รีเซต

อ่างทองเดือด ท่วมจนอยู่ไม่ได้ ชาวบ้านบุกดึงกระสอบทราย ให้อีกฝั่งรับน้ำไปบ้าง

อ่างทองเดือด ท่วมจนอยู่ไม่ได้ ชาวบ้านบุกดึงกระสอบทราย ให้อีกฝั่งรับน้ำไปบ้าง
มติชน
5 ตุลาคม 2565 ( 18:00 )
223
อ่างทองเดือด ท่วมจนอยู่ไม่ได้ ชาวบ้านบุกดึงกระสอบทราย ให้อีกฝั่งรับน้ำไปบ้าง

อ่างทองเดือด ท่วมจนอยู่ไม่ได้ ดึงกระสอบทราย ให้อีกฝั่งรับน้ำไปบ้าง ฝ่ายปกครองเข้าพูดคุยแนะวิธีแก้ปัญหา ขณะที่หลายพื้นที่เร่งเฝ้าระวังจุดเสี่ยง

วันที่ 5 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานที่บริเวณริมถนน 309 อ่างทอง-อยุธยา ตำบลบางปลากด อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ได้มีชาวบ้านในชุมชนบริเวณที่หน้าว่าการอำเภอหลังเก่าที่ถูกน้ำท่วมขังได้รับความเดือดร้อนจนอยู่อาศัยในบ้านได้อย่างยากลำบากได้ออกมาดึงกระสอบทรายที่กั้นน้ำบริเวณริมถนนออกเพื่อให้น้ำไหลระบายไปยังฝั่งพื้นที่ตำบลโรงช้าง ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และตำรวจที่เข้าพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้าน

ด้าน ป้าไก่ หญิงวัย 65 ปี ที่ระบายความรู้สึกอัดอั้น ที่ตนเองต้องทนทุกข์ลำบากน้ำท่วมบ้านได้ทำการดึงกระสอบทรายออก โดยมีชาวบ้านที่มาด้วยกันช่วยห้ามปราม ให้ตั้งสติใจเย็น ทำตามข้อตกลงที่ตัวแทนไปพูดคุย นายประทีป หมอนสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลโรงช้าง ตัวแทนชาวบ้าน ที่น้ำข้ามถนนกำลังไหลเข้าท่วมหมู่บ้าน โดยมีนายพลภัทร จันทร์ลุน ปลัดอำเภอป่าโมก เป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยความทุกข์ของชาวบ้านทั้ง 2 ฝั่ง เบื้องต้นตกลงกันได้ โดยมีการวางกระสอบทรายแค่ชั้นเดียวเพื่อให้น้ำไหลข้ามถนนไปยังตำบลโรงช้าง เป็นการเฉลี่ยความทุกข์ของกันและกัน จนชาวบ้านฝั่งตำบลบางปลากดพอใจ จึงได้แยกย้ายกันกลับเข้าบ้านที่น้ำท่วมขัง และฝากบอกว่า หากมีการวางกระสอบทรายปิดน้ำไม่ให้ระบายข้ามถนนอีก เป็นการผิดสัญญาจะรวมตัวกันออกมามากกว่าเดิม เพื่อทำการเปิดทางน้ำให้ไหลได้อย่างเต็มที่จะได้ลดความเดือดร้อนของพวกตนเองได้บ้าง

ซึ่งบริเวณถนนเส้น 309 บริเวณจุดดังกล่าว ที่มีน้ำไหลข้ามถนนนั้น พบว่ามีรอยร้าวแตกแยกผ่ากลางถนนสองจุด ซึ่งการสัญจรใช้เส้นทางผ่านได้ตามปกติ แต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการผ่านทางเนื่องจากมีน้ำไหลผ่านข้ามถนนเป็นบางช่วง.

ขณะเดียวกันผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ได้ลงพื้นที่ติดตามและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ เขตพื้นที่อำเภอเมืองอ่างทอง นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ลงพื้นที่ติดตามและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่จุดเสี่ยงของอำเภอเมืองอ่างทอง

จุดที่ 1 การติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเพิ่มการระบายน้ำจากคลองมหาราช (คลองชัยนาท – อยุธยา) ระบายลงสู่คลองบางแก้ว ม.4 ต.บ้านรี
จุดที่ 2 การเสริมแนวคันดินกั้นน้ำ ถนนเลียบคลองมหาราช (คลองชัยนาท – อยุธยา) บริเวณ ม.4 ต.ตลาดกรวด
จุดที่ 3 การเสริมแนวกระสอบทรายป้องกันน้ำท่วม บริเวณหลังวัดจำปาหล่อ ม.5 ต.จำปาหล่อ

โดยมีผู้แทนนายอำเภอเมืองอ่างทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจำปาหล่อ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านอิฐ กำนัน และผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบ

ด้าน อำเภอไชโย รายงานสถานการณ์อุทกภัยพร้อมเร่งป้องกันและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยง จากเหตุการณ์คันกั้นน้ำบริเวณวัดตราชู ม.8 ต.บ้านหม้อ อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ได้พังและปัจจุบันได้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนถึงวัดพระงาม ต.บ้านหม้อ จ.สิงห์บุรี ซึ่งมีระยะห่างจาก ม.1 ต.ไชยภูมิ อ.ไชโย จ.อ่างทอง ประมาณ 2 กิโลเมตร และการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ส่งผลให้หลายพื้นที่เร่งป้องกันและให้การช่วยเหลือประชาชน บริเวณ จุดเสี่ยงรอยต่อ อำเภอไชโย หมู่ 1 ตำบลไชยภูมิ กับ อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ขณะนี้ระดับน้ำเข้าบ้านเรือนสูงประมาณ 1 เมตร ซึ่งห่างจากคันที่ทางเทศบาลตำบลไชโยได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 1 เมตร คาดว่าน้ำจะค่อยๆ ไหลมาเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ฉะนั้น คันดินที่ทางเทศบาลตำบลไชโยดำเนินการไว้แล้วยังสามารถรองรับน้ำได้อีกประมาณ 1 เมตร โดนยังคงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ขณะที่อีกจุดหนึ่งบริเวณ จุดน้ำล้นฝั่งตะวันออกคลองมหาราช (ชัยนาท-อยุธยา) โรงน้ำแข็งไชโยพื้นที่หมู่ 5 ตำบลจรเข้ร้อง เทศบาลตำบลไชโยได้นำรถแบคโฮมาทำแนวคันดินบริเวณดังกล่าว ซึ่งสามารถกั้นน้ำไม่ให้ไหลลงทุ่งนาฝั่งถนนสายเอเชียได้ ขณะที่อึกจุดที่ต้องเฝ้าระวังคือ บริเวณ ริมคลองชลประทาน ในพื้นที่ ตำบลชะไว ชาวบ้านได้นำกระสอบทรายมาวางเป็นแนวกั้นน้ำ และในพื้นที่บริเวณ หมู่ 4 ตำบลชัยฤทธิ์ องค์การบริหารส่วนตำบลชัยฤทธิ์ ได้นำรถแบคโฮมาทำแนวคันดินฝั่งตะวันออกของคลองมหาราช (ชัยนาท-อยุธยา) โดยชาวบ้านต่างช่วยกันดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

จากรายงานศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดอ่างทอง มีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ จำนวน 4 อำเภอ 24 ตำบล 86 หมู่บ้าน 2,685 ครัวเรือน ประกอบด้วย 1. อำเภอวิเศษชัยชาญ (ต.บางจัก ต.สี่ร้อย ต.ม่วงเตี้ย ต.ศาลเจ้าโรงทอง ต.ไผ่จำศีล ต.ท่าช้าง และต.ไผ่วง ) จำนวน 895 ครัวเรือน ,2. อำเภอป่าโมก (ต.โผงเผง ต.บางเสด็จ ต.ป่าโมก ต.บางปลากด และต.โรงช้าง) จำนวน 1,155 ครัวเรือน, 3. อำเภอไชโย (ต.หลักฟ้า, ต.ชัยฤทธิ์, ต.ราชสถิตย์, ต.เทวราช, ต.ไชยภูมิ ต.จรเข้ร้อง และต.ไชโย) จำนวน 413 ครัวเรือน และ 4. อำเภอเมืองอ่างทอง (ต.จำปาหล่อ, ต.บ้านแห ต.ย่านซื่อ ต.โพสะ และต.ตลาดกรวด) จำนวน 222 ครัวเรือน

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง