รีเซต

มาตรการ “QE” ของธนาคารกลางยุโรป “เสี่ยงล่ม”

มาตรการ “QE” ของธนาคารกลางยุโรป  “เสี่ยงล่ม”
TNN ช่อง16
14 พฤษภาคม 2563 ( 09:49 )
550

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อเศรษฐกิจอียู โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของกลุ่มยูโรโซในปี 2563 จะหดตัวแรง 7.5%  โดยประเทศหลักๆ ที่หดตัวแรง  อาทิ เยอรมนี  -7%  ฝรั่งเศส -7.2%  อิตาลี -9.1%  และสเปน -8.0%

 

 

ขณะที่ “เปาโล เกนติโลนี” คณะกรรมาธิการยุโรปฝ่ายกิจการเศรษฐกิจและการเงิน แถลงเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 พ.ค.)ว่า  สหภาพยุโรป หรืออียู ประสบปัญหาเศรฐกิจอย่างหนัก “ถลำ” เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะการระบาดของโควิด-19  และภาวะเงินเฟ้อเกือบเหลือเป็นศูนย์  ขณะที่หนี้สาธารณะและการขาดดุลงบประมาณ จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก 

 

 

ความพยายามที่จะ “พลิกฟื้น” เศรษฐกิจ จะส่งผลให้ขาดดุลงบประมาณมหาศาลในอียู สูงถึง 8.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ในปีนี้ จากเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 0.6% ก่อนที่ช่องว่างจะหดแคบลงมาอยู่ที่ 3.5%ในปี 2564

 

อย่างไรก็ตาม หนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้นจะอยู่อีกนาน โดยคาดว่า หนี้สาธารณะของอียู จะกระโดดขึ้นเป็น 102.7%ของจีดีพีในปีนี้ จากเดิม 86% เมื่อปีที่แล้ว และค่อย ๆ ลดลงมาเหลือ 98.8%ในปี 2564

 

คณะกรรมาธิการยุโรปฯ บอกด้วยว่า ทั้ง 19 ประเทศในอียู จะต้องขาดดุลงบประมาณ “สูงกว่า” เกณฑ์ที่จำกัดไว้ไม่เกิน 3 % ของจีดีพีแน่นอนในปีนี้  โดยอิตาลี, กรีซ, สเปน และโปรตุเกส จะอยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของไวรัส ขณะที่ลักเซมเบิร์ก, มอลตาและออสเตรีย จะอยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่า

 

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรป ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB และรัฐบาลของประเทศสมาชิกอียู  ได้ร่วมมือกันออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งในช่วงก่อนหน้าและหลังการเกิดโรคระบาดโควิด-19 หนึ่งในมาตรการสำคัญที่ธนาคารกลางยุโรปได้นำมาใช้คือการเข้าซื้อสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน หรือมาตรการ QE (Quantitative Easing)  เรียกอีกอย่างว่า มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ 
 
 
มาตรการ QE คือนโยบายทางการเงินแบบพิเศษที่มีเป้าหมายไม่ต่างกับนโยบายการเงินแบบปกติ คือ เพื่อรักษาเสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจ ทั้งในแง่เสถียรภาพด้านการเงินและการกระตุ้นด้านอุปสงค์เพื่อให้เกิดการจ้างงานและให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้
 
 
การทำมาตรการQE ของ ECB กำลังเป็น “ประเด็นร้อน” เนื่องจากเมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา “ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนี” มีคำสั่งให้ธนาคารกลางเยอรมัน (Bundesbank) ยุติการซื้อพันธบัตรรัฐบาล ภายใต้โครงการ Public Sector Purchase Program หรือ พีเอสพีพี (PSPP) ภายในระยะเวลา 3 เดือนข้างหน้า หาก ECB “ไม่” สามารถพิสูจน์ได้ว่า โครงการดังกล่าวมีความจำเป็นและสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจอียูได้จริง
 
 
คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันครั้งนี้ มีขึ้นหลังจาก กลุ่มนักวิชาการในเยอรมนีออกมาโต้แย้งว่า โครงการซื้อพันธบัตรเหล่านี้เป็นโครงการที่จะช่วยระดมเงินทุนให้กับรัฐบาลบางประเทศโดยตรง และเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับหนี้ของธนาคารกลาง ภายใต้สนธิสัญญายุโรป โดยอิตาลี ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุด เนื่องจาก อิตาลีมีหนี้สินมหาศาลก่อนเกิดวิกฤตการระบาด
 
 
ด้าน โอลาฟ โชลท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมนี ออกมายืนยันว่า ธนาคารกลางเยอรมนียังสามารถซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือ เข้าร่วมโครงการ PSPP ได้อยู่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูยจะมีคำสั่งตัดสินอีกที 
 
 
  
 
 
ทั้งนี้ PSPP เป็นโครงการของ ECB ซึ่งเปิดตัวในเดือนมีนาคม 2558 ในการซื้อสินทรัพย์ เช่น พันธบัตรรัฐบาล และหลักทรัพย์ที่รัฐบาลเป็นผู้ออกและมีการซื้อขายในตลาด เพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบ และส่งเสริมการบริโภค และการลงทุน รวมทั้งกระตุ้นเงินเฟ้อในอียู 
 
 
PSPP เทียบเท่ากับโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE  ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักลงทุนมากกว่า
 
 
 
 
 ตั้งแต่ ECB ได้ริเริ่มโครงการซื้อพันธบัตรจำนวนมหาศาลในเดือนมีนาคม 2558 และจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2562  ECB ได้ซื้อพันธบัตรไปแล้วคิดเป็นมูลค่า 2.1 ล้านล้านยูโร 
 
 
ครั้นในวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา อีซีบีได้มีมาตรการเรื่องการเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมอีก รวมมูลค่า 120,000 ล้านยูโร  โดยแบ่งการเข้าซื้อออกเป็นแต่ละเดือนและสิ้นสุดมูลค่าเพิ่มเติมนี้ภายในสิ้นปี 2563 เพื่อช่วยให้ภาวะการเงินในภาคเศรษฐกิจจริงผ่อนคลายมากขึ้น มาตรการนี้เป็นการซื้อเพิ่มจากเดิมที่เข้าซื้ออยู่แล้วเดือนละ 20,000 ล้านยูโรโดยไม่มีกำหนดสิ้นสุด
 
 
ต่อมาในวันที่ 18 มีนาคม อีซีบีได้จัดประชุมเป็นกรณีฉุกเฉินและมีมติให้ออกมาตรการ Pandemic Emergency Purchase Programme หรือ พีอีพีพี (PEPP) เพื่อเพิ่มการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและเอกชนเป็นการชั่วคราว เป็นมูลค่าสุทธิที่ 750,000 ล้านยูโร ไปจนกว่าสภาวะวิกฤติจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะสิ้นสุดลง และจะไม่ยุติก่อนสิ้นปี 2563  
 
 
ทั้งนี้ ภายใต้มาตรการ PEPP  มีการเรียกมาตรการนี้ว่า “Coronavirus Package” โดยมีการยกเลิกข้อจำกัดบางประการของมาตรการ QE ปี 2558  โดยอนุญาตการเข้าซื้อพันธบัตรระดับ Non-Investment Grade ซึ่งทำให้ ECB สามารถเข้าซื้อพันธบัตรของรัฐบาลกรีซและสเปนได้
 
 
อย่างไรก็ตาม ศาลฯบอกด้วยว่า “คำตัดสินในครั้งนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของ ECB ที่ดำเนินการในช่วงวิกฤติโควิด-19”  ดังนั้นมาตรการภายใต้โครงการ PEPP ที่ประกาศเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา วงเงินรวม 750,000 ล้านยูโร (หรือ 819,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเริ่มซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่ออกในปีนี้โดยรัฐบาลในเครือสหภาพยุโรปไปแล้ว สามารถดำเนินการได้
 
 
แต่ นักวิเคราะห์ กังวลว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบต่อโครงการ PEPP ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับมาตรการQE  และในอนาคตศาลฯจะเข้ามาพิจารณาโครงการ PEEP ด้วย
 
 
คาร์สเทน เบรอเซสกี (Carsten Brzeski) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารไอเอ็นจีในเยอรมนีกล่าวว่า “คงต้องใช้เวลาสักหน่อยในการทำความเข้าใจความหมายของคำตัดสินของศาลในครั้งนี้ แต่เชื่อว่านี่จะเป็นปัญหาจริง ๆ ของ ECB ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19”
 
 
เพราะฉะนั้นมาตรการ QE ของธนาคารกลางยุโรป จะ "ล่ม" หรือไม่ ต้องติดตามเรื่องนี้กันอย่างใกล้ชิดว่า ECB จะสามารถชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีถึงความจำเป็นที่ Bundesbank  ต้องทำ QE  ได้หรือไม่ 
 
 
ถ้าธนาคารกลางเยอรมนี ไม่สามารถทำ QE ได้  ย่อมส่งผลกระทบต่อการทำมาตรการ QE ของ ECB  และอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอียู  เนื่องจากธนาคารกลางเยอรมนีถือเป็นหุ้นส่วนรายใหญ่ที่สุดของธนาคารกลางยุโรป และประเทศเยอรมนีก็ถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอียูด้วย  
 
 
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand
 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง