจากฝ่ายขวาจัดของอิสราเอล ระบุว่า อิสราเอลจะไม่ก้มหัวให้พวกหน้าไหว้หลังหลอก ต่อต้านยิว มองอะไรข้างเดียว นอกจากนี้ เขายังกล่าวหาทั้งสามประเทศว่า กำลังเอนเอียงไปหาองค์กรก่อการร้าย และเลยเถิดไปถึงขั้นจะให้รางวัลผู้ก่อการร้ายด้วยการให้มีสถานะเป็น “รัฐ”
ท่าทีของชาติตะวันตก ส่งผลกระทบต่ออิสราเอลอย่างไร?
แอนเดรียส ครีก อาจารย์จาก School of Security Studies แห่ง King’s College London ระบุว่า คำขู่จากอังกฤษ ฝรั่งเศส และแคนาดาต่ออิสราเอล ถือเป็นการเริ่มต้นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ให้รัฐบาลชาติตะวันตกอื่น ๆ ได้ทำตาม
ครีกมองว่า แม้ท่าทีดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อปฏิบัติการของอิสราเอลภาคพื้นดินโดยตรง แต่ก็เป็นการทำให้ขอบเขตของการอภิปรายเรื่องนี้ขยายได้มากขึ้นในระดับสากล และทำให้ชาติตะวันตกอื่นๆ กล้าแสดงจุดยืนต่ออิสราเอลมากขึ้น แต่กุญแจหลักที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมอิสราเอลได้ ยังคงเป็นสหรัฐฯ เพราะที่ผ่านมา สหรัฐฯจัดหาอาวุธจำนวนมาก และช่วยปกป้องอิสราเอลในทางการทูตในเวทีสหประชาชาติ
ขณะเดียวกัน ครีกเชื่อว่า ความเสียหายต่อชื่อเสียงจะกระทบอิสราเอลไปมากกว่าสงครามปัจจุบันในกาซา และจะเป็นการยากที่อิสราเอลจะสร้างฉันทามติใดๆในอนาคตด้วยแนวคิดที่ว่าอิสราเอลนั้นเป็นพันธมิตร เพราะถือว่าเป็นชาติประชาธิปไตยชาติเดียวที่อยู่ในตะวันออกกลาง
ด้าน ฮูซัม ซอมล็อต ทูตปาเลสไตน์ประจำสหราชอาณาจักร มองว่า สิ่งหนึ่งที่อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา จะสามารถทำได้ คือการห้ามค้าอาวุธกับอิสราเอล ที่ผ่านมาอังกฤษได้ระงับการส่งออกอาวุธบางส่วนแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเป็นการห้ามแบบเต็มรูปแบบและครอบคลุม
ซอมล็อต กล่าวว่า ประเทศเหล่านี้ต้องทำให้แน่ใจว่า อาชญากรสงครามจะต้องถูกนำตัวมาลงโทษ และต้องสนับสนุนความพยายามของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ด้วย
ทั้งนี้ เนทันยาฮูและโยอาฟ กัลแลนท์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหม เผชิญหมายจับฐานก่ออาชญากรรมสงครามของ ICC แต่หลายชาติยุโรปเคยระบุว่าพวกเขาจะไม่จับกุมผู้นำอิสราเอล