รีเซต

เตือนภัย "โจรออนไลน์" เปิด 5 คดีประชาชนถูกหลอก สูญเงินกว่า 1 ล้าน

เตือนภัย "โจรออนไลน์" เปิด 5 คดีประชาชนถูกหลอก สูญเงินกว่า 1 ล้าน
TNN ช่อง16
22 ตุลาคม 2567 ( 10:58 )
16
เตือนภัย "โจรออนไลน์" เปิด 5 คดีประชาชนถูกหลอก สูญเงินกว่า 1 ล้าน

นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 14-20 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย

 

คดีที่ 1 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 161,037 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารสำนักงานใหญ่ แจ้งว่ามีบุคคลอื่นนำชื่อและข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียหายไปทำสิ่งผิดกฎหมาย จากนั้นเจ้าหน้าที่ธนาคารได้มีการโอนสายไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดระยอง แจ้งว่าผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชีม้า ให้ผู้เสียหายโอนเงินเพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน ผู้เสียหายรู้สึกกลัวจึงโอนเงินไป หลังจากทำรายการโอนเงินสำเร็จ เจ้าหน้าที่ตำรวจตัดสายไปและไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 473,523 บาท ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางข้อความช่องทาง Facebook แล้วเพิ่มเพื่อนทาง Line ชักชวนให้ลงทุนเปิดร้านค้าบนช่องทางออนไลน์ อ้างว่าได้รับค่าตอบแทนสูง ผู้เสียหายเชื่อใจจึงโอนเงินไปลงทุนลงเปิดร้านค้า หลังจากลงทุนครั้งแรกได้กำไร และสามารถถอนเงินออกมาได้ ผู้เสียหายจึงลงทุนเพิ่มมากขึ้นจนยอดลงทุนเป็นหลักแสน โดยผู้เสียหายต้องการถอนเงินแต่ไม่สามารถถอนได้จึงทักไปสอบถาม แต่กลับไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 195,862 บาท ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางข้อความช่องทาง Facebook จึงพูดคุยชักชวนเทรดหุ้นทองคำ และให้ข้อเสนอที่ดีจนผู้เสียหายรู้สึกสนใจ มิจฉาชีพให้เพิ่มเพื่อนทาง Line และส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลแล้วทำการโอนเงินลงทุนเทรดทอง ในช่วงแรกได้ค่าตอบแทนและ ถอนเงินออกมาได้ ผู้เสียหายจึงลงทุนเพิ่มมากขึ้น ต่อมาทางระบบแจ้งว่าผู้เสียหายทำรายการผิดต้องโอนเงินไปเพิ่ม เพื่อให้ทางระบบแก้ไขข้อมูล ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 4 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบโทรศัพท์เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 410,655 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายได้รับการติดต่อกับมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แจ้งว่าจะคืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าให้ และได้เพิ่มเพื่อนทาง Line มิจฉาชีพส่งลิงก์ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันพร้อมทั้งให้ตนสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตน ต่อมาภายหลัง ผู้เสียหายได้เช็คยอดเงินในบัญชีของตนพบว่า ได้ถูกโอนออกไป

 

คดีที่ 5 : คดีหลอกลวงเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน มูลค่าความเสียหาย 113,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์อ้างว่าเป็นเพื่อนได้เปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์มือถือใหม่ ติดต่อเข้ามาเพื่อขอยืมเงินผู้เสียหายไปชำระค่ารถงวดสุดท้าย แล้วอ้างว่าแอปพลิเคชันธนาคารใช้งานไม่ได้ ขอยืมเงินเพียง 2 ชั่วโมง แล้วจะโอนเงินคืนให้ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ผ่านไป 1 วัน ผู้เสียหายพบว่ายังไม่มีการโอนเงินคืน ผู้เสียหายรู้สึกแปลกใจจึงเดินทางไปที่บ้านเพื่อน จึงทราบว่าเพื่อนไม่ได้ซื้อรถ และไม่ได้เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ด้วย ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก

 

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 1,354,077 บาท

 

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 18 ตุลาคม 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้

 

1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,138,463 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,225 สาย

 

2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 348,006 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,119 บัญชี

 

3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ 


(1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 103,020 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 29.60 

(2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 85,550 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 24.58 

(3) หลอกลวงลงทุน 54,060 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 15.53 

(4) หลอกลวงให้กู้เงิน 28,304 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 8.13 

(5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 27,269 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.85 (และคดีอื่นๆ 49,803 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.31)

 

“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย ด้วยการอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ  เครือญาติใกล้ชิด เพื่อน รวมทั้งการหลอกลวงให้ลงทุน ด้วยวิธีการติดต่อผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย คือ Line  และ Facebook  ทั้งนี้ขอย้ำว่า กรณีการหลอกลวงเพื่อลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง 


ขณะเดียวกันกรณีที่อ้างเป็นเพื่อน ควรสอบถามรายละเอียดหรือประวัติให้ชัดเจน รวมทั้งการโอนเงินบำนาญ หรือการทำธุรกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ควรตรวจสอบจากหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง ควรตระหนักเป็นอันดับแรกว่าการติดต่อโดยตรงจากเจ้าหน้าที่รัฐถึงประชาชน เป็นการติดต่อที่น่าสงสัย ดังนั้นขอให้สอบถามรายละเอียดให้แน่ชัดก่อนให้ข้อมูลส่วนบุคคล และการสแกนใบหน้า นอกจากนี้ควรตรวจสอบการลงทุนในธุรกิจต่างๆ อย่างรอบคอบ และติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดย กระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง